- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 28 October 2014 21:24
- Hits: 2755
แนวทางต่อชะตากรรมชาวนาหลังยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว
แนวทางต่อชะตากรรมชาวนาไทย หลังยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว : ดลมนัส กาเจรายงาน
แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจใช้งบประมาณจำนวนกว่า 9 หมื่นล้านบาท จ่ายค่าข้าวให้แก่ชาวนาที่ร่วมโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้ว เป็นนโยบายเร่งด่วนก็ตาม แต่หลังที่ คสช.ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวไปแล้ว ทำให้ชาวนาส่วนหนึ่งต่างวิตกว่า การทำนาในฤดูกาลต่อไปจะประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากราคาข้าวในตลาดโลกตกต่ำ แต่ต้นทุนการทำนาในประเทศไทยยังสูงอยู่
ข้อมูลล่าสุดจากกรมการข้าวภายใน ระบุว่า ราคาข้าวที่โรงสีในภาคกลางรับซื้อข้าวขาวนาปรังความชื้น 5% มีราคาตั้งแต่ตันละ 6,900-7,400 บาท ความชื้น 20-25% ราคาตันละ 5,900-6,600 บาท ส่วนข้าวนาปี ข้าวเปลือกหอมมะลิ 105 โรงสีเต็กเฮง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ราคาตันละ 13,600 บาท ข้าวหอมมะลิธรรมดา ที่โรงสีโชคไพศาล อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว ราคาตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% รับซื้อที่โรงสีสินทรัพย์ถาวร อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ตันละ 7,200 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 25% ที่โรงสีสินทรัพย์ถาวร อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 6,120 บาท/ตัน
ตันละ 1 หมื่นเกษตรกรอยู่ได้
อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามชาวนาในพื้นที่ อ.แสวงหา จ.อ่างทอง บอกว่า พ่อค้าที่ซื้อจริงในท้องถิ่น ราคาเพียงตันละ 5,500-6,000 บาทเท่านั้น ขณะที่ นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย เคยยืนยันมาตลอดว่า สิ่งที่ชาวนาต้องการขอให้มีรายได้สุทธิตันละ 1 หมื่นบาทจึงจะอยู่ได้ นั่นหมายถึงว่า เมื่อ คสช.ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวไปแล้ว สิ่งที่ คสช.หรือรัฐบาลชุดใหม่ต้องดำเนินการคือต้องประกันราคาข้าว จ่ายเฉพาะที่ส่วนต่างนั่นเอง แต่เกษตรกรเองก็ต้องหันมาลดต้นทุนการผลิตอย่างจริงจัง เพราะมีบางคนที่ทำนาใช้เงินลงทุนตันละ 4,000 บาทเท่านั้น
แนะ 3 แนวทางหาทางออก
ขณะที่ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ระบุว่า หลังจากนี้ไปราคาข้าวจะสู่ระบบกลไกของตลาด คือข้าวเปลือกความชื้น 25% จะอยู่ราวๆ ตันละ 7,000-8,000 บาท ซึ่งราคานี้อาจอยู่นานถึง 2 ปีเนื่องจากข้าวที่รัฐบาลรับซื้อภายใต้โครงการรับจำนำข้าว 5 ฤดูกาลยังคงค้างสต็อกอยู่ประมาณ 18 ล้านตัน หากส่งออกได้ปีละ 8-9 ล้านตันจะให้เวลานานถึง 2 ปี อันนี้ไม่ร่วมกับข้าวที่จะเก็บเกี่ยวในฤดูกาลใหม่ หลังจากนั้นคาดว่าราคาในตลาดโลกจะขยับขึ้น แม้ว่าอินเดียจะมีข้าวเก็บไว้ถึง 25 ล้านตันก็ตาม
"เมื่อราคาข้าวตกต่ำกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร ทางออกที่จะให้เกษตรกรอยู่ได้มี 3 ทางด้วยกันคือ 1.เกษตรกรต้องปฏิรูปตัวเองหาแนวทางในการลดต้นทุนการทำนาให้ได้ โดยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ แทนปุ๋ยเคมี ใช้สารสกัดจากธรรมชาติแทนยาฆ่าแมลงศัตรูพืช 2.ปลูกพืชอื่นทดแทนที่มีราคาดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นพริก อ้อย ข้าวโพด แม้แต่ถั่วเหลือง หรือไม่ต้องปลูกข้าวคุณภาพข้าวเน้นตลาดบน อาทิ ข้าวอินทรีย์ หรือปลูกข้าวเฉพาะ เช่น ข้าวพันธุ์ ไรท์เบอร์ ข้าวหอมนิล เป็นต้น และ 3.รัฐบาลต้องประกันราคา โดยชดเชยเงินส่วนต่าง หรือชดเชยกรณีที่เกษตกรปลูกพืชอย่างอื่นแทน"รศ.สมพรกล่าว
ปลูกข้าวพื้นเมืองราคาไม่ตก
ใกล้เคียงกับแนวคิดของ นายไพโรจน์ โรจนรัตน์ เจ้าของโรงสีท่าโพธิ์ ท้องที่หมู่ 7 ต.ควนมะพร้าว อ.เมือง จ.พัทลุง กล่าวว่า โรงสีของตนมีการเริ่มปรับตัวมาตั้งแต่ราคาข้าวผันผวนตั้งแต่ต้นปี โดยเน้นการรับซื้อข้าวพันธุ์พื้นเมือง อาทิ ข้าวเล็บนก ข้าวหอมประทุม ซึ่งมีราคาที่แน่นอนกว่าราคาข้าวตลาด เช่น ข้าวชัยนาท หรือข้าวขาว เพราะราคาขึ้นลง ไม่เกินตันละ 1,000 บาท จึงไม่กระทบทั้งเจ้าของโรงสี และตัวเกษตรกรเอง นอกจากนี้ได้รณรงค์ให้เกษตรกรที่เป็นลูกค้าของโรงสี ให้หันมาปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองมากยิ่งขึ้น แต่ในภาพรวมยังได้รับความสนใจน้อยอยู่ เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าข้าวตลาด และมีข้อจำกัดที่สามารถปลูกได้เฉพาะนาปีเท่านั้น
ส่วน นายสมจิตร สิงหะพล ชาวนาวัย 50 ปี จากหมู่ 12 ต.ควนมะพร้าว อ.เมือง จ.พัทลุง กล่าวว่า มีที่นา 10 ไร่ ปัจจุบันประสบปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำ และมีแนวโน้มจะตกต่ำลงอีก ส่งผลกระทบกับเกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ยังนิยมปลูกข้าวตลาด จำพวก ข้าวชัยนาท ข้าวขาว จากนี้คงต้องปรับเปลี่ยนหันไปปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง อย่างข้าวสังข์หยด ข้าวหอมชัยนาทในฤดูกาลทำนาหน้า
ใช้หินแร่ภูเขาแทนปุ๋ยเคมี
ขณะที่ นายมนตรี บุญจรัส ประธานกรรมการชมรมเกษตรปลอดสารพิษ ภายใต้ บริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด ผู้นำด้านเกษตรปลอดสารพิษครบวงจร มองว่า คสช.ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว อาจเกิดวิกฤติราคาข้าว เพราะราคาข้าวเปลือกจะเป็นไปตามกลไกของตลาดโลก ที่ไทยต้องไปแข่งกับเวียดนาม อินเดีย ส.ป.ป.ลาว กัมพูชา และเมียนมาร์ ปัจจุบันราคาอยู่ที่ตันละ 5,000-6,000 บาทเท่านั้น
"ปกติตลาดข้าวของไทยส่งออกข้าวไปประเทศต่างๆ แบ่งเป็นหมวดหมู่ คือ ข้าวหอมมะลิ เป็นข้าวระดับพรีเมียมเป็นชื่นชอบมากในสหรัฐ อียู จีน สิงคโปร์ ส่วนข้าวขาว ที่ปลูกมากในภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน เป็นข้าวขาวส่งออกกลุ่มประเทศในอาเซียน อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ส่วนข้าวนึ่งที่ผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศแอฟริกา และ ไนจีเรีย และข้าวเหนียว มีการส่งออกน้อยมากส่วนใหญ่บริโภคภายในประเทศ แต่ปัญหาคือข้าวขาวต้องแข่งขันกันสูงกับเวียดนาม และอินเดีย ทำให้เป็นอุปสรรคในการที่จะแย่งส่วนแบ่งตลาดในอนาคด"นายมนตรี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ราคาข้าวลดลง แต่ปัจจัยการผลิต ค่าปุ๋ย ค่ายาไม่ลดลงตามมาด้วย ทำให้พี่น้องเกษตรกรต้องลำบากขึ้น นายมนตรีแนะนำให้หาสิ่งทดแทนปุ๋ยเคมี น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง อาทิ ใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของหินแร่ภูเขาไฟที่ให้แร่ธาตุสารอาหารที่เกือบครบถ้วนแก่พืชหรือต้นข้าว ไม่ว่าจะเป็นฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน เหล็ก ทองแดง แมงกานีส สังกะสี โบรอน โมลิบดินั่ม นิกเกิล มีสรรพคุณพิเศษช่วยให้พืชแข็งแกร่งจากซิลิก้าที่ละลายน้ำได้ เพลี้ยหนอนแมลงราไรไม่สามารถเข้าไปทำลายได้ด้วย ยิ่งถ้าไม่เผาตอซัง เติมอินทรียวัตถุ ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกเสริม ก็จะช่วยเสริมให้การใช้หินแร่ภูเขาไฟทดแทนปุ๋ยเคมีได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า 50-60% สนใจสอบถามได้ที่โทร.0-2986-1680-2
สรุปว่า แนวทางที่จะให้เกษตรกรอยู่ได้หลังที่ยกเลิกโครงการจำนำข้าว เกษตรกรต้องปฏิรูปตัวเองด้วยการลดต้นทุนการผลิต และปลูกพืชอื่นทดแทนจึงจะสามารถอยู่ได้
.......................
(หมายเหตุ : แนวทางต่อชะตากรรมชาวนาไทย หลังยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว : ดลมนัส กาเจรายงาน)
http://www.komchadluek.net/detail/20140602/185794.html