- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 02 November 2014 22:01
- Hits: 2485
การันตีข้าวราคาพุ่ง ‘รมว.คลัง’ชี้สัญญาณดี
แนวหน้า : การันตีข้าวราคาพุ่ง ‘รมว.คลัง’ชี้สัญญาณดี ผู้ค้าแห่ขอสินเชื่อเปิดรับซื้อ หอมมะลิไม่ต่ำกว่า 1.6 หมื่น กรมชลดีเดย์จ้างชาวนา 3 พย.
วันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ตำบลสันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เดินทางไปมอบนโยบายการดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและเพิ่มรายได้แก่ผู้มีรายได้น้อย ให้กับตัวแทนสถาบันสหกรณ์การเกษตร ผู้นำเกษตรกร และหัวหน้ากลุ่มลูกค้า ธ.ก.ส. พร้อมตรวจเยี่ยมยุ้งฉางของเกษตรกร และมอบเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท จำนวน 425 ราย รวมพื้นที่ 4,259 ไร่ วงเงิน 4.25 ล้านบาท
นายสมหมาย กล่าวว่า ราคาขายข้าวฤดูกาลผลิต 2557/58 มีแนวโน้มราคาดีกว่าที่ผ่านมา หลังจากที่ได้หารือกับผู้ค้าข้าว โดยเห็นตรงกันว่าราคาข้าวหอมมะลิคาดว่าจะไม่ต่ำกว่าตันละ 16,000-17,000 บาท ซึ่งเริ่มพบสัญญาณจากพ่อค้าข้าว มีการขอสินเชื่อกับธนาคารเพื่อมาซื้อข้าวที่กำลังจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ ทำให้สะท้อนราคาข้าวให้สูงขึ้น
“การบริหารสต็อคข้าวเก่า รัฐบาลก็ต้องบริหารจัดการไม่ให้เกิดผลกระทบกับราคาข้าวในท้องตลาด ซึ่งต้องเร่งทยอยขายข้าวออกไป ขายได้จำนวนเท่าไรก็ขายไป ดีกว่าเก็บไว้เสื่อมสภาพ ซึ่งเราจะต้องดูแลเกษตรกรกันเป็นปีๆ”
นายสมหมาย กล่าวอีกว่า การดูแลเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ ไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันมีมาตรการช่วยเกษตรทั้งทางตรง เช่น โครงการจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ต่อครัวเรือน และมาตรการอื่นที่ช่วยเกษตรกรรวมวงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท และทางอ้อมการอุดหนุนเรื่องภาระดอกเบี้ยอีก 100,000 ล้านบาท
สำหรับ การจ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ขณะนี้ได้สั่งการธ.ก.ส.เร่งจ่ายเงินชาวนาให้เร็ว หลังจากช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจ่ายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันต้องป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลและสวมสิทธิ์ตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยตรวจสอบเอกสารผู้รับสิทธิ์ต้องตรงกันกับผู้รับเงิน จากนั้นจะส่งข้อมูลไปยังกระทรวงยุติธรรมเพื่อตรวจสอบ หากพบมีการกระทำผิดเกิดขึ้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที
นายสมหมาย กล่าวว่า สำหรับโครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปีฤดูกาลการผลิต 2557/58 วงเงิน 25,740 ล้านบาท ตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเปิดให้ชาวนาในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 – 30 กันยายน 2558 โดยจะเริ่มจ่ายเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 - ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2558 และชำระคืนเงินกู้ภายใน 4 เดือนนับจากเดือนที่รับเงินกู้
ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป็นสินเชื่อช่วยเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมาปริมาณมากและมีราคาตกต่ำ เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการชะลอการขาย โดยไม่ต้องพะวงกับปัญหาเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในครัวเรือนและภาระหนี้สิน โดยสามารถนำผลผลิต คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวมาขอกู้กับ ธ.ก.ส. อัตรา 90% ของราคาตลาด จากเดิมอัตรา 80% ตามมติของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) วงเงินไม่เกินรายละ 300,000 บาท โดยไม่เสียดอกเบี้ย และเพิ่มให้อีกตันละ 1,000 บาท ให้กับชาวนาที่เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางเกิน 30 วัน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ชะลอการขายข้าวที่จะออกมามากในช่วงนี้ ไม่ให้เข้าสู่ตลาด เพื่อพยุงราคาไม่ให้ตกต่ำ โดยเตรียมเสนอ ครม.เห็นชอบในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อเตรียมข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉางเกษตรกรวงเงิน 9,048 ล้านบาท จะให้เกษตรกรกู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวและตากข้าวให้แห้ง วงเงินไร่ละ 2,000 บาท กำหนดชำระคืนภายใน 2 เดือน ตั้งแต่รับเงินกู้จาก ธ.ก.ส.โดยไม่เสียดอกเบี้ยแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน ยังออกโครงการสินเชื่อเพื่อการสร้างหรือปรับปรุงยุ้งฉาง และลานตากข้าว เพื่อสามารถปรับปรุงคุณภาพและเก็บผลผลิตไว้แล้วจึงนำออกมาขายเมื่อราคาสูงขึ้น วงเงินสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับเกษตรกรทั่วไปที่ MRR หรือ 7% และสถาบันเกษตรกรในอัตรา MLR หรือ 5% โดยสินเชื่อสำหรับปรับปรุงยุ้งฉางหรือลานตากข้าวเดิมให้ชำระคืนภายใน 5 ปี ส่วนการสร้างยุ้งฉางและลานตากข้าวใหม่ชำระคืนภายใน 10 ปี
วันเดียวกัน นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานจะเริ่มจ้างแรงงานชาวนาในพื้นที่ลุ่มน้ำทั่วประเทศ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง 26 จังหวัดที่ต้องงดทำนาปรัง ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายนเป็นต้นไป โดยใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 วงเงิน 2 พันล้านบาท สิ้นสุดเดือนธันวาคมนี้ และต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2558 วงเงินกว่า 1.9 พันล้านบาท โดยจ้างแรงงานวันละ 300 บาทต่อคน เฉลี่ยเดือนละ 6,600 บาทต่อคน ซึ่งเป้าหมายแรกคือจ้างแรงงานชาวนาที่ต้องหยุดทำนาปรัง 2 แสนครัวเรือน เพื่อช่วยเหลือด้านรายได้ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวนาในเขต อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะใน ต.ไผ่ล้อม และ ต.พระแก้ว ซึ่งต้องอาศัยน้ำจากคลองหนึ่งซ้ายซึ่งต้องรับน้ำมาจากคลองระพีพัฒน์ แต่ปัจจุบันปรากฏว่า น้ำในลำคลองมีน้อย ขณะที่นาปรังจำนวนหลายพันไร่ กำลังต้องการน้ำเพื่อการเจริญเติบโต ทำให้ชาวนาในพื้นที่ต่างแย่งกันสูบน้ำโดยเฉพาะแปลงนาต้นคลอง จนทำให้แปลงนาที่อยู่ท้ายคลองสูบน้ำได้ไม่ทัน
นายประสงค์ วงษ์มาก อายุ 71 ปี อยู่บ้านเลขที่ 5/1 หมู่ 2 ตำบลไผ่ล้อม เปิดเผยว่า ตนเองทำนา 130 ไร่ และปีนี้ภัยแล้งมาเร็วกว่ากำหนด และพวกเราเพาะปลูกข้าวก่อนมีประกาศงดส่งน้ำ ซึ่งปัจจุบันลำคลองสาขาไม่มีสภาพพร้อมจะส่งน้ำ เพราะระดับท้องก้นคลองไม่ลาดเอียง และน้ำไม่ไหลไปท้ายคลอง เมื่อชาวนาต้นคลองเร่งสูบน้ำ ชาวนาท้ายคลองจะขาดแคลนน้ำทันที