- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 27 December 2020 12:50
- Hits: 9355
ชลประทานเร่งสรุปผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทมเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดยโสธรและจังหวัดอำนาจเจริญ
กรมชลประทานเผยโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทม จังหวัดยโสธร จะสามารถแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วม ช่วยให้ประชาชน ในตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร และตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ รวมพื้นที่รับประโยชน์กว่า 7,750 ไร่
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พื้นที่อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธรและพื้นที่ข้างเคียง ประสบกับแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและมักได้รับความเสียหายเนื่องจากอุทกภัย จึงได้มีโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทมเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่มีแหล่งเก็บกักน้ำไว้สำหรับใช้อุปโภค-บริโภค และการเพาะปลูกพืชเกษตรกรรม ตลอดจนสัตว์เลี้ยงด้วย
สำหรับพื้นที่ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากโครงการมีประมาณ 7,720 ไร่ โดยฝั่งขวาจะครอบคลุมพื้นที่หมู่ที่ 11
และหมู่ที่ 17 บ้านน้อมเกล้า ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ส่วนฝั่งซ้ายครอบคลุมหมู่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านนาเจริญ และหมู่ที่ 12 บ้านคำเดือยกลาง ตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทมมีพื้นที่ชลประทาน จำนวน 6,860 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ 2 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ชลประทานฝั่งขวา จำนวน 2,786 ไร่ เป็นเนินเขาสูงต่ำสลับกันเป็นลูกคลื่น ฉะนั้นการส่งน้ำให้แก่พื้นที่จึงออกแบบเป็นระบบท่อส่งน้ำ และพื้นที่ชลประทานฝั่งซ้าย จำนวน 4,074 ไร่ ที่สภาพค่อนข้างราบมีลำน้ำขนาบทั้งสองข้าง ซึ่งสามารถจะส่งน้ำด้วยระบบคลองหรือระบบท่อ และจากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบแล้วพบว่า หากออกแบบเป็นคลองเปิดจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียงตามแนวคลองค่อนข้างมาก จึงเสนอออกแบบเป็นระบบท่อส่งน้ำเพราะจะคุ้มค่ามากกว่า และสามารถวางท่อไปตามแนวถนนได้
ทั้งนี้ หัวงานเขื่อนตั้งอยู่บริเวณบ้านน้อมเกล้า หมู่ที่ 11 ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
องค์ประกอบของโครงการครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 1,760 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่หัวงาน อ่างเก็บน้ำ ถนนเข้าโครงการ และแนวท่อส่งน้ำ พื้นที่เกือบทั้งหมดร้อยละ 97 อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว นอกจากนี้ยังอยู่ในเขตป่าเศรษฐกิจของป่าสงวนแห่งชาติป่าดงบังอี่จำนวน 2 ไร่ อยู่ในพื้นที่ ส.ป.ก. จำนวน 16 ไร่ และที่เหลืออีกประมาณ 21 ไร่ อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติและนอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการไม่อยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1 แต่อย่างใด
ลักษณะของโครงการ ประกอบไปด้วย
1) เขื่อนและอ่างเก็บน้ำออกแบบเป็นเขื่อนดินประเภท Zone Type มีพื้นที่รับน้ำฝนเหนือเขื่อน 20.75 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำท่าไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเฉลี่ย 13.87 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ยาว 800 เมตร ตัวเขื่อนสูง (สูงที่สุด) 18 เมตร ความจุเก็บกัก 10.11 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่น้ำท่วมที่ระดับน้ำสูงสุดเท่ากับ 1,570 ไร่
2) อาคารระบายน้ำล้น (Spillway) แบบ Side Channel Spillway บริเวณฝั่งซ้ายของตัวเขื่อน ความยาวสันฝาย 15 เมตร
3) อาคารท่อส่งน้ำชลประทาน (Irrigation Outlet) วางตัวอยู่ฝั่งขวาของลำน้ำห้วยทม ชนิดท่อกลมขนาด 0.80 เมตร มีอัตราการระบายน้ำส่งให้พื้นที่ชลประทาน 6,860 ไร่
4) อาคารท่อระบายน้ำลงลำน้ำเดิม (River Outlet) วางตัวอยู่ฝั่งซ้ายของลำน้ำห้วยทม ชนิดท่อกลมขนาด 0.80 เมตร มีอัตราการระบายน้ำได้สูงสุดเท่ากับ 6.50 ลูกบาศก์เมตร/วินาที
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ