- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 27 October 2014 21:18
- Hits: 2812
บอร์ด ธ.ก.ส.อนุมัติ 24,200 ล้านอุ้มยางพารา
บอร์ด ธ.ก.ส.เห็นชอบ 3 แนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราใช้วงเงินรวมกว่า 24,200 ล้านบาท ปล่อยกู้ อ.ส.ย.รักษาเสถียรภาพราคายาง อุดหนุนเกษตรกรชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาทไม่เกิน 15 ไร่ และสนับสนุนสินเชื่อชาวสวนยางรายย่อยประกอบอาชีพเสริมครัวเรือนละไม่เกิน 100,000 บาท
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.เห็นชอบตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติแนวทางการบริหารจัดการยางพาราขององค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมาจำนวน 3 โครงการใช้วงเงินรวม 24,200 ล้านบาท ประกอบไปด้วย โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางพารา โดยให้ อ.ส.ย.กู้เงินจาก ธ.ก.ส.เพื่อรับซื้อยางในตลาดในช่วงที่ราคายางตกต่ำวงเงินสินเชื่อ 6,000 ล้านบาท ระยะเวลา 18 เดือน โดยรัฐบาลจะชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส.ในอัตรา FDR+1 และกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินที่ ธ.ก.ส.จ่ายทั้งจำนวน พร้อมทั้งให้ธ.ก.ส.แยกบัญชีออกจากการดำเนินงานปกติเป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐ (Public Service Account :PSA)
โครงการชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ให้ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายเงินชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ เป้าหมาย 850,000 ครัวเรือน วงเงิน 8,200 ล้านบาท ใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส. โดยธ.ก.ส.คิดต้นทุนในอัตรา FDR+1 และให้ธ.ก.ส.ขอจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อชำระคืนเงินดังกล่าวต่อไป โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริมด้านการเกษตรหรือเกี่ยวเนื่องการเกษตรตามศักยภาพของตนเองและตามสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มรายได้ วงเงินสินเชื่อเป็นไปตามแผนการผลิตของเกษตรกรครัวเรือนละไม่เกิน 100,000 บาท เป้าหมายเกษตรกร 100,000 ครัวเรือน วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี โดยเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาการชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี
“เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง คณะกรรมการ ธ.ก.ส.จึงได้เห็นชอบตามที่ฝ่ายบริหารเสนอโครงการเข้ามาทั้ง 3 โครงการดังกล่าว ซึ่งจะช่วยพยุงราคายางในตลาดไม่ให้ตกต่ำจนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร ขณะที่โครงการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางจะยังมีส่วนลดผลกระทบจากราคายางตกต่ำได้โดยตรงและช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้เกษตรกรได้ในเบื้องต้น ส่วนโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพเสริมจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวนอกเหนือจากการพึ่งพารายได้จากผลผลิตยางพาราเพียงอย่างเดียว”นายสมหมายกล่าว
สำนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร โทร 02 558 6100 ต่อ 6733, 6734