- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 27 May 2021 09:07
- Hits: 587
เกษตรฯ-พาณิชย์เห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร ระยะที่ 2 เพื่อเชื่อมโยงให้มีการซื้อขายข้าวกับผู้ประกอบการค้าข้าวได้ในราคาตามคุณภาพที่เป็นธรรม มีตลาดรองรับที่แน่นอน
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังประชุมหารือโครงการ เชื่อมโยงตลาดข้าวคุณภาพระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการค้าข้าว ปี 2565 – 2568 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และระบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom meeting ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาดำเนินโครงการเชื่องโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร ระยะที่ 2 (ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2565 – 2568) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ให้มีการซื้อขายข้าวกับผู้ประกอบการค้าข้าวได้ในราคาตามคุณภาพที่เป็นธรรม มีตลาดรองรับที่แน่นอน อีกทั้งยังเป็นการรักษาและขยายพื้นที่การผลิตข้าวคุณภาพที่ได้รับการรับรอง มาตรฐานข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ให้เกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน และสามารถแข่งขันการตลาดข้าวโลกได้
ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการ 20 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี ลำปาง เชียงใหม่ พิจิตร ชัยนาท และสุพรรณบุรี โดยที่ประชุมขอให้กระทรวงพาณิชย์เพิ่มเติมกิจกรรมด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องในข้อเสนอโครงการ รวมทั้งงบประมาณในการดำเนินการและรวบรวมข้อมูลความต้องการผลผลิตข้าวทั้งในและต่างประเทศ ให้แก่กรมการข้าวในแต่ละปีก่อนฤดูการผลิต นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายกรมการข้าวนำเสนอโครงการฯ ดังกล่าว ต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อเห็นชอบในหลักการแนวทางและหลักการเพื่อให้คณะรัฐมนตรี เห็นชอบต่อไป
สำหรับ วิธีดำเนินการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน จะมีการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP การสนับสนุน จัดสรรโควตาส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป (EU) ให้ผู้ประกอบการค้าข้าวอินทรีย์ การตรวจรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์ ต่างประเทศ และการตลาดและการประชาสัมพันธ์ โดยคาดว่าเกษตรกรจะมีตลาดรองรับซื้อผลผลิตข้าวคุณภาพที่แน่นอน ไม่น้อยกว่า 30,000 ครัวเรือน ในราคาตามคุณภาพที่เป็นธรรม และมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 350 ล้านบาท (ข้าว GAP เพิ่มขึ้นตันละ 500 บาท และข้าวอินทรีย์เพิ่มขึ้นตันละ 2,000 บาท) รวมถึงรักษาและขยายพื้นที่การผลิตข้าวคุณภาพที่ ได้รับการรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์และข้าว GAP อย่างน้อย 700,000 ไร่ อีกทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีขึ้น เป็นการประหยัดงบประมาณในการรักษาพยาบาลของรัฐบาล จากโรคที่เกิดจากการบริโภคและใช้สารเคมีทางการเกษตร ลดการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรและผลกระทบจากสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม
“ปัจจุบันความต้องการอาหารปลอดภัย อาหารที่ได้รับรอง GAP โดยเฉพาะอินทรีย์ มีความต้องการอย่างมากทั้ง ตลาดในประเทศและต่างประเทศ จึงขอให้ทุกภาคส่วนบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะหน่วยงานที่อยู่ต่างประเทศ ทั้งทูตเกษตรและทูตพาณิชย์ ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการประสานและหาช่องทางการตลาด โดยเฉพาะตลาดข้าวอินทรีย์ เพื่อส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและผู้ปฏิบัติงาน เพื่อจะสามารถดำเนินการตามนโยบายตลาดนำการผลิตได้อย่างชัดเจน”นายระพีภัทร์ กล่าว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ