- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 05 November 2021 21:44
- Hits: 11882
สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จี้รัฐทบทวนนโยบายวัตถุดิบอาหารสัตว์ด่วน
หลังขาดทุนหนักจากราคาวัตถุดิบพุ่งสูงกว่า 20-30%
สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผนึกกำลังเรียกร้องรัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือที่เป็นธรรมต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมอาหารจากภาระขาดทุน เดือดร้อนหนักหลังราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 20-30% หวังรัฐบาลปลดล็อกอุปสรรคส่งเสริมการผลิตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สมาพันธ์ฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนผ่อนปรนมาตรการที่มีผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่ายในห่วงโซ่การผลิต ประกอบด้วย การยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% และ ภาษีนำเข้า DDGS 9% (Dry distillers Grains with Solubles) ผลผลิตที่เหลือจากการผลิตเอทานอลด้วยข้าวโพดเพื่อนำไปผลิตอาหารสัตว์ ปรับลดสัดส่วนการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศต่อการนำเข้าข้าวสาลี จากปัจจุบัน 3:1 เหลือ 1.5 : 1 และนำกลไกตลาดเสรีมาบริหารจัดการอุปสงค์-อุปทานวัตถุดิบอาหารสัตว์ ให้สอดคล้องกับปัจจัยและต้นทุนการผลิตในปัจจุบัน เพื่อลดภาระการขาดทุนสะสมของเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของไทย ส่งเสริมห่วงโซ่การผลิตอาหารอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน ไทยต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละ 8 ล้านตัน แต่ผลิตได้เพียง 5 ล้านตัน และนำเข้าส่วนต่าง 3 ล้านตันภายใต้มาตรการของรัฐ คือ กำหนดสัดส่วนนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ : ข้าวสาลี (วัตถุดิบทดแทนข้าวโพด) ในอัตรา 3:1 ขณะที่ผลผลิตข้าวโพดในประเทศมีเพียง 60% ของความต้องการต่อปี สัดส่วน 1.5 : 1 จึงเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมให้ภาคปศุสัตว์บริหารต้นทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดส่งออกได้ทั้งไก่สดแช่แข็งและอาหารสัตว์ นอกจากนี้ สัดส่วนดังกล่าวจะช่วยป้องกันการทุจริตจากการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์
ทั้งนี้ รัฐบาลมีโครงการประกันรายได้เกษตรกรที่ราคา 8.50 บาท/กิโลกรัม ความชื้น 14.5% ขณะที่ภาคเอกชนรับซื้อในราคาให้ความร่วมมือกับภาครัฐที่ 8 บาท/กิโลกรัม (เกษตรกรได้รับการชดเชยส่วนต่างราคาจากรัฐบาล) และยังต้องซื้อข้าวโพดตามราคาตลาดที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรัฐบาลไม่มีเพดานราคากำหนด ขณะที่กากถั่วเหลืองมีการนำเข้าปีละ 2.5 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตในประเทศมีเพียง 50,000 ตัน ขณะที่ความต้องการใช้ทั้งเมล็ดและกากถั่วเหลืองอยู่ที่ 5 ล้านตัน ต่อปี
เปรียบเทียบกับพืชเศรษฐกิจอื่นภายใต้โครงการประกันรายได้ของรัฐ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน มีมาตรการโปรงใสไม่ซับซ้อนเหมือนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเมื่อราคาปรับสูงจนเกษตรกรมีรายได้เพียงพอ กลไกการตลาดจะทำงานโดยอัตโนมัติ การนำเข้าเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนสามารถทำได้โดยเสรี นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการและเครื่องมือทางการตลาดในการปกป้องผู้บริโภคจากการปรับราคาสินค้าตามต้นทุนการผลิตได้ เช่น โครงการธงฟ้า ที่สามารถตรึงราคาสินค้าเพื่อบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนได้
สมาชิกสมาพันธ์ฯ ใช้อาหารสัตว์รวมกันประมาณ 90% ของการผลิตของประเทศ ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากภาระต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 20-30% ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 จนถึงปัจจุบันราคาวัตถุดิบสูงสุดในรอบ 13 ปี ราคากากถั่วเหลืองปรับขึ้นจากกิโลกรัมละ 13 บาท เป็นกิโลกรัมละ 18-19 บาท ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขยับสูงสุดในเดือนกันยายน 2564 ที่ 11.50 บาท/กก. จากราคาเฉลี่ย 8-9.50 บาท/กก. รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน เกลือแร่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีการปรับตัวสูงขึ้นกว่า 20-30% กระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ปรับตัวขึ้นในระดับเดียวกัน
นอกจากนี้ อาหารสัตว์เป็นต้นทุนการผลิต 60-70% ของการเลี้ยงสัตว์ และเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร โดยเฉพาะกากถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นวัตถุดิบหลักในสูตรอาหารสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นดังกล่าวทั้งหมด รวมถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการฟาร์มเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคระบาดสัตว์ ขณะที่สถานการณ์วิกฤตโควิด 19 ทำให้ผู้เลี้ยงสัตว์ไม่สามารถขายและส่งออกผลผลิตได้ตามปกติ
การรักษาสถานะของไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก รัฐบาลจำเป็นต้องดูแลตลอดห่วงโซ่การผลิตให้เกิดความเป็นธรรมโดยใช้กลไกการตลาดเสรีเป็นเครื่องในการสร้างสมดุลการค้าและการผลิต และนำมาตรการปกป้องผลประโยชน์ประเทศมาใช้อย่างสมเหตุสมผลโดยพิจารณาปัจจัยแวดล้อมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้านทุกมิติ เพื่อการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นการรวมตัวกันของ 13 สมาคม ประกอบด้วย สมาคมปศุสัตว์ไทย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก สมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก สมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เพื่อร่วมมือกันส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และแก้ปัญหาและอุปสรรคของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ไทยและอุตสาหกรรมสัตว์น้ำไทย
A11182
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ