- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 28 October 2014 21:31
- Hits: 3023
'คิวอาสา'หวังยกระดับสู่'สมาร์ท ฟาร์มเมอร์'
ทำมาหากิน : ติวเข้มเกษตรกรหลักสูตร 'คิวอาสา' หวังยกระดับสู่ 'สมาร์ท ฟาร์มเมอร์' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ
การบูรณาการขับเคลื่อน'โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง'หรือ'สมาร์ท ฟาร์มเมอร์' (Smart Farmer) ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถือเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ที่ได้ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนตามหลัก 'สมาร์ท ออฟฟิศเซอร์'(Smart Office) ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้มีความรู้ในอาชีพ มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ทั้งยังมีความตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่สำคัญต้องมีความภาคภูมิใจในความเป็นเกษตรกรด้วย
นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบาย'สมาร์ท ฟาร์มเมอร์'ในปี 2557 ว่า มกอช.ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาเกษตรกรภายใต้โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ โดยเร่งจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรคิว (Q) อาสาสู่การพัฒนา Smart Farmer'จำนวน 10 รุ่น รุ่นละ 50 คน มีเป้าหมายกว่า 500 คน เพื่อให้เกษตรกรและผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ แนวทางปฏิบัติ และขั้นตอนการจัดการระบบการผลิตในการผลิตพืชอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือจีเอพี ขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาเกษตรกรให้มีความตระหนักถึงคุณภาพสินค้าเกษตร รวมถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคมุ่งสู่การเป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ พร้อมสร้างเครือข่ายคิวอาสาให้สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตพืชอาหารปลอดภัยไปสู่เกษตรกรและชุมชนเพิ่มมากขึ้น
เลขาธิการมกอช.รุบอีกว่าสำหรับหลักสูตรคิวอาสาสู่การพัฒนาสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ที่ มกอช.ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรนั้น เป็นหลักสูตรระยะสั้น ระยะเวลา 15 ชั่วโมง มีเนื้อหาครอบคลุมความสำคัญของมาตรฐานสินค้าเกษตรและความปลอดภัยของอาหาร เคมีกับเกษตรกรไทย การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (จีเอพี) ระบบการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (ไอพีเอ็ม) มีหัวข้อย่อย ได้แก่ การวินิจฉัยโรคและแมลงศัตรูพืช การป้องกันศัตรูพืชวิธีต่างๆ และการบูรณาการ การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ถูกต้อง และฝึกปฏิบัติการสำรวจและประเมินศัตรูพืชในแปลงปลูกพืช นอกจากนั้น ยังมีการฝึกปฏิบัติการตรวจประเมินแปลงตามรายการตรวจประเมิน และยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการขอรับรองมาตรฐานจีเอพีด้วย
"ในอนาคตคาดว่า เกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรคิวอาสาสู่การพัฒนาสมาร์ท ฟาร์มเมอร์จะมีความรู้ความเข้าใจและมีขีดความสามารถในการจัดการระบบการผลิตพืชอาหาร ตามมาตรฐาน จีเอพีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางเพิ่มปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย และตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ ที่สำคัญยังยกระดับเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามเป้าที่ตั้งไว้ไม่น้อยกว่า 180,000 บาท/ปีอีกด้วย"นสพ.ศักดิ์ชัย กล่าวทิ้งท้าย
นับเป็นอีกก้าวของมกอช.ในการขยายผลการพัฒนาเครือข่ายคิวอาสามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้พื้นฐานด้านความปลอดภัยอาหารและการจัดการกระบวนการผลิตภายในฟาร์ม พร้อมยกระดับเข้าสู่การเป็นสมาร์ฟาร์มเมอร์ ทั้งนี้ มกอช. กำลังพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการส่งเสริมมาตรฐานให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับตำบลให้เป็นสมาร์ท ออฟฟิสเซอร์ คอยเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรยกระดับการผลิตพืชอาหารเข้าสู่มาตรฐานจีเอพีเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับเกษตรกร และเป็นการเตรียมความพร้อมขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย
http://www.komchadluek.net/detail/20140626/187106.html