- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 05 May 2014 22:23
- Hits: 4353
ธ.ก.ส.แบกปมจำนำข้าวยืดหนี้ชาวนา-ปล่อยกู้ลงทุน
ปัญหาในโครงการจำนำข้าวที่ชาวนาจำนวนไม่น้อยยังไม่ได้รับเงินค่าข้าวคิดเป็นเม็ดเงินเกือบแสนล้านบาท หรือประมาณกว่า 8 แสนราย ทำให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ต้องหาแนวทางช่วยเหลือทั้งเกษตรกรที่เป็นลูกค้าและในส่วนของเกษตรกรที่ไม่ใช่ลูกค้าธนาคารอย่างเร่งด่วน และดูเหมือนจะเป็นภาระหนักมากกว่าธนาคารของรัฐแห่งอื่นๆ เพราะยังต้องช่วยรัฐบาลในการหาแหล่งเงินเพื่อนำมาจ่ายค่าข้าวให้ชาวนาไปด้วย
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส ระบุว่า สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธ.ก.ส.มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน โดยการยืดหนี้ออกไป 6 เดือนตั้งแต่เดือนมีนาคมไปถึงกันยายนของปีนี้ ซึ่งมีลูกค้าที่ได้รับการยืดหนี้ประมาณ 4.7 แสนราย คิดเป็นต้นเงินคงค้าง 6.1 หมื่นล้านบาท พร้อมทั้งยังได้จัดสรรเงินกู้ก้อนใหม่ให้เกษตรกรนำไปใช้จ่ายและลงทุนในรอบการผลิตใหม่ แล้วประมาณ 1.2 แสนราย วงเงินกู้ 8,197 ล้านบาท นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีการใช้วงเงินกู้ผ่านบัตรสินเชื่ออีกจำนวน 4.8 แสนราย คิดเป็นเม็ดเงิน 8,261 ล้านบาท ทำให้มีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานรากแล้วกว่า 16,458 ล้านบาท มีเกษตรกรที่เข้าโครงการจำนำข้าวได้ประโยชน์กว่า 6 แสนราย
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลของธนาคารล่าสุดอยู่ที่ 4.10% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ระดับ 3.95% ซึ่งเท่าที่ดูไม่ได้มีอัตราเร่งขึ้นจนน่าตกใจ โดยเพิ่มขึ้นมากในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ที่ผ่านมา จึงให้สาขาเข้าไปติดตามลูกค้าเป็นรายๆ ไป ซึ่งส่วนหนึ่งมองว่าเป็นผลมาจากการที่เกษตรกรไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าว ทำให้ไม่สามารถมาชำระหนี้คืนเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้ และหากเกษตรกรยังไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ภายในกันยายนนี้ ธนาคารก็จะพิจารณายืดหนี้ออกไปอีก 6 เดือน โดยไม่ถือว่าเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอลแต่อย่างใด
"ถือเป็นมาตรการปกติที่ ธ.ก.ส.นำมาใช้ทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งเรามองว่าลูกหนี้กลุ่มนี้จะมีรายได้เข้ามาในอนาคตจากการถือใบประทวนอยู่จึงไม่น่าจะส่งผลกระต่อธนาคารและสิ้นปีบัญชี 2557 น่าจะบริหารหนี้เสียให้ลดลงมาเหลือในระดับ 4%ได้”นายลักษณ์กล่าว
ส่วนโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 5 แสนบาท ระยะเวลา 3 ปี ในปี 2554 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 3.35 แสนราย วงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท ได้รับการอบรมหลักสูตรพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตแล้วกว่า 3 แสนราย ธ.ก.ส.จะติดตามประเมินศักยภาพลูกหนี้หากเห็นว่ามีเข้มแข็งก็จะให้กลับมาเป็นหนี้ปกติมีสิทธิในการกู้เงินใหม่ต่อไป แต่หากเห็นว่ายังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ก็จะใช้มาตรการที่มีอยู่ช่วยเหลือประคับประคองต่อไปอีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.ยังทำหน้าที่ในการขยายสินเชื่อให้ภาคเกษตรกละธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายขยายปริมาณสินเชื่อลงสู่ภาคชนบทไม่ต่ำกว่า 108,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนโดยไม่รวมสินเชื่อนโยบายรัฐ เช่น โครงการจำนำข้าวเหมือนที่ผ่านมา ปีนี้จึงเน้นไปที่สินเชื่อตลอดห่วงโซ่อุปทาน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของพืชอาหาร พืชพลังงานทดแทน สัตว์เศรษฐกิจ สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่