- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 19 August 2021 22:54
- Hits: 16513
รัฐมนตรีเกษตรฯ แสดงเจตนารมณ์ทำงานร่วมกับสมาชิกเอเปค กำหนดให้การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและนวัตกรรมเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในการดำเนินการเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและระบบอาหารที่มีภูมิคุ้มกัน
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 6 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ว่า การประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปคเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของสมาชิกเอเปคในการทำงานร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงอาหาร การเติบโตที่ครอบคลุม ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในภูมิภาค โดยแผนงานความมั่นคงด้านอาหารมุ่งสู่ปี 2030 กำหนดให้การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและนวัตกรรมเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในการดำเนินการเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและระบบอาหารที่มีภูมิคุ้มกัน ดิจิทัลและนวัตกรรมมีอิทธิพลและมีความสำคัญมากขึ้น
สำหรับ การผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร การพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ได้ให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนการผลิตแบบดั้งเดิม มาเป็นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น โดยมีการดำเนินงาน 3 แนวทาง ได้แก่ 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม 2) การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกษตรเชิงพาณิชย์ และ 3) การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ยกตัวอย่างเช่น การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ ในปี 2563 เพื่อเป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการและบูรณาการฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรของไทย ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center: AIC) ร่วมกับสถาบันการศึกษาในทุกจังหวัดของไทย เพื่ออบรมบ่มเพาะเกษตรกร Smart Farmer และ Young Smart Farmer ในการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตร เช่น เกษตรอัจฉริยะ เกษตรแม่นยำ และการค้าออนไลน์
“ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขนส่งสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าที่เน่าเสียง่าย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นช่องทาง จัดจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ตลาดเกษตรกร แพลตฟอร์มการขายสินค้าออนไลน์ขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ และช่องทาง Social Media เป็นต้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยินดีทำงานร่วมกับสมาชิกเอเปคในประเด็นการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล และนวัตกรรมในภาคเกษตร เพื่อสนับสนุนเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคในภาพรวม ในฐานะเขตเศรษฐกิจผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงอาหารในภูมิภาคเอเปค”ดร.เฉลิมชัย กล่าว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ