- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 05 May 2014 22:28
- Hits: 4571
'จำนำข้าว'บทเรียนล้ำค่าชาวนาไทย
'จำนำข้าว'บทเรียนล้ำค่าชาวนาไทย : สัมภาษณ์พิเศษ ระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย
กลุ่มชาวนาที่เคลื่อนไหวเพื่อทวงเงินค่าข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่ชัดเจนที่สุด เห็นจะเป็นกลุ่มชาวนาภาคตะวันตก นำโดย "ระวี รุ่งเรือง" ซึ่งปักหลักชุมนุมตั้งแต่แยกวังมะนาว จนเดินทางเข้ามายังกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 เมื่อเครือข่ายจากจังหวัดอื่นเข้ามาร่วม จึงตั้งเป็นกลุ่ม "เครือข่ายชาวนาไทย"
"นสพ.คม ชัด ลึก" สัมภาษณ์ประธานเครือข่ายชาวนาไทย "ระวี รุ่งเรือง" ถึงแนวทางการเคลื่อนไหวนับจากนี้ ตลอดจนมุมมองต่อนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล เขากล่าวว่า นับจากการเคลื่อนไหวเพื่อทวงเงินค่าข้าวจนถึงปัจจุบัน จากตรวจสอบข้อมูลมาพบว่าล่าสุดรัฐบาลจ่ายเงินให้ชาวนาได้ไม่ถึง 50% จากวงเงินรวมประมาณ 1.7 แสนล้านบาท แต่มีการจ่ายเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งยังเหลืออีกกว่า 9 หมื่นล้านบาทที่ยังคงค้างจ่ายอยู่ และยังพบว่าการจ่ายเงิน แม้จะกระจายไปทุกจังหวัด แต่ก็พบว่ามีการจ่ายในบางจังหวัดมากกว่าทั่วไป นั่นแสดงถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรมของรัฐที่จะต้องทำการปฏิรูปกันต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากชาวนาตัดสินใจปักหลักเคลื่อนไหวที่กระทรวงพาณิชย์มาอย่างต่อเนื่อง แต่การจ่ายเงินก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่อย่างที่เรียกร้องไป จึงขอยกระดับการเคลื่อนไหวด้วยการขอให้รัฐบาลรับผิดชอบด้วยการลาออก และขอให้มีรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีอำนาจเต็มสามารถช่วยเหลือชาวนาได้ จนล่าสุดทางเครือข่ายชาวนาไทยได้ย้ายที่ชุมนุมมาที่ ถ.แจ้งวัฒนะ ร่วมกับกลุ่มหลวงปู่พุทธะอิสระ และแกนนำกปปส.นนทบุรี ที่ ถ.แจ้งวัฒนะ เป้าหมายของกลุ่มชาวนายังเหมือนเดิมคือ เรียกร้องเงินค่าข้าว
"วัตถุประสงค์ของเราเหมือนกันคือต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก แต่เป้าหมายชาวนาจะแตกต่างกันไป โดยเป้าหมาย กปปส.คือการปฏิรูปประเทศ แต่เป้าหมายชาวนาต้องการที่จะให้มีรัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มในการเข้ามาช่วยเหลือชาวนา และยังมีเป้าหมายที่เพิ่มเข้ามาด้วยคือการตั้งสภาชาวนา" นายระวี กล่าว
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวนาในครั้งนี้จะมีเพียงไม่ถึง 5% ของชาวนาทั้งหมด และที่เหลืออีก 95% ไม่ได้ออกมา แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่เหลือจะไม่ต้องการออกมาเรียกร้อง ยังมีอีกจำนวนมากที่ต้องการออกมาแต่เป็นเพราะพวกเขาถูกข่มขู่จากผู้มีอิทธิพลการเมืองท้องถิ่นไม่ให้ออกมา พวกเขาจึงต้องยอมหวานอมขมกลืน และนี่คือโครงสร้างของประเทศที่จำเป็นจะต้องปฏิรูปอย่างหนึ่ง กลายเป็นว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมไม่มีจริง มีแต่แบบที่สร้างความหวาดกลัวให้แก่คนชั้นล่าง
นายระวี ยืนยันว่า ชาวนาที่ไม่ได้ออกมาเรียกร้อง ไม่ได้หมายความว่าพวกเขายังคงสนับสนุนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งความล้มเหลวของโครงการจำนำข้าวได้กลายเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าให้แก่ชาวนา ทำให้ได้เรียนรู้ เห็นภาพได้ชัดเจนว่าโครงการประชานิยมที่รัฐบาลตั้งราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด และจำนำทุกเมล็ดนั้น เป็นการทำลายระบบข้าวของไทยในเรื่องของคุณภาพข้าว ทำลายระบบตลาดของไทย และทำลายความเป็นผู้นำของประเทศไทยในตลาดโลก
ส่วนการจัดตั้ง'สภาชาวนา'เป็นเสมือนยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาอาชีพชาวนาและเกษตรกร ที่เราจะพูดถึงการพัฒนาข้าวตามสภาพพื้นที่ การตั้งธนาคารชาวนา การตั้งลานตากข้าว โรงสี ยุ้งฉาง การจัดหาที่ดิน ตลอดจนจัดสวัสดิการต่างๆ ให้ชาวนา และโครงสร้างภายในก็จะมีทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายตรวจสอบ การดึงสมาชิกจากแต่ละจังหวัดเข้ามาร่วมแบ่งหน้าที่ดูแล เปรียบได้กับแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เราจะพูดถึงตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำลงสู่ทะเล โดยไม่มีกลุ่มพ่อค้า
"ที่สำคัญเราจะผลิตข้าวที่มีคุณภาพ แล้วแต่ตามสภาพพื้นที่ของแต่ละชุมชน โดยจะส่งนักวิชาการเข้าไปเป็นทีมวิจัยและพัฒนา จึงน่าจะมีหลายกลุ่มหลายวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วม" นายระวีกล่าวและว่า ปัจจุบันมีสภาวิชาชีพหลายๆ อาชีพเกิดขึ้นแล้ว แต่ชาวนาซึ่งมีเป็นล้านคนกลับไม่มีสภาวิชาชีพของตนเอง โดยเราจะมีแผนพัฒนาที่จะล้อไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะเข้ามาบริหารประเทศ ก็จะต้องทำตามแผนดังกล่าวนี้
ส่วนมุมมองต่อรัฐบาลในขณะนี้ มองว่าเป็นเหมือนตัวตลก ไม่มีราคา ซึ่งหากเป็นตัวเองจะออกมาขอโทษชาวนาก่อน เพราะรัฐบาลก็รู้แต่แรกแล้วว่าไม่มีเงินตั้งแต่เริ่มโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556/2557 มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ตอนนั้นรัฐบาลยังไม่ยุบสภาด้วยซ้ำ แต่รัฐบาลก็ไม่มีเงินจ่ายชาวนาแล้ว
"ตอนนี้เองผมก็ไม่ได้คิดขอความช่วยเหลืออะไรจากรัฐบาลนี้แล้ว แถมชาวนาก็ยังมาเจอกับวิกฤติรอบ 2 อีกคือราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ซึ่งผมเคยถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แต่แรกแล้วว่าจะทำอย่างไร เพราะราคาจะต้องตกแน่นอน เพราะข้าวล้นโกดังและรัฐบาลก็เร่งนำออกมาขายในราคาถูก แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีสาเหตุมาจากรัฐบาล รวมทั้งยังเกิดภัยแล้งที่รัฐบาลรักษาการก็ไม่มีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือชาวนาได้ ทั้งหมดล้วนเป็นความเสียหายที่ควรออกมาแสดงความรับผิดชอบ"
ประธานเครือข่ายชาวนาไทย กล่าวอีกว่า แม้จะได้รับบทเรียนจากโครงการจำนำข้าวนี้ แต่ชาวนาก็ยังต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งไม่ใช่ความช่วยเหลือจากนโยบายของรัฐบาล แต่จะเป็นความช่วยเหลือที่ชาวนาจะเป็นผู้เสนอเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการการช่วยเหลือชาวนา การจัดทำแผนโซนนิ่ง แต่จะไม่ใช่การช่วยตามแผนของรัฐบาลอีกต่อไป ซึ่งมั่นใจว่าการเรียกร้องในครั้งนี้ แม้ว่าจะมีเพียง 5% ของชาวนาทั้งหมด และยังมีอีกส่วนหนึ่งนิ่งเฉย แต่ทุกคนมีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันนี้แน่นอน
..................................
(หมายเหตุ :'จำนำข้าว'บทเรียนล้ำค่าชาวนาไทย : สัมภาษณ์พิเศษ ระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย)