- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 27 May 2021 08:24
- Hits: 2669
รมช.ประภัตร ลุยยับยั้งการระบาดลัมปี สกิน จ.มุกดาหาร ผนึกความร่วมมือทุกฝ่าย เร่งสำรวจความเสียหาย มั่นใจ เอาอยู่ ! ชูเนื้อสหกรณ์การเกษตรหนองสูง อร่อย สะอาด ได้มาตรฐานสูง
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน Kick off รณรงค์ป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน จังหวัดมุกดาหาร และมอบเวชภัณฑ์ ให้แก่ปศุสัตว์อำเภอ เพื่อนำไปมอบต่อให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคลัมปี สกิน ณ สหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร พร้อมตรวจเยี่ยม สหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด โดยมีนายเชวงศักดิ์ พลเยี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ตลอดจนผู้นำภาคประชาชนเข้าร่วม ว่า สถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin Disease) ใน 7 อำเภอ ของจังหวัดมุกดาหาร พบโค-กระบือ ติดเชื้อรวม 4,291 ตัว มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,700 ราย สัตว์ตาย 13 ตัว โดยทางจังหวัดมุกดาหารได้ทำการสั่งปิดตลาดนัดโค-กระบือ เป็นเวลา 1 เดือน ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ข้อมูลกับเกษตรกรเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดมุกดาหาร ได้รับรายงานจากอำเภอนิคมคำสร้อย ว่า ในพื้นที่มีการแพร่ระบาดของโรค และได้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย สำหรับอำเภออื่นๆ อยู่ระ หว่งการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และจะได้ประสานสำนักงานปภ.จังหวัดเพื่อประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัยต่อไป
"วันนี้เป็นการรวมตัวและร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค พี่น้องเกษตรกร รวมทั้งอาสาสมัครปศุสัตว์ทุกคน ต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เชื่อมั่นว่าควบคุมได้ โดยขณะนี้การระบาดของโรคเกิดขึ้น มีแมลงและยุงเป็นพาหะ ขอให้หน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนเร่งทำการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเชิงรุก ให้เกษตรกรทราบถึงวิธีการป้องกัน วิธีการดูแลสัตว์ในสถานการณ์การระบาดของโรค และวิธีสังเกตุอาการของสัตว์ที่ป่วยอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ เพื่อคลายความกังวลของเกษตรกรต่อโรคระบาดนี้ และขอยืนยัน โรคลัมปี สกิน โค-กระบือ เป็นแล้วรักษาหาย เนื้อทานได้ ไม่ติดต่อสู่คน จึงขอให้พี่น้องมั่นใจ และรับฟังแนวทางการควบคุมป้องกันรักษาโรคนี้ จากเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายดำเนินการกันทั่วประเทศ เพื่อที่จะระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคนี้ให้สงบลงโดยเร็วที่สุด ซึ่งในสถานการณ์การระบาดขณะนี้ ต้องขอความร่วมมือทางจังหวัด ประชาสัมพันธ์โครงการประกันสัตว์ ซึ่งเกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการ โดยจ่ายเบี้ย 400 บาทต่อ 6 เดือน คุ้มครองสัตว์ตายทุกกรณี จ่าย 30,000 บาท โดยเกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) หรือหน่วยงานปศุสัตว์ในพื้นที่" รมช.ประภัตร กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้ชี้แจงโครงการล้านละร้อยของรัฐบาล โดยการเข้าร่วมโครงการนั้น ขอให้เกษตรกรรวมตัวกันให้ได้ 7 คน จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อทำเรื่องยื่นกู้กับ ธกส. โดย 1 วิสาหกิจชุมชนสามารถกู้ได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ดังนั้นขอความร่วมมือจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลในเรื่องนี้ เพื่อให้เกษตรกรที่สนใจได้เข้าร่วมโครงการ นำเงินกู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับปศุสัตว์ เลี้ยงวัว หรือเลี้ยงสัตว์ประเภทอื่นที่มีตลาดรองรับ เป็นการสร้างอาชีพ สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” รมช.ประภัตรกล่าว
สำหรับ งาน Kick off รณรงค์ป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน จังหวัดมุกดาหาร มีกิจกรรมประกอบด้วย 1.ปล่อยขบวนสัตวแพทย์เคลื่อนที่ไปตามพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อรักษาโค -กระบือ ที่ป่วย โดยเป็นการรักษาตามอาการในเบื้องต้น 2. ปล่อยขบวนหน่วยพ่นยาทำลายเชื้อโรคและพ่นสารเคมีกำจัดแมลง ซึ่งเป็นพาหะของโรค เพื่อยับยั้ง ชะลอการแพร่ระบาด 3. แจกสารเคมีกำจัดแมลงที่เป็นพาหะ แจกยารักษาแผลภายนอก ยาบำรุง แร่ธาตุ ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจโรคและการป้องกันให้กับเกษตรกร
ปศุสัตว์ต้องเร็ว วัคซีนต้องเร่ง ท้องถิ่นต้องรีบ เกษตรกรโปรดเข้าใจ
อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคลัมปี สกิน เพือติดตามสถานการณ์ กำชับนโยบายการควบคุมป้องกัน และกำหนดแนวทางการใช้วัคซีนตามหลักวิชาการ
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Disease) ครั้งที่ 1/2564 ซึ่งคณะกรรมการนี้ประกอบด้วยทุกภาคส่วนจากภาครัฐและเอกชน คณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอุดมศึกษา องค์กรวิชาชีพ และเกษตรกร ร่วมประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์ และแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค และกำหนดแนวทางการใช้วัคซีน และได้ชี้แจงกรณีที่มีข่าวเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนว่า กรมปศุสัตว์ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคลัมปี สกิน ในโคกระบือของเกษตรกรนั้น ต้องขอชี้แจงว่า เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะตั้งแต่พบว่า โคเนื้อของเกษตรกรที่ อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด มีอาการป่วยคล้ายกับโรคลัมปี สกิน กรมปศุสัตว์ได้ลงพื้นที่
พร้อมเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบในห้องปฏิบัติการจนมีผลยืนยันในช่วงปลายเดือนมีนาคมว่าโคป่วยด้วย โรคลัมปี สกินจริง ช่วงรอผลตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการนั้นได้มีการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมและแก้ไข เข้มงวดการเฝ้าระวัง และมาตรการป้องกันและควบคุมโรค กรณีสงสยโรคลัมปี สกิน เป็นต้น โดยในการดำเนินการนั้นได้รายงานให้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายประภัตร โพธสุธนรัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีความห่วงใยและติดตามสถานการณ์รับทราบอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุดจากการประชุม คณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมาที่มี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีวาการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้มีข้อสั่งการให้ กรมปศุสัตว์เร่งควบคุมต้นตอของการระบาดของโรคลัมปี สกิน โดยให้เข้มงวดเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์ โดยเฉพาะการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ตามแนวชายแดนทุกแห่ง ดังนั้นหากพบผู้กระทำผิดให้ดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่หากปล่อยปละละเลยให้มีการลักลอบเคลื่อนย้าย และเกิดการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้น จะดำเนินการทางวินัยโดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมกันนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกัน ควบคุม และเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุโรคลัมปี สกิน หรือ War room เพื่อทำหน้าที่ติดตาม สถานการณ์โรคระบาด วางแผนมาตรการควบคุมโรค วางแผนการกระจายวัคซีน การป้องกันกำจัดโรค ตลอดจนมาตรการชดเชยเยียวยาเกษตรกรตามมาตรการการช่วยเหลือ และขอขอบคุณองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นหลายท้องถิ่นที่ช่วยดำเนินการฉีดพ่นสารเคมีควบคุมแมลงดูดเลือดซึ่งเป็นพาหนะของโรคลัมปี สกิน
"ส่วนกรณีของวัคซีน ด้วยโรคลมปี สกิน เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย จึงยังไม่เคยมีการใช้ วัคซีนในสัตว์สำหรับควบคุมและป้องกันโรคในประเทศมาก่อน ขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการสั่งซื้อวัคซีนจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีแหล่งผลิตในประเทศแอฟริกาใต้ รวม 60,000 โดส และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประสานงานจัดส่งวัคซีน หลังจากวัคซีนเข้ามาถึงประเทศไทยแล้ว จะต้องดำเนินการขอหนังสือรับรองรุ่นการผลิต จากสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา จึงจะสามารถนำมาใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์กำลังดำเนินการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีก ประมาณ 300,000 โดส เพื่อการควบคุมโรคและเพื่อความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศไทย”
สถานการณ์การเกิดโรคล่าสุด ปัจจุบันพบใน 35 จังหวัด มีสัตว์ป่วย จำนวน 7,200 ตัว ตาย 53 ตัว และที่สำคัญสามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด โดยตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค.เป็นต้นมา ยังไม่มีรายงานการกระจายหรือการระบาดเพิ่มในจังหวัดใหม่ ดังนั้น ขอฝากถึงเกษตรกร หากมีข้อสงสัย หรือต้องการได้รับความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) หรือสายด่วนแจ้งโรคระบาดกรมปศุสัตว์ call center 063-225-6888 หรือแจ้ง ผ่านแอปพลิเคชั่น DLD4.0 ‘แจ้งการเกิดโรคระบาด’ ได้ตลอดเวลา และสามารถติดตามองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวของ ได้ที่ เว็บไซต์ https://sites.google.com/view/dldlsd/home
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ