- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 29 October 2014 10:30
- Hits: 2852
ผลสอบข้าวหายแสนตัน บิ๊กตู่ฝัง‘ปู’ แฉเก็บจนเสื่อมกว่า 70%
แนวหน้า : ผลสอบข้าวหายแสนตัน บิ๊กตู่ฝัง‘ปู’ แฉเก็บจนเสื่อมกว่า 70% เร่งระบายออกลดขาดทุน เล็งส่งปปช.ฟันยกแก๊ง ชาวนาโวยลั่นถูกลอยแพ กรมชลดีเดย์จ้างงาน3พย.
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ถึงการตรวจสอบข้าวที่รับมาจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน จำนวน 18 ล้านตันว่า จากการคัดกรองข้าวทั้งหมดแล้วพบเป็นข้าวที่ได้มาตรฐานทั้งดีเอ็นเอและคุณภาพข้าวร้อยละ 10 ส่วนที่ เหลือเป็นข้าวที่เสื่อม คุณภาพต่ำ โดยมีสีเหลือง กินไม่ได้ เนื่องจากเก็บไว้นาน ต้องนำไปขายเพื่อผลิตเป็นเอทานอล ซึ่งมีถึง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีข้าวที่หายไปจากบัญชีที่รับมาอีกประมาณแสนกว่าตัน ซึ่งขั้นตอนตรงนี้ต้องไปดูว่าทำไมขาดหายไปน้อยแค่แสนกว่าตัน
จ่อส่งปปช.สอบข้าวหาย
“หลังจากนี้ ต้องนำข้อมูลต่างๆ ส่งต่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบการทุจริตต่อไป รวมทั้งรัฐบาลจะขออนุมัติ ป.ป.ช.เพื่อระบายข้าว เพราะเก็บไว้นานข้าวจะเสื่อมไปเรื่อยๆ ราคาจะตก รวมทั้งต้องเสียค่าดูแลคลังค่อนข้างสูงถึงเดือนละ 2,600 ล้านบาท แต่ในการระบายต้องไม่กระทบข้าวรอบใหม่ โดยจะยกราคาให้สูงขึ้น ซึ่งต้องหารือกับมิตรประเทศให้ช่วยรับซื้อข้าว รวมถึงยางพารา ที่สำรวจแล้วพบมีการเสื่อมสภาพมากพอสมควร เนื่องจากเก็บไว้นาน”นายกฯระบุ
แจงจำนำยุ้งฉางลดภาระรบ.
และว่า ส่วนนโยบายโครงการจำนำยุ้งฉางหรือสินเชื่อชลอขายข้าวนั้น เพื่อเป็นการพยุงราคาไม่ให้ตกต่ำ ทั้งข้าวที่อยู่ในสต็อกและข้าวที่จะออกมาใหม่ โดยรัฐบาลให้ราคาข้าวชาวนา 90% เพื่อเก็บข้าวไว้ในภาวะที่ราคาตกต่ำ ค่อยขายเมื่อราคาดี โดยรัฐบาลไม่ต้องเสียเงินเป็นภาระในการจัดเก็บข้าวเปลี่ยนมาเก็บไว้กับชาวนาเอง เพราะที่ผ่านมารัฐใช้เงินประมาณ 2,600 ล้านบาทต่อเดือนในการดูแลคลังข้าว ส่วนเรื่องคดี ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกระบวนการยุติธรรมดูแลไป ส่วนที่ระบุข้าวหายไป 3 แสนตัน เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังต้องไปตรวจสอบ เช่นเดียวกับการสวมสิทธิ์
จ้างชาวนาเหมือนให้ปลาพร้อมเบ็ด
ส่วนเรื่องการจ้างงานนั้น นายกฯกล่าวว่า รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับการลดทำนาปรังและการเพาะปลูก ทั้งนี้ ปัญหาทั้งหมดต้องแก้ปัญหาให้เกิดความยั่งยืน ไม่เช่นนั้นต้องจ่ายเงินสนับสนุนอยู่ตลอด กลายเป็นการเพาะนิสัย เหมือนเราให้ปลา เพื่อให้มีต้นทุน แต่ก็ต้องมอบคันเบ็ดให้ด้วย เพื่อสามารถประกอบอาชีพด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน
ห่วงภัยแล้งสั่งเตรียมรับมือ
พล.อ.ประยุทธ์ยังแสดงความเป็นห่วงปัญหาภัยแล้งว่า สถานการณ์ภัยแล้งของไทย เป็นสิ่งน่ากังวล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเตรียมพร้อมรับมือ นอกเหนือจากการเร่งรัด ขุดลอกคูคลอง และแหล่งน้ำธรรมชาติ ต้องตระหนักถึงปัญหาผลกระทบปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำเกษตร ที่ส่งผลถึงสินค้าเกษตรในตลาด รวมถึงการค้าขายและการส่งออก สินค้าเกษตรระหว่างประเทศด้วย ดังนั้น ต้องเตรียมหาแนวทางรับมือ
ชาวกรุงเก่าโวยโดน”ลอยแพ”
ขณะเดียวกัน ยังคงมีชาวนาออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทั้ง ปัญหาขาดแคลนน้ำทำนา การจ่ายเงินชดเชยรายได้ โดยนายฉลาด คงสมนึก สารวัตรกำนันตำบลหนองไม้ซุง อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นทำนาปรังจำนวน 60 ไร่เผยว่า ชาวนาส่วนใหญ่ในอ.อุทัยเดือดร้อนจากประกาศ ของกรมชลประทาน ที่กำหนดหยุดส่งน้ำเพื่อทำนาไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2558 เพราะชาวนาลงมือเพาะปลูกข้าวนาปรัง ไป 40-60 วัน ก่อนมีประกาศออกมา ซึ่งการประกาศหยุดส่งน้ำแบบกะทันหัน เหมือนเป็นการลอยแพชาวนา เฉพาะในพื้นที่ของตนมีจำนวนกว่า 10,000 ไร่ที่ต้องเดือดร้อน
ขอไร่ละพันจ่ายตามที่ดินจริง
“แต่ละคนลงทุนไปกว่า 100,000 บาท ถามว่าใครจะรับผิดชอบ ส่วนเงินชดเชยที่ให้ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ถือว่าไม่คุ้ม เพราะลงทุนไปมากว่าที่รัฐบาลจ่าย ถ้าเป็นไปได้ ขอให้จ่ายไร่ละ 1,000 บาทตามจำนวนนาที่ทำจริง หรือแจ้งขึ้นทะเบียนไว้ได้หรือไม่ จะทำให้ขาดทุนน้อยลง”นายฉลาดกล่าว
ร้องรัฐหนุนเมล็ดพันธุ์แทนทำนาปรัง
ส่วนที่จ.บุรีรัมย์ นางพิชญากร พะยุดรัมย์ กำนันตำบลบ้านบัว อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เร่งทำความเข้าใจกับลูกบ้านให้งดทำนาปรัง หลังชลประทานจังหวัดประกาศงดปล่อยน้ำให้ เกษตรกรในเขตบริการปลูกข้าวนาปรังในปีนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาหล่อเลี้ยงประชาชนในเขต อ.เมือง และ อ.ห้วยราช กว่า 23,000 ครัวเรือนเหลือเพียง 42% ของความจุอ่าง 27 ล้านลูกบาศก์เมตร เกรงไม่เพียงพอผลิตประปาตลอดฤดูแล้ง
ขณะเกษตรกรที่เคยเพาะปลูกข้าวนาปรังเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ โดยส่งเสริมการปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยทดแทนข้าวนาปรัง พร้อมให้สนับสนุนปัจจัยการผลิต ทั้งปุ๋ย เมล็ดพันธุ์พืชให้เกษตรกรนำไปปลูก เพื่อเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวช่วงฤดูแล้งนี้
โดยนายสนิท เอการัมย์ อายุ 51 ปี เกษตรกรบ้านม่วงใต้ ต.บ้านบัว อ.เมืองกล่าวว่า เห็นด้วยกับโครงการที่รัฐบาลจะให้งบประมาณจ้างงานเกษตรกรที่ไม่ได้ทำนาปรังในปีนี้ เพราะหากไม่ได้ทำนาปรังชาวนาก็จะว่างงานขาดรายได้ แต่ก็อยากให้จ้างเกษตรกรในพื้นที่ที่เดือดร้อนจริง
ไร่ละพันกาฬสินธุ์วุ่น
ขณะที่จ.กาฬสินธุ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านในต.โนนศิลา อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์กว่า 100 คน นำเอกสารสมุดคู่มือเกษตรกรชุมนุมเรียกร้องให้สำนักงานเกษตรอำเภอสหัสขันธ์ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไร่ละ 1,000 บาท ตามโครงการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท คนละไม่เกิน 15 ไร่ หลังมีชาวบ้านในต.โดนศิลาอย่างน้อย 100 รายไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าชาวนาทั้งหมดไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินมาแสดง ระหว่างการเรียกร้องเกิดเหตุชุลมุนเล็กน้อย เพราะชาวนายืนยันว่า เป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตัวจริง และขึ้นทะเบียนเกษตรไว้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าไม่สามารถขึ้นทะเบียนให้ได้ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน
ขณะที่นายสังวาร เทพศรีหา นักวิชาการเกษตรชำนาญการ รักษาการแทนเกษตรอำเภอสหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ยืนยันว่า ไม่สามารถขึ้นทะเบียนให้ได้จริงๆ เพราะทั้งหมดมีพื้นที่ทำนาปลูกข้าวไม่มีเอกสารสิทธิ์มาแสดง และเป็นพื้นที่ชลประทาน กรมธนารักษ์ดูแล ไม่มีสัญญาเช่า อีกทั้ง จดทะเบียนเกษตรกรหลังปี 2552 ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ระเบียบของรัฐบาลที่จะรับเงินช่วยเหลือ
ดีเดย์จ้างชาวนาล็อตแรก3พย.ส่วนความคืบหน้าการดำเนินมาตรการจ้างงานชาวนา ในพื้นที่ประกาศงดทำหน้าปรัง เนื่องจากปัญหาขาดแคลนน้ำ นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า ได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่สำนักชลประทานทั่วประเทศ ให้เปิดรับสมัครเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการจ้างงานในส่วนของกรมชลประทาน ใช้งบประมาณ กว่า 4,137ล้านบาท โดยจะเริ่มรับสมัครเกษตรกรที่สนใจทำงานตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายนเป็นต้นไป
ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะสมัครเข้าทำงานนั้น ต้องมีอายุ 18-60 ปี ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยจะจ้างแรงงงานในส่วนซ่อมแซมอาคาร ระบายน้ำ ถางหญ้า ขุดลอกคลอง ตัดหญ้า และซ่อมแซมคลองชลประทานที่ชำรุดเล็กน้อยบางส่วน ไม่ใช่งานหนัก เพราะเป็นการเน้นสร้างรายได้ช่วยหยุดทำนาปรัง ทั้งนี้ ในส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด จะใช้งบประมาณจ้างงานกว่า 1,260 ล้านบาท และลุ่มน้ำแม่กลอง 208 ล้านบาท