WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

โครงการ 'สามพรานโมเดล' สุขที่สร้างได้ 'ฉวี สวนแก้ว' จากเกษตรกรเคมีสู่วิถีอินทรีย์ยั่งยืน

    บ้านเมือง : จากกระแสความตื่นตัวเรื่องสุขภาพที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเห็นพิษภัยของเกษตรเคมี ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นผลดีกับผู้บริโภคแล้ว ตัวเกษตรกรเองก็ได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้หลายรายต้องมาเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยเหตุนี้ทำให้สินค้าที่ผ่านการผลิตด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ ได้รับความนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกันเกษตรกรเคมีหลายรายเปลี่ยนใจหันมาทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น

     นางฉวี สวนแก้ว หรือป้าฉวี หญิงชราในวัย 70 ปี ชาว ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม หนึ่งในเกษตรกรเคมีที่ผันตัวมาเลือกทำเกษตรไร้สารพิษ ปัจจุบันบนพื้นที่ 5 ไร่ เต็มไปด้วย ถั่วพู กระชาย ผักชี คะน้า กวางตุ้ง ฟัก และกล้วยน้ำว้า ซึ่งพืชผักผลไม้เหล่านี้ ล้วนผ่านกรรมวิธีการปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ทั้งสิ้น

    ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ป้าฉวีเหตุผลที่ต้องทำเกษตรแบบเคมีเพราะ อยากได้ผลผลิตดี รูปร่างสวยงาม ทำให้ขายง่าย ราคาดี ทั้งสะดวกในการดูแลรักษา แต่เมื่อสัมผัสกับสารเคมีนานวันเข้าร่างกายเริ่มอ่อนแอ โรคภัยไข้เจ็บรุมเร้า เงินที่ได้จากการค้าขายผลผลิตต้องเอามารักษาสุภาพ ปุ๋ยเคมีก็มีราคาสูงขึ้น หักกลบลบหนี้แล้วไม่มีเงินเหลือ คิดแล้วการทำเกษตรแบบเคมีไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้นเลย เสียสุขภาพ เสียเวลา ที่สำคัญเสียใจที่มีส่วนทำให้ผู้บริโภคต้องมารับสารพิษเหล่านี้เข้าไปด้วย นี่คือความตระหนักที่ก่อให้เกิดจุดพลิกผันให้ป้าฉวีผันตัวเองเลือกทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังเมื่อปี 2553 โดยมี สมศรี สวนแก้ว ลูกสาว ซึ่งทำงานโรงงาน เป็นกำลังหลัก และมีเครือข่ายเพื่อนเกษตรกรพี่น้องสองตำบล และมูลนิธิสังคมสุขใจ คอยเป็นพี่เลี้ยง

   "การที่ร่างกายสัมผัสกับสารเคมีต่อเนื่องเป็นเวลานาน มันไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพเลย เดี๋ยวปวดตรงนั้น เดี๋ยวเจ็บตรงนี้ ไม่มีเรี่ยวแรง เหนื่อยง่าย คิดว่าหากเรายังทำแบบนี้ต่อไปชีวิตจะสั้นลงแน่นอน เลยตัดใจเลิกใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด หลายคนหัวเราะป้า เขาว่าทำแบบอินทรีย์ ไม่พอกิน แต่ก็ไม่ได้สนใจ คิดเพียงว่าทำกินเองในครอบครัว อยากให้คนที่เรารักสุขภาพแข็งแรง แต่พอลงมือทำอย่างจริงจัง นานวันเข้าผลตอบแทนที่ได้มันมากกว่าที่คิด ผลผลิตเป็นที่ยอมรับ มีรายได้แน่นอน ชีวิตความเป็นอยู่ให้สุขสบายขึ้น" ป้าฉวี กล่าว

     เมื่อสินค้าประเภทเกษตรอินทรีย์ได้รับความนิยมเป็นที่ต้องการของตลาด นั่นหมายถึงโอกาสของพ่อค้าคนกลางที่เข้ามาฉกฉวย กดราคา เพื่อนำสินค้าเหล่านี้ไปทำกำไรเอาเงินเข้ากระเป๋า แต่สำหรับป้าฉวี กลับไม่กังวลกับเรื่องเหล่านี้เลย เพราะมีตลาดรองรับที่แน่นอน และขายได้ราคาดีด้วย

      ป้าฉวี บอกว่า ช่วงแรกๆ อาจจะมีปัญหาด้านการตลาด เพราะผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญเรื่องสารเคมียังมีน้อย เห็นผักมีตำหนิ รูปร่างไม่สวย ก็ไม่อยากซื้อ แต่เมื่อหลายปีมานี้คนตื่นตัวมากขึ้น ความต้องเพิ่มมากขึ้นทำให้ผลผลิตเราขายดีไปด้วย ซึ่งทุกวันนี้มีตลาดรองรับที่แน่นอนโดยทุกวันอังคาร กับวันเสาร์ ส่งให้กับโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ ซึ่งจะรับซื้อและประกันราคาให้ ส่วนวันศุกร์กับวันเสาร์ ส่งไปขายที่ตลาดสุขใจ (ตลาดขายสินค้าอินทรีย์) และมีแม่ค้ามารับซื้อไปขายต่อบ้างบางส่วน แต่ละวันจะมีรายได้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 300-400 บาท ถือว่าอยู่ได้ หักค่าใช้จ่ายแล้วทำให้มีเงินเก็บประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน

    นอกจากรับซื้อผลผลิตแล้วทุกสัปดาห์ ทีมเจ้าหน้าที่เกษตร ของสวนสามพรานฯ จะลงพื้นที่ไปให้คำปรึกษา และแนะนำ ติดตามความก้าวหน้าในการดูแลแปลงผัก ขณะที่ป้าฉวี และลูกสาว มักจะไปเข้าประชุมกลุ่มทุกเดือน เพื่อเรียนรู้เทคนิคและวิธีการพัฒนาแปลงปลูก รวมถึงวิธีแก้ปัญหา

   น.ส.อรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ สามพรานริเวอร์ไซด์ และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ กล่าวว่า ภายใต้โครงการ "สามพรานโมเดล" เพื่อพัฒนาห่วงโซ่เกษตรอินทรีย์ ป้าฉวี คือหนึ่งในเกษตรกรอินทรีย์ของอำเภอสามพราน ที่มีความอดทน มุ่งมั่นตั้งใจสูงในการยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลผลิต โดยในปีนี้คาดว่า สวนของป้าฉวี จะได้รับใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นโดย สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movement) จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.)

   หากมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง กรรมวิธีการทำเกษตรอินทรีย์ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด แถมผลลัพธ์ที่ได้ ใช่จะดีแต่เฉพาะตัวเกษตรกร แต่ดีทั้งดิน คนกิน คนปลูก รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย และความสุขที่ยิ่งใหญ่ของคนปลูกคือการให้สุขภาพที่ดีแก่ผู้บริโภค ขณะที่ลูกสาวป้าฉวี ซึ่งเริ่มเห็นว่าการเกษตรอินทรีย์สามารถสร้างรายได้ดีจริง มีชีวิตอิสระ และไม่ได้เหนื่อยยากเกินไป ตัดสินใจจะลาออกจากโรงงานมาช่วยป้าฉวีเต็มตัว โดยตั้งใจจะปรับแผนการปลูกใหม่ ให้ทันและตรงกับความต้องการของตลาด เช่น ทำอย่างไรจะมี ผักบุ้ง ผักกว้างตุ้ง ส่งโรงแรมสามพรานฯ อย่างต่อเนื่อง และมีผักอื่นๆ ส่งไปขายเพิ่มด้วย

  สำหรับ ผู้ที่สนใจเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ หรือต้องการลิ้มรสชาติ พืชผัก ผลไม้ ออแกนิกส์ ของป้าฉวี และผลผลิตอินทรีย์ของเกษตรกรในอำเภอสามพราน เชิญได้ที่งาน วันสังคมสุขใจ ครั้งที่1ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่29-30 พฤศจิกายน 2557 ณ สามพรานริเวอร์ไซด์ (สวนสามพราน) ภายใต้แนวคิดย้อนสังคมไทย สู่เกษตรอินทรีย์ เพื่อชีวีปลอดภัย ฟรี นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายอาทิ ตลาดน้ำย้อนยุค สวนอินทรีย์ลอยน้ำ ไอเดียร์ การสร้างบ้านดินอยู่แบบพอเพียง เมนูความงามจากกุหลาบมอญอินทรีย์ เหล่านี้เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร.034-322-588-93 หรือคลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่www.sampranmodel.com

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!