- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 05 November 2014 23:15
- Hits: 2718
'นิวัฒน์ธำรง'โต้ หนี้ 7-8 แสนลบ.จากโครงการจำนำข้าวสมัยรัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์’ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ระบุช่วยชาวนามากกว่าโครงการอื่น
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขาดทุนถึง 7 แสนล้านบาท มีหนี้สิน 7-8 แสนล้านบาท บ้าง 1 ล้านล้านบาทบ้าง ซึ่งข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของโครงการก็เพื่อช่วยเหลือประชาชนและพี่น้องเกษตรกร โดยแก้ไขปัญหาความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น และมีความคุ้มทุนในการลงทุนการเกษตรไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าว ประกันราคาข้าว ยางพารา หรือมันสำปะหลัง ซึ่งโครงการเหล่านี้มีรายจ่ายมากกว่ารายรับทุกโครงการหรือที่ทั่วไปเรียกว่าขาดทุน แต่หากวิเคราะห์ถึงผลตอบแทนด้านอื่น ๆ รวมด้วยนั้น โครงการเหล่านั้นอาจไม่ขาดทุนเลย โดยโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ช่วยเหลือชาวนามากกว่าโครงการอื่นๆ ทั้งจำนวนเงินต่อไร่และปริมาณข้าวที่จำนำ ดังนั้นย่อมใช้เงินมากกว่า มีการประมาณการว่าประมาณปีละ 1 แสนล้านบาท แต่โครงการเหล่านี้นอกจากจะช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้แล้ว ยังช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจำนวนมาก เห็นได้จากผลการศึกษาที่มีการนำมาเสนอข้อมูลต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 56 ที่สรุปว่า โครงการรับจำนำข้าวมีผลประโยชน์สืบเนื่องทางเศรษฐกิจถึง 3.9 แสนล้านบาท
นายนิวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลต่างของรายจ่ายและรายรับของโครงการรับจำนำข้าวนั้นประมาณการได้ดังนี้ ด้านรายได้ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงสิ้นสุดรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น รัฐบาลขายข้าวเป็นมูลค่ารวมประมาณ 2.4 แสนล้านบาท และยังเหลือข้าวในโกดังอีกประมาณ 18 ล้านตัน ซึ่งตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ที่ชี้แจงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ามีข้าวพร้อมขาย 10% และข้าวที่ต้องปรับปรุงขายได้อีก 80% นั้น หากใช้วิธีขายแบบรัฐบาลที่ผ่านมา ขายข้าวคละกัน เก่าปนใหม่รวมข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว และข้าวขาว ราคาขายจะได้ประมาณ 15,000 บาทต่อตัน และถ้าขายข้าว 16.2 ล้านตัน (90% ของ 18 ล้านตัน) จะได้เงินประมาณ 2.43 แสนล้านบาทดังนั้น ตัวเลขยอดรายได้จากการประมาณการข้างต้นรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 4.8 แสนล้านบาท ขณะที่โครงการรับจำนำข้าวใช้เงินในปี 2554-2556 เป็นเงิน 6.8 แสนล้านบาท และมีข้าวนาปี 2556 / 2557 มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งรวมรายจ่ายของโครงการทั้งสิ้น 8.6 แสนล้านบาท ดังนั้น โครงการจึงมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายอยู่ประมาณ 3.8 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำโครงการรับจำนำข้าวมา 3 ปี จึงมียอดค่าใช้จ่ายโครงการช่วยเหลือชาวนาปีละประมาณ 1.26 แสนล้านบาท แต่เมื่อคำนึงถึงผลประโยชน์สืบเนื่องจะเห็นได้ว่าโครงการนี้มีผลประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ราคาข้าวเปลือกในตลาดขณะนั้นราคาข้าวเจ้าขาวสูงถึง 1.2-1.3 หมื่นบาทต่อตันอีกด้วยเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการอื่นๆ ที่ข้าวมีราคาเพียง 6-7 พันบาทต่อตันเท่านั้น
นายนิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า การใช้เงินในโครงการจำนำข้าวนั้น ตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2556 รัฐบาลกู้เงินมาใช้จำนำข้าวจำนวน 6.8 แสนล้านบาท เงินทั้งหมดใช้จำนำข้าวชาวนาโดยเข้าบัญชีธนาคารของชาวนาทุกบาททุกสตางค์ ไม่มีการยักยอกเงินหรือมีการทุจริตใดๆ ทั้งสิ้น และในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลได้ขายข้าวและจัดงบประมาณใช้หนี้เงินกู้ซึ่งกระทรวงการคลังได้รายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 57ว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค. 56 เหลือเงินกู้ค้างอยู่เพียง 4.6 แสนล้านบาทอย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ม.ค. 57 รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถกู้เงินมาใช้ในโครงการนี้ได้อีกเนื่องจากวิกฤติทางการเมือง และเมื่อมีการรัฐประหารรัฐบาลปัจจุบันได้กู้เงินมาใช้ในโครงการจำนำข้าวอีก 9.4 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อขายข้าวที่เหลือจำนวน 16.2 ล้านตันเป็นเงิน 2.43 แสนล้านบาทและนำเงินรายได้นี้ไปคืนเงินกู้ก็จะเหลือภาระหนี้สินเพียง 3.11 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งโดยปกติรัฐบาลจะทยอยจัดสรรงบประมาณประจำปีมาใช้คืนเงินกู้ของโครงการต่าง ๆ รวมถึงโครงการนี้ด้วย ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์มีผลขาดทุนและมีภาระหนี้สิน 7 แสนล้านถึง 1 ล้านล้านบาท รวมทั้งจะต้องใช้เวลาในการชำระหนี้สินถึง 30 ปีนั้น จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย