- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 05 May 2014 22:30
- Hits: 4437
เคราะห์ซ้ำ!ข้าวนาปรังส่อราคาตกฮวบ
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดชาวนา ขายข้าวนาปรังส่อราคาตกฮวบ : ณัฏฐ์ชิตา เกิดแดง ... รายงาน
นอกจากปัญหาไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวแล้ว อนาคตอันใกล้นี้ชาวนากำลังจะประสบกับปัญหาใหญ่ตามมาอีก นั่นคือ ราคาข้าวที่อาจตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย เนื่องจากราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดอย่างมาก แต่เมื่อไม่สามารถดำเนินโครงการได้ จากที่เคยได้รับ 1.2-1.3 หมื่นบาทต่อตัน ก็ต้องยอมรับราคาตลาดที่อยู่ในระดับ 6,500-7,000 บาทต่อตันเท่านั้น โดยเฉพาะในส่วนของข้าวนาปรังที่กำลังจะทยอยออกสู่ตลาด
ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า ชาวนามีการปลูกข้าวเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ทางการขอความร่วมมือให้งดการปลูกข้าวไปแล้ว เพราะจะทำให้มีการแย่งน้ำจนเกิดภัยแล้ง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีแนวคิดจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยกเลิกการจ่ายเงินช่วยเหลือหากผลผลิตได้รับความเสียหายเหมือนปีที่ผ่านๆ มา เพื่อเป็นการดัดหลัง จึงน่าจะเป็นวิกฤติซ้ำสองของชาวนา
ข้าวนาปรังไร้มาตรการรองรับ
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยอมรับว่า การทำนาปรัง หรือ ปลูกข้าวรอบ 2 ของชาวนาดำเนินการไปแล้วในหลายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง ที่อยู่ในเขตชลประทาน แม้ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐจะพยายามรณรงค์ให้ลดพื้นที่การปลูกลงและส่งเสริมให้เกษตรกรหันไปประกอบอาชีพอื่นทดแทนในช่วงหน้าร้อน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ปริมาณข้าวนาปรังที่จะออกมาอีกเกือบ 10 ล้านตัน ในฤดูการผลิตที่จะถึงนี้ อาจมีปัญหาราคาตกต่ำ เนื่องจากในช่วงรัฐบาลรักษาการคงไม่สามารถอนุมัติให้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวได้ ต้องรอให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจ ซึ่งคงจะต้องใช้เวลาอีกนาน
แม้การปลูกข้าวนาปรังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน แต่กว่าจะหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าวได้ ไม่ว่าจะเป็นการชดเชยต้นทุนการผลิต หรือแนวทางใด ก็เชื่อว่าเกษตรกรส่วนใหญ่คงต้องขายข้าวในตลาดเองไม่รอรัฐบาล เพื่อให้ได้เงินเข้ามาโดยเร็ว และส่วนหนึ่งอาจไม่มั่นใจว่าจะได้เงินเหมือนที่รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินอยู่จำนวนมาก ขณะที่ราคาข้าวในตลาดขณะนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากราคาได้ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว หากชาวนาขายข้าวขณะนี้กรณีที่มีความชื้นไม่เกิน 15% ก็น่าจะได้ราคาประมาณ 8 พันบาท หากความชื้นสูงขึ้นก็จะถูกตัดทอนราคาเหลือประมาณ 6,500-7,500 บาทต่อตันเท่านั้น
“การที่ราคาข้าวในตลาดลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นผลข้างเคียงจากการที่ข้าวในสต็อกรัฐบาลมีจำนวนมากและกำลังเร่งระบายออกมา เพื่อหาเงินมาใช้ในโครงการจำนำข้าว แม้แต่ต่างประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทยก็รู้ เพราะข้าวไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ทำให้แนวโน้มราคาข้าวในตลาดโลกลดลง นอกเหนือจากตลาดในประเทศที่มองว่าน่าจะปรับลดลงอีก ยิ่งหากชาวนาต้องขายข้าวแข่งกับรัฐบาลในระยะต่อไปก็เป็นโอกาสของผู้ซื้อที่จะกดราคาลงไปอีก” นายลักษณ์กล่าว
ชาวนาช้ำห่วงราคาตกฮวบ
ขณะที่ นายสมบูรณ์ สิริประเสริฐศิลป์ ประธานบริษัท ไทยณรงค์กุดจิก จำกัด ผู้ประกอบการโรงสี และผู้ผลิตข้าวถุงตราดอกจิก กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกมีแนวโน้มลดลง ล่าสุดข้าวเปลือกที่เป็นข้าวแห้งราคาอยู่ที่ประมาณตันละ 8,000 บาท ส่วนข้าวสดจะอยู่ที่ 5,500-6,000 บาท แต่มองว่าราคาไม่น่าจะร่วงต่ำลงไปกว่านี้แล้ว เนื่องจากเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับตลาดโลก อีกทั้งราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาข้าวเปลือกในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้นโยบายประกันราคา อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้นเกษตรกรยังได้รับเงินจากส่วนต่างราคา หากเทียบกับช่วงนี้หลังจบโครงการรับจำนำข้าว เกษตรกรไม่ได้รับส่วนเพิ่ม ทำให้เชื่อว่าจะทำให้เกษตรกรมีความลำบากมากขึ้น
ด้าน นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกมีแนวโน้มจะลดลงอย่างน้อย 10% ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล จากปัจจุบันราคาข้าวขาวอยู่ที่ 7,500-8,000 บาทต่อตัน เนื่องจากยังไม่มีมาตรการใดเข้ามารองรับหลังสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่จะสิ้นสุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 ส่วนราคาข้าวถุงมีแนวโน้มทรงตัว โดยขณะนี้ราคาข้าวสารบรรจุถุงขนาด 5 กิโลกรัม เฉลี่ยอยู่ที่ถุงละ 80-120 บาท ต่ำกว่าปีที่แล้ว ซึ่งจำหน่ายอยู่ที่ถุงละ 100-150 บาท
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ผลผลิตกำลังทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2557 พบว่า พื้นที่ปลูกมีมากถึง 8.2 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่กำหนดไว้เพียง 5 ล้านไร่ ส่งผลให้ราคาข้าวที่ออกสู่ตลาดช่วงนี้ปรับลดลงเหลือเพียง ตันละ 5,350 บาท หรือประมาณ 30% ของราคาโครงการรับจำนำข้าวเท่านั้น ชาวนาจึงจะประสบภาวะขาดทุนอย่างเลี่ยงไม่ได้ และจะส่งผลต่อการลงทุนทำนาปี 57/58 ที่จะเริ่มต้นในเดือนสิงหาคมนี้
ชี้ช่องเลิกอุดหนุนปลูกข้าวนาปรัง
นายลักษณ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาดังกล่าวคงต้องมองยาวไปถึงนาปรังฤดูการผลิตหน้า ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการลดพื้นที่ปลูกข้าวอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ปริมาณข้าวออกมาล้นตลาดเกินไป แต่ควรหันไปเน้นด้านคุณภาพแทน ซึ่งการจูงใจให้เลิกทำนาปรังนั้น มีการพูดมาตลอด แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เกิดขึ้นจริง ส่วนตัวมองว่าการจ่ายเงินอุดหนุนโดยตรงไปยังชาวนาเลยนั้น น่าจะได้ผลดีที่สุด เพื่อสนับสนุนให้ชาวนาหันไปปลูกพืชชนิดอื่นหรือทำอาชีพอื่นแทน
นอกจากนี้ มองว่าในอนาคตควรยกเลิกโครงการจำนำข้าว ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานด้วยตัวเอง หากให้เกษตรกรขายข้าวในตลาดเองประมาณ 60% หรืออย่างน้อยครึ่งหนึ่งผ่านในรูปของการรวมตัวเป็นสหกรณ์ จะทำให้ชาวนามีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าหรือโรงสี ส่วนปริมาณข้าวอีก 40% รัฐบาลอาจต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย หรือดึงภาคเอกชน โรงสี ผู้ส่งออกเข้ามาร่วมซื้อขายเพื่อให้ราคาข้าวในตลาดมีเสถียรภาพ
“หากต่อไปให้ชาวนาปลูกและขายข้าวเอง แล้วพบว่ามีครัวเรือนที่เหลือรายได้แค่ 3 หมื่นบาทต่อปี ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอต่อการดำรงชีพ หรือยังอยู่ใต้เส้นความยากจนตามมาตรฐานยูเอ็นหรือมาตรฐานของไทยก็ตาม รัฐบาลควรยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ ซึ่งถือเป็นการจัดกลุ่มชาวนาที่ยากจนจริงไม่ได้ให้เงินอุดหนุนทุกรายก็จะช่วยให้ชาวนามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้”
ทีดีอาร์ไอแนะเผาข้าวเน่าลดสต็อกเก๊
นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นว่า การที่ราคาข้าวในประเทศตกต่ำลงมากเหลือแค่ 7,500 บาทต่อตัน หรือลดลงมาครึ่งหนึ่งของราคารับจำนำ ถือเป็นเรื่องน่าห่วง เพราะเกษตรกรได้ลงมือปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว หากเก็บเกี่ยวในรอบใหม่นี้จะไม่มีโครงการรับจำนำข้าว หรือมาตรการจากภาครัฐออกมารองรับการ ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องขายข้าวเองในตลาด แถมยังต้องแข่งขันกับรัฐบาลที่มีข้าวอยู่ในสต็อกจำนวนมาก และไม่มีใครรู้ว่าตัวเลขที่แท้จริงเป็นเท่าไร
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการคือ การเปิดโกดังเก็บข้าวและคัดแยกคุณภาพข้าวออกมาให้ชัดเจน โดยข้าวที่มีคุณภาพดีก็เร่งทำการขายออกไป ส่วนที่เป็นข้าวเน่าเสียไปแล้ว หรือมีคุณภาพต่ำ ก็ควรนำมาทำลายทิ้ง หรือเผาทิ้งไปเลย เพื่อลดปริมาณข้าวในสต็อกรัฐบาล ซึ่งตามกระแสข่าวก็เห็นว่ามีข้าวคุณภาพต่ำอยู่จริงและน่าจะมีอยู่จำนวนไม่น้อย
“หากชาวนาต้องขายข้าวเองในราคาตลาดตันละ 7,500 บาท แม้จะพออยู่ได้แต่ก็คงอยู่อย่างยากลำบาก เพราะบางพื้นที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ไร่ละ 5,000 บาท บางพื้นที่มีต้นทุนไร่ละ 6,000-7,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรมีความชำนาญและควบคุมต้นทุนได้มากน้อยแค่ไหน” นายนิพนธ์กล่าว
พุ่งเป้าขายบอนด์ธ.ก.ส.แทนกู้เงิน
นายลักษณ์ กล่าวถึงความพยายามในการหาเงินเพื่อจ่ายให้ชาวนาที่เหลืออีกประมาณ 1.12 แสนล้านบาทหรือ 8.48 แสนราย ว่า ธ.ก.ส.ยืนยันในหลักการเดิมที่จะยึดเอาตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ที่ให้ใช้เงินจากการระบายข้าวและเงินที่กระทรวงการคลังจัดหา แต่ที่ผ่านมาเงินที่ได้จากการระบายข้าวยังเข้ามาไม่มากนัก แต่เริ่มดีขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม ที่ผ่านมา มีการนำส่งเข้ามา 1.06 หมื่นล้านบาท และเดือนกุมภาพันธ์ นำส่งเข้ามาอีก 1.1 หมื่นล้านบาท ตามเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะนำส่งเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท ไปจนถึงเดือนกันยายนนี้ ก็จะมีเงินเข้ามาประมาณ 9 หมื่นล้านบาท
ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินที่จัดหาโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามจะประมูลวงเงินกู้หลายรูปแบบ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้วงเงินกู้ที่ตั้งไว้ประมาณ 1 แสนล้านบาทนั้น ยังไม่สามารถจัดหาให้ ธ.ก.ส.นำไปใช้ได้ แต่กระทรวงการคลังก็ยังไม่ล้มเลิกการหาวิธีการระดมเงินในรูปแบบใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.กำลังหารือกับกระทรวงการคลัง ในการปรับเปลี่ยนไปออกเป็นพันธบัตร ธ.ก.ส.แทน แต่ต้องพิจารณาความเหมาะสมว่ากระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกันหรือไม่ เพราะหากไม่ค้ำประกันก็ต้องไปเข้าสู่กระบวนการจัดอันดับเครดิตโดยสถาบันในประเทศ และต้องให้สถาบันการเงินเป็นอันเดอร์ไรเตอร์ให้ ซึ่งจะมีความยุ่งยากกว่าการที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน โดยน่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ กว่าจะได้ข้อสรุป และอาจจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ในการออกพันธบัตรดังกล่าว
เม็ดเงินส่วนหนึ่งที่จะนำมาใช้ในโครงการจำนำข้าวอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งสามารถให้คำแนะนำวิธีการระดมเงินในรูปแบบใดๆ ได้ ธ.ก.ส.ได้ให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบแล้ว และตีความว่า หากจะให้ ธ.ก.ส. ออกพันธบัตรก็ควรให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน และอยู่ในกรอบแผนก่อหนี้ ปี 2557”นายลักษณ์กล่าว
(เคราะห์ซ้ำกรรมซัดชาวนา ขายข้าวนาปรังส่อราคาตกฮวบ : ณัฏฐ์ชิตา เกิดแดง ... รายงาน)