- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 31 October 2014 09:42
- Hits: 2769
วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลา 21:33 น. ข่าวสดออนไลน์
รู้จัก'จรรยา ยิ้มประเสริฐ' ผ่าน 'บ้านเปิดใจ'และวิถีเกษตรอินทรีย์ อีกบทบาทของนักประท้วงคสช.
หลายคนคงเพิ่งรู้จักกับ‘จรรยา ยิ้มประเสริฐ’ ในฐานะแกนนำต่อต้านรัฐบาลคสช. ในบทบาทการถือป้ายประท้วงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางไปประชุมอาเซม ที่กรุงมิลาน ประเทศอิตาลี ระหว่าง 16-18 ต.ค.ที่ผ่านมา
แต่ใครจะรู้ว่านอกจากบทบาททางการเมืองแล้ว จรรยา ยังเป็นเอ็นจีโอที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับปัญหาแรงงานอย่างเอาจริงเอาจัง ต่อเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ปี 2535
ทั้งนี้ ยังผู้บุกเบิกโครงการ ‘บ้านเปิดใจ’ ที่จ.เชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายสร้างวิถีชีวิตชุมชนเกษตรกรรม ให้ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง
แม้โครงการนี้จะต้องหยุดชะงักลงเพราะเหตุผลทางการเมือง แต่ก็ยังเป็นโครงการที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ซึ่งจรรยา เองก็เขียนถึงโครงการบ้านเปิดใจของตัวเองไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
***********
บ้านเปิดใจ
การสร้างฝันกับวิถีชีวิตเศรษฐกิจอินทรีย์
จรรยา เล็ก ยิ้มประเสริฐ
********
ที่มา บล็อกจรรยา
ความเป็นมาของการสร้างฝันนักกิจกรรมกับวิถีชีวิต 'เศรษฐกิจอินทรีย์'
การเติบโตมาจากครอบครัวเกษตรกรรมสำหรับเล็กคือความได้เปรียบ- ทำให้ตัวเองไม่รู้สึกแแปลกแยกจากวิถีเกษตรกรรมและอยู่ห่างไกลจากธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง
แม้ว่า วิธีการทำเกษตรกรรมของครอบครัวเล็ก จะเป็นไปตามแนวทางการส่งเสริมการทำเกษตรกรรมแบบปฏิวัติเขียวตามพิมพ์เขียว ของธนาคารโลกเช่นเดียวกับเกษตรกรทั่วโลกในยุคทศวรรษ 2500 และ 2510 แต่ครอบครัวเกษตรกรรายย่อยเช่นเรา ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้จากรายได้จากการขายพืชผลเพียงลำพัง ต้องพึ่งพาอาศัยอาหารทั้งจากการเพาะปลูกและจากการเก็บหาตามฤดูกาลธรรมชาติ
เมื่อเราทำไร่ข้าวโพด ไร่ฝ่ายหรือมันสำปะหลัง บนพื้นที่สูง ครอบครัวเราต้องอาศัยอาหารจากป่าเขาที่อยู่รายรอบ และจากการเพาะปลูกพืชผลที่ปลูกได้ในบริเวณรอบๆ บ้านพักของเรา
เมื่อเราย้ายกลับไปยังที่ลุ่มเพื่อทำ นาปรัง หลังจากขาดทุนซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับพืชพาณิชย์ เราต้องซื้อผักและอาหารเยอะขึ้น แต่เรายังสามารถจับปลา หรือช้อนกุ้งฝอยได้ตามฤดู และนำมาทำอาหารสดหรือนำมาถนอมอาหารเป็นปลาร้าหรือกะปิไว้กินได้ทั้งปี
ตอนเด็กๆ เราทุกคนรอคอยฤดูกาลต่างๆ อย่างใจจดจ่อ เฝ้ารอคอยว่าตาลสุกจะร่วงหล่นจากต้นสูง 20 เมตร เมื่อไร? พอได้ยินเสียง "ตุบ" เราเด็กๆ จะพากันได้วิ่งไปดู และคนแรกที่ไปถึง ก็จะได้ตาลหอมกรุ่น ร่วงจากต้นใหม่ๆ กลับบ้านเอาไปให้แม่หรือพี่สาวใช้ทำขนมตาลแสนอร่อยนานาชนิดชนิด
ในช่วงข่าวออกรวงใหม่ๆ ไม่ใช่ว่าทุกบ้านจะรู้จักการทำ 'ข้าวยาคู'จากนมข้าวอ่อน สำหรับเล็กแล้วมันเป็นขนมหวานที่แสนอร่อยราวกับเป็นขนมจากสวรรค์ทีเดียว
ยามฤดูข้าวเมล็ดเต่ง จวนจะเก็บเกี่ยวได้ ยามโพล้เพล้หรือคืนเดือนกระจ่าง เรายังจับกลุ่มกันทำ ‘ข้าวเม่า’ โดยมีแสงจันทร์ แสงเทียน และแสงจากตะเกียงน้ำมันก๊าซช่วยส่องแสง พวกเรา ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ช่วยกัน แม้ว่าจะใช้เวลาค่อนข้างนาน ที่ต้องนวดข้าว คั่วข้าวอ่อนบนไฟต่ำ ช่วยกันตำในครกไม้ใบใหญ่ และกวัดเปลือกข้าวทิ้ง ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งก็จะช่วยกันปลอกและขูดมะพร้าว เพื่อนำไปคลุกกับข้าวเม่า
ความสด ใหม่ และหอมกรุ่นด้วยกลิ่นฟืน กลิ่นข้าวใหม่ และกลิ่นมะพร้าวอ่อน ที่เหยาะด้วยน้ำตาลทราย ก็ทำให้ค่ำคืนแห่งกิจกรรมง่ายๆ นี้มันสนุกและอร่อยเสียจริง
นั่นก็เป็นความโรแมนติกเล็กๆ ที่แทบจะไม่เหลือความทรงจำในหมู่ผู้คนรุ่นใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีฤดูกาลที่มีความสวยงามแห่งฤดู แต่ตลอดทั้งปี ครอบครัวเราต้องอยู่กับความตึงเครียดและฝันร้ายของวงจรหนี้สินอันไม่หยุด หย่อน เราไม่เคยมีเวลาหยุดเพื่อตั้งข้อสงสัยเลยว่า ทำไมเราถึงไม่มีเงิน หรือทำไมราคาข้าวหรือพืชไร่ถึงได้ต่ำเช่นนี้ หนี้สินของครอบครัวก็พอกพูนขึ้นทุกปี และเราก็ไม่เคยปลอดหนี้เลย ?
ชีวิตของเล็ก ลูกเกษตรกร เปลี่ยนไปเมื่อเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย
ทั้งในช่วงอยู่มหาวิทยาลัยและเมื่อจบออกมาแล้ว เล็กเข้าร่วมกิจกรรมออกค่ายอาสาและเดินทางไปตามหมู่บ้านที่ยากจนในกว่า 60 จังหวัดทั่วประเทศไทย
การเดินทาง นอนหมู่บ้าน ฟังปัญหาชาวบ้าน ทำให้ได้รับฟังทุกข์สุขของชาวบ้าน ตลอดจนได้เรียนรู้ (ซึ่งมาสู่แรงบันดาลใจว่าสักวันจะต้องกลับคืนสู่วิถีเกษตรกรที่สร้างความ มั่นคงให้กับตัวเองเรื่องอาหาร) เมื่อได้ฟังเรื่องราวหลายเรื่องเกี่ยวกับชาวนา คนท้องถิ่น ชาวประมง คนที่ตัดสินใจกลับไปทำเกษตรและใช้วิถีชีวิตพึ่งพาตนเอง หลังจากพบว่าความพยายามทำการเกษตรเพื่อการค้านั้นล้มเหลว มีแต่หนี้สินและความตึงเครียด
หลายครอบครัวที่ประสบ ความสำเร็จกับการเปลี่ยนวิถีชีวิตจากเกษตรเคมีเพื่อการค้ามาสู่เกษตร ธรรมชาติลดการพึงพิงตลาด มักจะเป็นคนที่ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย บนความเข้าใจหลักธรรมของศาสนา ไม่ว่าจะพุทธ อิสลามและคริสต์ และมีความเชื่อมั้นในหลักการเดียวกันแห่งการดำรงชีวิตบนความเคารพในความหลาก หลาย ที่สมดุลกับธรรมชาติ และไม่เอาเปรียบชีวิตอื่น
ปราชญ์ชาวบ้านหลายท่าน กล่าวว่า การทำงานหนักหรือทำงานและมีความสุขไปด้วยบนพื้นดิน ควรจะเป็นสิ่งเดียวกัน แม้ว่าการทำงานมากขึ้นของเกษตรกรอาจจะหมายถึงการมีเงินมากขึ้น แต่โดยทั่วไปแล้วมันยังหมายถึงการมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้นอีกด้วยเช่นกัน
พร้อมกับบอกว่า เมื่อพวกเขาตัดสินใจทำเกษตรแบบธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน หรือทำเกษตรไร่นาป่าผสม ฯลฯ แล้วแต่จะเรียกกัน เขาอาจจะทำงานหนักอยู่ แต่ก็มีความสุขมากกว่าเดิม เพราะว่าไม่ต้องตึงเครียดกับการเป็นหนี้ที่เกินตัว และต้องเสี่ยงเสียสุขภาพจากกับสารเคมี หรือยาฆ่าแมลง และที่ดินก็ไม่ถูกทำลายจากปุ๋ยและยาฆ่าแมลงต่างๆ อีกด้วย
สิ่งที่เล็กได้เรียน รู้จากปราชญ์ชาวบ้านเหล่านี้คือ ความกล้าหาญในการกล้าเปลี่ยนแปลงและแตกต่าง รวมทั้งมีองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือพื้นบ้าน และที่สำคัญการไม่เสพติดหรือติดกับดักวิถีบริโภคนิยม จะทำให้การหันเหทิศทางการดำเนินชีวิตจากการพึงพิงเงินจากการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อการค้าแล้วซื้อทุกอย่าง ไปสู่การทำเกษตรแบบพึ่งพาตนเองที่ผลิตอาหารและสิ่งของจำเป็นใช้เองได้ สำเร็จ
กระนั้นเมื่อได้ศึกษา บทเรียนทั้งจากประเทศไทยและในอีกหลายประเทศต่อมา เกษตรกรที่อยู่ด้วยวิถีชีวิต "เศรษฐกิจอินทรีย์" จะต้องใช้เวลามากกว่าสิบปีก่อนที่พวกเขาจะ'พึ่งพาตนเอง'ได้มากที่สุดในเกือบทุกด้าน
แม้ว่า วิถีการทำงานและ การดำเนินชีวิตในเมืองหลวงของเล็กจะห่างไกลจากวิถีพึ่งตนเอง และอุทิศเวลาให้กับการต่อสู้เพื่อสิทธิความเท่าเทียมให้กับคนทำงานต่าง ประเทศและคนงานจากต่างชาติที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ร่วมเรียกร้องการคุ้มครองและความมั่งคงใหักับคนงานอุตสาหกรรม รวมถึงต่อสู้กับบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ภายใต้วิถีเสรีนิยมใหม่
แต่เมื่อได้ร่วมประชุม ชุมนุม และไปเยียนเยียนพูดคุยกับคนงาน ชาวบ้าน นักกิจกรรมและนักสหภาพแรงงานมากมาย ทั้งในประเทศไทยและในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก เล็กก็เริ่มสงสัยมากขึ้นเรื่อยว่า คนไทยและประชากรโลก 80% จะสามารถบรรลุข้อเรียกร้องของพวกเขา/พวกเรา เพื่อให้ได้รับสวัสดิการทางสังคมขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมจากรัฐบาล ซึ่งอุทิศตนหรือมีสัมพันธ์แนบชิดกับแนวทางตลาดเสรีนิยมใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ได้อย่างไร??
สิ่งที่เราเห็นคือใน ช่วงยี่สิบที่ผ่านมา คือ ประชาชนในโลกเหนือที่ได้รับการคุ้มครองทางสังคมตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องต่อสู้อย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อยับยั้งไม่ให้รัฐบาลของพวกเขา ลดทอนหรือยกเลิกสวัสดิการสังคมที่สร้างหลักประกันแห่งความมั่นคงต่อชีวิตและ อนาคตของพวกเขา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐต้องจัดหาให้พลเมืองของตนเอง
อืม! ขอพูดในประเด็นนี้เพียงเท่านี้ เพราะเป็นเรื่องที่เราท่านต่างก็ทราบและตระหนักกันดีอยู่แล้ว
ท้ายนี้ ขอกล่าวจบสั้นๆ ว่า เราต้องมีการปลี่ยนผ่านที่ยิ่งใหญ่ และ ‘ความมั่งคงและอธิปไตยทางด้านอาหาร’ คือ คำตอบที่สำคัญหนึ่งของโลกยุคนี้ ที่สภาวะโลกร้อนยังเป็นปัจจัยที่สำคัญหนึ่ง ที่บีบเร่งให้เราต้องทบทวนการใช้ชีวิต และหวนกลับไปสู่การดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ลดการบริโภคอย่างฟุ้มเฟือย คืนความสมดุลให้ธรรมชาติ และร่วมกันอนุรักษ์ ความหลากหลายทางระบบนิเวศน์และธรรมชาติ
แรงบันดาลใจมาสู่การสร้างบ้านเปิดใจเพื่อวิถีชีวิต'เศรษฐกิจอินทรีย์'
โครงการ 'บ้านเปิดใจเพื่อวิถีชีวิตเศรษฐกิจอินทรีย์'ไม่ใช่ความพยายามแรกของเล็ก ที่จะเดินตามความฝันที่จะใช้ชีวิตบน ‘การทำเกษตรเพื่อการพึงตนเอง’ มันอยู่ในความคิดฝันตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และได้เริ่มทดลองทำตามความฝันครั้งแรกตั้งแต่ปี 2540 แต่มันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะไร้ประสบการณ์ เงินทุน และความไม่พร้อมหลายด้าน
ซึ่งมันก็แสดงให้เห็นว่าการทำความฝันให้เป็นจริงนั้น ต้องการกว่าแค่การมีความฝัน และนี่คือบทเรียนอันมีค่าที่ได้เรียนรู้
กระนั้น ความคิดเรื่องการพึ่งพิงตนเองไม่ใช่ทฤษฎีใหม่ -มันเป็นการใช้ชีวิตแบบบรรพบุรุษของเราที่สังคมอุตสหกรรมที่ได้ทำลายไป?
พื้นฐานการเลี้ยงดู การศึกษาและประสบการณ์การทำงานของเล็กทำให้รับรู้ว่าคนยากจนและชาวนาหลาย คนในประเทศไทยรวมไปถึงประเทศทางใต้รู้สึกเจ็บปวดมากแค่ไหนจากสินค้าราคาที่ ผลิตจากโรงงาน โดยผู้ผลิตระดับล่างและถูกส่งไปขายทั่วโลก โดยเครือข่ายบริษัทเหล่านี้ได้รับการยกเว้นภาษีอย่างมหาศาล และสนับสนุนโดยรัฐบาลคอรัปชั่นที่มีนโยบายสนับสนุนแนวคิดการส่งออก??
ปรากฎการณ์ที่ผู้ผลิตไม่ใช่ผู้บริโภคกลายเป็นผลสะท้อนที่กินวงกว้างขึ้นทั่วทุกมุมโลกและในทุกอุตสาหกรรม รวมถึงในอุตสหกรรมอาหารที่คนงานผู้ผลิตอาหารกลับอดอยาก?
แม้แต่ในบ้านเกิดของเล็ก ซึ่งเป็นอู่ข้าวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พี่น้องต่างพากันขายข้าวคุณภาพต่ำ เต็มไปด้วยสารเคมีเพื่อซื้อ ‘ข้าวหอมมะลิ’ จากภาคอีสาน จะมีอะไรที่ตลกร้ายไปกว่านี้อีกมั้ย? ยังมีความรักหลงเหลืออยู่ในการทำเกษตรมากน้อยแค่ไหน นอกจากการนั่งนับว่าตนเองทำเงินได้มากเท่าไรต่อปีจากนาข้าว?
นาข้าวในที่ราบลุ่มทั้งหมดซึ่งครอบคลุมหลายจังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย ณ ยามนี้ เต็มไปด้วยสารพิษจากปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และสารเคมีเกษตรต่างๆ ฤดูน้ำหลาก ก็ช่วยแพร่กระจายสารพิษเหล่านี้ ออกไปจากนาข้าวสู่แหล่งน้ำและแม่น้ำทุกสาย ตลอดลำน้ำท่าจีนตอนนี้ เน่าเสีย และมีเด็กไม่กี่คนที่ยังคงเล่นน้ำ ในสภาพแม่น้ำเน่า นิ่งสนิท และตื้นเขิน เต็มไปผักตบชวา และ ‘หอยเชอร์รี่’ ซึ่งแพร่กระจายจากนาข้าวไปสู่แม่น้ำ เป็นปัญหาเรื้อรังที่ยากจะกำจัดให้หมดไปได้?
และนี่คือคำอธิบายว่า โครงการบ้านเปิดใจกับการใช้ชีวิตวิถี "เศรษฐกิจอินทรีย์ (Open Heart Organic Home) เริ่มต้นขึ้นอย่างไร ความปรารถนาอันยาวนานที่จะกลับไปอยู่กับธรรมชาติและสร้างสรรค์งานอย่างอิสระ และเสรี แม้มันจะเป็นการตัดสินใจที่รวดเร็ว แต่การจะทำให้โครงการกลายเป็นความจริง ก็มาจากการบ่มเพาะความฝัน การศึกษามาอย่างยาวนาน เพื่อจะทำให้เราเป็นอิสระมากขึ้นจากวิถีชีวิตที่อยู่ภายใต้การควบคุมและ บงการของอำนาจทุนนิยมอย่างเบ็ดเสร็จ
เป็นความฝันที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทฤษฎีเท่านั้นอีกต่อไป!
ความหวังและความใฝ่ฝัน
เป้าหมายของบ้านเปิดใจ คือบ้านที่พักพิงอันสงบเงียบ สันติสุข และพึ่งพิงตัวเองทั้งเรื่องพลังงานทางเลือก พลังงานที่เหมาะสม และอาหารอินทรีย์ (อาหารปลอดสารพิษ) รวมทั้งผลิตสิ่งของจำเป็นต่างๆสำหรับบริโภคภายในครัวเรือนเอง และท้ายที่สุดสามารถสร้างรายได้เพื่อใช้จ่ายในด้านความจำเป็นพื้นฐานต่างๆ ได้จากผลิตผลและฝีมือของผู้อยู่อาศัย
แผนปฏิบัติการ
เพื่อใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และปลอดสารพิษให้มากที่สุด บ้านเปิดใจมีพื้นที่เพียงสองไร่ครึ่ง พื้นที่ขนาดนี้ไม่สามารถทำอะไรสลับซับซ้อนมากไปกว่านี้
ปลายปี 2549 กู้เงินจากเพื่อนๆ และญาติเพื่อซื้อที่ดินสองไร่ครึ่งในวงเงินห้าแสนบาท และวางแผนกู้เงินเพื่อสร้างที่พักอาศัย
กลางปี 2550 ได้รับอนุมัติเงินกู้จากธนาคารห้าแสนบาท เริ่มสร้างอาคารสำหรับการใช้สอยต่างๆ ทั้งที่พักอาศัย กระท่อมแขก เรือนสำหรับประชุมกลุ่มย่อยๆ
โดยทันที เริ่มลงมือปลูกไม้ผล พืชสมุนไพร และพืชผักต่างๆ ในปี 2551 เราเล่นเกม์กับเด็กๆ ให้ช่วยสำรวจว่าในพื้นที่สองไร่นั้นว่า มีพืช ผัก ผลไม้ ไม้ดอกกี่สายพันธุ์ ปรากฎว่าที่เรารู้จักชื่อมีถึง 80 สายพันธุ์ และมีอีกกว่า ห้าสิบกว่าสายพันธุ์ที่เราไม่ทราบชื่อ
ผลักดันแนวชีวิตไปสู่การพึ่งพิงตนเองได้ในเรื่องความจำเป็นภายในครัวเรือน รวมถึงน้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร และพลังงานไฟฟ้า
เพื่อสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค และจากการแปรรูปหรือถนอมอาหารจากผลิตภันฑ์ที่มาจากบ้าน และจากเกษตรกรวิถีอินทรีย์รายอื่นๆ
เพื่อเป็นแหล่งพักพิงสำหรับมิตรสหายและนักกิจกรรม / นักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ต้องการเยียวยาตนเองจากความเหนื่อยล้าอ่อนแรงในด้านต่างๆ
เพื่อศึกษาทดลอง ความเป็นไปได้ถึงความเป็นไปได้ของความมั่นคงทางอาหารในยุคสมัยแห่งวิกฤตการ เงินระดับโลกและยุคแห่งผลกระทบอันรุนแรงของภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง
ไร่เปิดใจได้ก้าวเข้าสู่ปีที่หก
ไร่แห่งนี้ได้ประสบความสำเร็จในด้านใดบ้าง?
พฤศจิกายน 2549: เจรจาซื้อที่ดินสองไร่ครึ่งด้วยเงิน (มัดจำขั้นต้นเพียงประมาณสามหมื่นบาทด้วยเครดิตการ์ดของตนเอง และสำเร็จได้ในท้ายสุดด้วยอีกครึ่งล้าน(บาท) จากเงินยืมจากครอบครัวและมิตรสหาย
ธันวาคม 2549: เริ่มก่อสร้างบ้านและปลูกไม้ผลและพืชผักพันธุ์ต่างๆ รวมถึงไม้ดอกไม้ประดับบางส่วน
2550 ระหว่างการสร้างบ้าน เราก็ลงมือปลูกไม้ผล ที่เราชอบไปพร้อมๆ กับพืชผัก สมุนไพร และไม้ดอกไม้ประดับจนเต็มสวน
มกราคม เชิญน้องๆ ใน TLC มาประชุมสรุปงานและวางแผนงานประจำปีที่ไร่ ในขณะที่การก่อสร้างยังดำเนินต่อไป และในปีนี้ก็ยุติชีวิต บ้านเช่าที่กรุงเทพฯ ขนย้ายมายังป้านเปิดใจ ยุติการใช้ชีวิตในเมืองหลวงที่ดำรงมานับตั้งแต่ปี 2533 หวนคืนกลับสู่รากเหง้าของตนเอง สู่วิถีชีวิตบนพื้นดินในชุมชนบ้านป่า
มีนาคม ด้วยการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ธนาคารได้อนุมัติเงินกู้จำนวนห้าแสนบาท เงินทั้งหมดนี้ได้ถูกใช้ไปในการก่อสร้างบ้านและสวนพืชผลต่างๆ
เมษายน ติ๊กมาช่วยดูแลบ้าน ครึ่งเวลา คุณแม่วัยสาวลุยเดี่ยวที่ลูกตามลำพัง ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับไร่เปิดใจ เพราะเจ้าของไร่มักไม่ได้อยู่บ้านและจำเป็นต้องมีผู้ดูแล
มิถุนายน การก่อสร้างที่ต้องใช้ช่างยุติลง เหลือการเก็บงานเล็กๆ น้อยๆ พร้อมกับสภาพบ้านที่ไม่สมบูรณ์ และมีปัญหาสร้างหลังคาไม่ดี ทำให้รั่วหลายจุด เป็นปัญหามาจนถึงปัจจุบัน ของนักสร้างบ้านที่ไม่รู้เรื่องช่างเลย
ณ ขณะนี้ ไร่เปิดใจสามารถผลิตสมุนไพรและพืชผักได้หลากหลายชนิดแล้ว
ตุลาคม แอร์ ศิลปินพื้นบ้าน และพรานป่าที่เก่งกาจ มาร่วมทดลองวิถีเกษตรอินทรีย์ว่าทำได้ไหมในพื้นที่จำกัด ต้องสู้รบตบมือกันตอนแรกเรื่องการไม่ใช้สารเคมี และร่วมกันเรียนรู้เทคนิคและวิถีเกษตรอินทรีย์
ธันวาคม หลังจากการติดตามหน่วยงานโทรศัพท์หลายครั้ง เราก็มีสายโทรศัพท์และต่ออินเตอร์เน็ตได้ ไชโย!
2551 : เริ่มมีผลผลิตจากบ้านที่ขายได้บ้างนิดหน่อย เช่น สมุนไพร เริ่มทำการถนอมอาหารเช่นกล้วยตาก และมะม่วงกวน
เริ่มส่งผลผลิต เข่นสมุนไพร ไปขาย เริ่มทำการถนอมอาหารเช่นกล้วยตาก และแยมมะม่วง
สร้าง “กระท่อมนักอ่าน” เป็นห้องสมุดเล็กๆ ที่ทางเข้าตัวบ้าน เพื่อเด็กๆและชาวบ้านที่สนใจในการอ่าน
27 มกราคม เปิด "กระท่อมนักอ่าน"
ชวนกันสร้างโรงเพาะชำ : เริ่มเพาะพืชสมุนไพร อาทิ ชาเจียกู่หลาน หญ้าหวาน - หญ้าหวานเติบโตเร็วมาก และเริ่มนำรายได้มาสู่บ้าน และเจียกุ่หลานเป็นชาที่ปลูกยากพอสมควร
ปีนี้เราปลูกพืชผักทั้งปี ทั้งผักสลัดระยะสั้น เริ่มลงแครอท เรดดิช ถั่วฝักยาว พริกนานาชนิด สลัดหลากหลายชนิด รวมทั้งฟักทอง ถั่วลิสง น้ำเต้า บวบ และขยายพันกะทกรก เป็นต้น
ปี 2551 : เป็นปีที่มีกิจกรรมที่ไร่เปิดใจตลอด และผลผลิตจากไร่ได้ดีเกือบทุกตัว ปัญหาเรื่องน้ำยังไม่วิกฤติเท่าปีต่อๆ มาก เริ่มทดลองทำตระกร้าผักไปส่งยังบ้านเพื่อนๆ
มิถุนายน - สิงหาคม: Frankie กับ Greg จากสหรัฐฯ มาเป็นอาสาสมัครทดลองทำไร่ และสอนภาษาอังกฤษให้กับชาวบ้าน พวกเราช่วยกันคิดวิธีที่จะทำกลุ่มเกษตรกรออแกนิกส์เล็กขึ้นมาก แต่ชั้นเรียนภาษาอังกฤษก็มีคนสนใจเยอะ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน และหมู่บ้านข้างเคียง ...
ในระหว่างนี้เราได้ทำงานกับเกษตกรออแกนิกส์ ทั้งไท พ่อแก้ว และเก่ง เพื่อศึกษาทำความเข้าใจกับตลาดออแกนิกส์ที่เชียงใหม่ และหนทางที่เราจะรวมกลุ่มกันผลิตและขาย เพื่อให้พวกเราอยู่กันได้ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะการวางระบบตระกร้าผักแบบหลายประเทศในยุโรป
เป็นกิจกรรมที่ทำกันด้วยงบประมาณเล็กๆ จึงไม่สามารถต่อเนื่องได้ เพราะไม่มีงบประมาณในการจัดทำต่อ
ช่วงนี้น้ำหมักชีวภาพได้ผลมาก และผลิตภัณฑ์จากบ้านก็มีเยอะมากขึ้น
2552 : วิกฤติน้ำ ช่วงปีใหม่ เราจัดเทศกาลหนังนานาชาติที่ลำพูน เชียงใหม่ และบ้านเปิดใจ
มีนาคม : เริ่มทำน้ำหมักจากบ้าน ทั้งมะกรูด ข่า ใบเมี่ยง
เมษายน : ตัดสินใจขยายบ่อน้ำที่ท้ายไร่ เพื่อเก็บกักน้ำ หลังจากปัญหาแย่งน้ำเพื่อเกษตรเป็นเรื่องใหญ่ในชุมชน ขุดร่องระบายน้ำทิ้งจากครัว ห้องน้ำ และเครื่องซักผ้าลงแปลงผัก และพื้นที่สวน
มีนาคม - สิงหาคม : เดินสายนำเสนอปัญหาแรงงานในหลายประเทศในยุโรป เนเธอแลนด์ เบลเยี่ยม อังกฤษ ฝรั่งเศส และฟินแลนด์
กรกฎาคม : เริ่มใช้น้ำหมักในการทำน้ำยาล้างจาน และน้ำยาซักผ้าใช้เอง - นับตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้ซื้อน้ำยาล้างจานและน้ำยาซักผ้าอีกเลย
ตุลาคม : ต้อนรับคณะจากคณะกรรมการหญิงแห่งเอเชีย ที่มาใช้บ้านเปิดใจเป็นสถานที่ประชุม
พฤศจิกายน : ตัดสินใจรื้อฝาบ้านชั้นในออกทั้งหมด เพราะมีช่องให้หนูเข้ามาทำรังได้ (บทเรียนจากการคิดเรื่องบ้านแบบไม่เข้าท่า ที่สร้างเพื่อเอาความสวย แต่ลืมนึกถึงหนู! (ฮา)
ต้อนรับนักกิจกรรมหญิง 18 คน จาก 3 ประเทศในอินโดจีน มาเรียนรู้เกี่ยวกับกิจกรรมการพัฒนาผู้หญิงที่ภาคเหนือของประเทศไทย และเรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง การใช้ชีวิตออแกนิกส์ รวมทั้งสะท้อนและวางแผนการทำงาน ได้รับความร่วมมือจาก Asia Healing Art Center ที่มาช่วยแนะนำเกี่ยวกับเรกิ และการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง
รวมทั้งพากันศึกษาดูงานเกี่ยวกับเกษตรออแกนิกส์ กิจกรรมเศรษฐกิจของกลุ่มแม่บ้าน และพูดคุยกับ sex workers ที่เชียงใหม่ รวมทั้งสอนการทำสบู่ด้วยน้ำหมักชีวภาพ
ซึ่งกิจกรรมการศึกษาดูงานแบบนี้ บ้านเปิดใจสามารถพัฒนาเป็นกิจกรรมสร้างรายได้เข้าบ้าน และใช้สถานที่ให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มองค์กรที่สนใจต่างๆ ได้
2553 - เริ่มผลิตสบู่จากน้ำหมัก
เผชิญปัญหาวิกฤตน้ำแล้งอย่างหนักทั้งเพื่อนบ้านและบ้านเปิดใจ ไม่มีน้ำรดผักในหน้าแล้ง .. เพื่อนบ้านจ้างคนขุดบาดาลลึกนับร้อยเมตรจากผิวดินก็ไม่เจอแหล่งน้ำ
พวกเราตัดสินใจเดินท่อน้ำระยะทาง 400 เมตรจากบ่อน้ำในหมู่บ้าน แต่ก็ตัดสินใจไม่ใช้ เพราะมันสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าและค่าจัดการมากเกินไป
กว่าจะมาเป็นภาพนี้ มีเบื้องหลังหลายสิบชีวิต ช่วยกันรื้อ ช่วยกันปลูก ช่วยกันสร้าง และช่วยกันดูแล
ปัญหาและอุปสรรค์
งานของเล็ก เจ้าของบ้าน มีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ และต้องเดินทางตลอดเวลาทั้งในประเทศไทยและไปยังต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถลงแรงและเวลาไปกับไร่ได้อย่างเต็มที่เหมือนเกษตรกรทั่วไป งานพัฒนาและทดลองจึงขึ้นอยู่กับสองแรงแข็งขันที่ช่วยดูแล ทั้งแอร์ และติ๊ก ที่ต้องเรียนรู้ไปด้วยกันว่าวิถีเกษตรไม่ใช่สารเคมีมันสามารถทำได้
ทุนเริ่มต้นที่สูง และเป็นทุนเงินกู้ ทั้งจากธนาคารและจากเพื่อนฝูง ทำให้เป็นอุปสรรค์สำคัญในการที่ไม่สามารถลงแรงทางการเงินเพื่อการพัฒนาไร่ ได้เต็มที่ และต้องหางานพิเศษต่างๆ ทำเพื่อหารายได้เพิ่มเติมมาจ่ายหนี้สิน
ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ เนื่องจากเป็นพื้นที่สูง อยู่ท้ายหมู่บ้านไม่มีระบบชลประทานน้ำเพื่อการเกษตร ทำให้การปลูกผักในช่วงฤดูแล้งเป็นปัญหาใหญ่มาโดยตลอด และการพยายามคิดค้นเรื่องการมีแหล่งน้ำต่อเนื่องเป็นความท้าทายของบ้านเปิดใจ
การจะปฏิบัติตามทฤษฎีแห่งการพึ่งตนเองบนวิถีเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ เล็กๆ จะต้องใช้ความเข้มแข็งทางกำลังและจิตใจเป็นอย่างมาก และต้องมีปัจจัยแวดล้อมหลายอย่างที่เอื้อ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนวิถีการบริโภค "ซื้อน้อยลง บริโภคจากผลิตผลของตัวเองให้มากขึ้น และผลิตสินค้าที่จำเป็นด้วยตัวเองมากขึ้น" ไม่ใช่แค่เรื่องอาหารเท่านั้น แต่ของจำเป็นสำหรับการใช้สอยประจำวันต่างๆ ด้วย และการจะส่งผลสำเร็จเป็นเรื่องของระยะเวลา
ผลกระทบทางการเมือง
24 เมษายน 2553 เล็กเดินทางมาเปิดตัวสารคดี "วิกฤติบลูเบอร์รี่ 2552" ที่สวีเดน และเดินสายนำเสนอปัญหาแรงงานและร่วมประชุมในหลายประเทศ
และเมื่อ เห็นความรุนแรงแห่งการปราบปรามประชาชนบนท้องถนนในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 เล็กได้รณรงค์เรียกร้องให้ทหารยุติการใช้อาวุธกับประชาชนและเขียนบทความหลาย ชิ้นเกี่ยวกับเมืองไทย ซึ่งส่งผลให้ตัดสินใจอยู่ต่างประเทศ เพื่อทำการรณรงค์เรื่องประชาธิปไตย และเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นในประเทศไทยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
บ้านเปิดใจปี 2554
ยังคงรอคอยเจ้าของและผู้ที่จะเข้าไปสานฝันต่อ
***************
หมายเหตุ : บ้านเปิดใจ เป็นความฝันของนักเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อชีวิตที่พึ่งตนเองและเป็นอิสระด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหารตามแนว “ทฤษฎีทางเศรษฐกิจอินทรีย์และเกษตรไร้สารพิษ” แต่ก็ต้องอาศัยเวลานานกว่าไร่แห่งนี้ (ที่ต้องพึ่งพิงการว่าจ้างผู้ช่วยสองคน) จะสามารถสร้างรายได้จากผืนดินและผลผลิตของตนเองสำหรับผู้อยู่อาศัย
การทดลองนี้เป็นไปเพื่อดูว่าการพึ่งพิงตนเองในระดับจุลภาค (ครอบครัวเกษตรกรรายย่อย) นี้จะเป็นไปได้หรือไม่ ถ้าพวกเขาไม่มีเงินทุนมากนัก และไม่ได้ตกเป็นหนี้สินล้นพ้น สำหรับเกษตรกรรายย่อยที่เป็นหนี้จำนวนมากการจะส่งเสริมให้พวกเขาหันเหสู่ ชีวิตที่ลดการกดดันทางหนี้สินและเศรษฐกิจและพึ่งตนเอง ควรมีการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบในเรื่องนี้ก่อนเพื่อสนับสนุนกระบวนการเกษตร อินทรีย์ในองค์รวมได้
อย่างไรก็ตาม ไร่เล็กๆ เช่นบ้านเปิดใจนี้ สามารถเป็นสถานที่ซึ่งรวมแนวทางวิถีชีวิตเศรษฐกิจอินทรีย์ ที่สอดคล้องกับการเป็นพื้นที่เปิดเพื่อการสร้างสรรค์งานศิลป์ ทั้งงานเขียน หรือการสร้างงานศิลป์และสื่อในรูปแบบอื่น ที่มุ่งเพื่อการสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมในสังคม และเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน