- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 27 November 2020 20:36
- Hits: 2591
29 พฤศจิกายน ของทุกปี ชาวมก.ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
’วันที่ระลึกวันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี’
‘ขอพูดอะไรสักหน่อย วันนี้ ได้รับเชิญมาปลูกต้นไม้ ก็ทำให้คิดว่า การปลูกต้นไม้ ก็จำเป็นจะต้องเลือกว่า ต้นอะไร จึงจะดี เหมาะสำหรับมหาวิทยาลัย ต้นไม้อะไรๆ ก็สีเขียว ต้นนนทรี ที่เลือกเป็นต้นไม้ของเกษตร ก็เหมาะสมที่มีสีเขียวด้วย เหมาะมากและน่ายินดีมาก ที่ต้นนนทรีนั้นปลูกได้ทั่วทุกแห่งของไทย เพราะทนแล้ง ทนแดดได้ นี่เป็นความหมายที่ดี เพราะคนไทยถ้าปลูกในแผ่นดินไทย ก็เติบโตดี และเจริญดี ต้นไม้ต้องมีดิน จึงจะเจริญได้ดี ถ้าเอาไปไว้ในกระถาง หรือเอาไปปลูกในน้ำหรือปลูกในน้ำยาคุณภาพดีๆ จากต่างประเทศ ก็จะหงอย อยู่ไม่ได้ เขาต้องการดิน ขอฝากต้นไม้นี้ ให้มหาวิทยาลัย และนิสิตช่วยกันรักษาให้ดี อย่าให้หงอย ขอฝากนิสิตทั้งหลาย ขอให้ช่วยกันรักษาตัวเองให้ดี และอย่าลืมว่า ตัวเองนั้นจะอยู่กันได้ก็ด้วยแผ่นดินไทย ขอให้ช่วยรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วย คนไทย ถ้าไร้แผ่นดิน ก็จะหงอยกันหมด อยู่กันไม่ได้ และเราก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในคราวเสด็จฯทรงปลูกต้นนนทรีต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 9 ต้น ณ บริเวณด้านหน้าอาคารหอประชุม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2506 เวลา15.30 น. พระราชดำรัสในครั้งนั้น ยังคงก้องกังวาน และฝังลึกอยู่ในความทรงจำของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่างไม่มีวันจางหายไป ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ และถือเป็นสิริมงคลสูงสุดที่ชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้น้อมเกล้าฯสืบสานพระราชปณิธานตามพระราชดำรัส จะรักษาต้นนนทรีทรงปลูก ให้มีสุขภาพแข็งแรง จะรักษาตนเองให้เข้มแข็ง และรักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วยศาสตร์แห่งแผ่นดิน อันประกอบด้วยศาสตร์พระราชา ศาสตร์ชุมชน และศาสตร์สากล เพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
เหตุการณ์หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปลูกต้นนนทรีเรียบร้อยแล้ว ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่หอประชุม เพื่อทรงดนตรีร่วมกับ วง อ.ส.วันศุกร์ ซึ่งมีอาจารย์ และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย รวมอยู่ด้วย ได้แก่ อาจารย์ระพี สาคริก (นักดนตรีและโฆษก) ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล (โฆษก) และนายอวบ เหมะรัชตะ เป็นต้น
นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำคัญ 2 เหตุการณ์ ที่นำมาสู่การเสด็จพระราชดำเนิน ‘เยี่ยมต้นนนทรี’ ที่ทรงปลูก’ และ ‘ทรงดนตรี’ สืบเนื่องมาจนถึงปีพ.ศ. 2515 รวมจำนวนทั้งสิ้น 9 ครั้ง อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นิสิตปัจจุบัน นิสิตเก่า คณาจารย์เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด และทรงเป็นกันเองอย่างที่สุด นำมาซึ่งความสุข ความปลื้มปีติใจของชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง
นิสิต ปี 1 ถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจ
นายชัยวัฒน์ ศีตะจิตต์ นิสิต ปี 1 เค ยู 23 อดีตผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถ่ายทอดความรู้สึกด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณว่า
“นับเป็นบุญวาสนาอย่างยิ่ง ที่ได้เข้าร่วม ‘วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด’ ครบทั้ง 10 ครั้ง (รวม ปี พ.ศ. 2509 เมื่อครั้งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์และนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าเฝ้าฯ เพื่อทรงดนตรีเป็นการพิเศษ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และในครั้งนั้น ได้พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ ‘เกษตรศาสตร์’ เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย)
ในฐานะนิสิตปี 1 แต่งกายด้วยชุดเครื่องแบบสำหรับการเข้าร่วมงานพระราชพิธี ก็คือ ชุดขาว ผูกเนคไทสีเขียว นิสิตทั้งชายและหญิง ยืนทั้งสองด้านถนนรอบสระหน้าหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขบวนรถพระที่นั่งมาถึงปะรำพิธี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ มาถึง ทรงเริ่มปลูกต้นนนทรี ต้นแรกอยู่ทางด้านทิศใต้ ก็คือด้านที่ไปทางถนนงามวงศ์วาน แล้วก็ปลูกเป็นลำดับมาจนครบ 9 ต้น ตัวกระผมนั้นอยู่ด้านหลังของต้นที่ 5 นับเป็นบุญและโชคดีมากๆ ที่ได้มีภาพของตนเองอยู่ด้านหลังของท่านศาสตราจารย์ ชวนชม จันทรเปารยะ ซึ่งเป็นผู้อัญเชิญเครื่องพระสุหร่าย ภาพนั้น เห็นชัดเจนมาก เป็นความภาคภูมิใจมากๆ เพราะว่า ภาวนาจิตคอยตั้งแต่พระองค์ท่านทรงปลูกต้นแรก
เมื่อทรงปลูกนนทรีครบทั้ง 9 ต้นแล้ว ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ เข้าสู่หอประชุม มก. เพื่อทรงดนตรีร่วมกับวงอ.ส.วันศุกร์และโปรดเกล้าฯ ให้นิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน รวมทั้งครูบาอาจารย์ได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด และทรงเป็นกันเองอย่างที่สุด ภายในหอประชุมซึ่งแน่นมากต้องบอกว่ามีผู้มาเฝ้าแหนแน่นมากๆ จนกระทั่งล้นออกมาด้านนอก รายการดนตรีที่เกิดขึ้นบนหอประชุมนั้น หลักก็คือวง อ.ส.วันศุกร์ จะมีวงดนตรี KU band เข้าร่วมก็เป็นบางส่วน มีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นพิธีกรด้วยก็คือ ศาสตราจารย์ระพี สาคริก กับอีกท่านหนึ่ง คือ หม่อมราชวงศ์ เทพฤทธิ์ เทวกุล ก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้สร้างบรรยากาศอันดี คือ บรรยากาศ ซึ่งทรงเป็นกันเองมากๆกับทั้งนิสิตและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดนตรีนั้นจะออกแนวดนตรีที่ทรงโปรด คือ ออกแนวของแจ๊ส แล้วก็มีดนตรีที่ไพเราะที่เป็นที่ชื่นชอบของนิสิตค่อนข้างจะมาก
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงดนตรีได้หลายชิ้น หลายเครื่องมาก ไม่ว่าจะเป็น เครื่องเป่า อย่าง แซกโซโฟน หรือ แตรทรัมเป็ต ปี่แคลริเน็ต แล้วบางครั้งก็ทรงเปียโนเอง บรรยากาศในหอประชุมนั้นครึกครื้นมาก ครึกครื้น ก็คือว่า ทุกวินาทีผู้ฟังใจจดจ่อ จดจ่อทั้งกับเสียงเพลง แล้วก็ ‘คอย’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชดำเนินมาตรงหน้าไมโครโฟน ก็จะรู้แล้วว่า จะมีพระราชกระแส มีพระราชดำรัสอะไรก็ตามที่ทุกคนจะตั้งใจฟังทุกคำและพระองค์ท่านก็จะมีพระอารมณ์ขันสอดแทรกอยู่ในพระราชดำรัสอยู่ตลอดเวลา ”
“เสียงดนตรีกระหึ่มไปในเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยไม่มี intermission อะไรเลย พระองค์ท่านทรงพระเกษมสำราญไปกับดนตรี แต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไม่ได้ทรงร้องเพลง ท่านทรงแต่ดนตรีอย่างเดียว ไฮไลท์ สำคัญอันหนึ่งที่ได้รับพระราชทาน คือ ปี พ.ศ. 2506 เป็นครั้งแรกที่มีนิสิต ก็จำไม่ได้ว่า เป็นนิสิตท่านใด ที่ขอพระราชทาน เขียนเป็นกระดาษโน้ตขึ้นมา แล้วผ่านอาจารย์ แล้วอาจารย์ก็นำไปอ่าน มีนิสิตขอพระราชทานเพลงประจำมหาวิทยาลัยมา แล้วก็นับเป็นครั้งแรกเลยที่มีการแสดงความคิดในเรื่องนี้ เพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้เวลาตั้งแต่เริ่มขอในปี พ.ศ. 2506 มาพระราชทานในปี พ.ศ.2509 ก็นับว่า ได้เร็ว เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยแห่งที่สาม ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานให้ ซึ่งเพลงประจำมหาวิทยาลัยที่พระราชทานหลังจากนั้น รู้สึกว่าก็ไม่ค่อยจะมีแล้ว ดังนั้น ชาวเกษตรศาสตร์ทุกคน จึงมีความภาคภูมิใจมากๆ เกี่ยวกับเพลงพระราชทานเพลงนี้ครับ”
ทำไมถึงเป็นต้นนนทรี (Peltophorum pterocarpum )
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2506 สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย คณะอนุกรรมการพิจารณาหาต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์อัญเชิญ ชมพูโพธิ์ หัวหน้าภาควิชาพืชศาสตร์ อาจารย์ปวิณ ปุณศรี อาจารย์แสงธรรม คมกฤส และอาจารย์เจือ สุทธิวนิช ได้เสนอต้นไม้ 4 ชนิด ต่อที่ประชุม คือ นนทรี ทองกวาว ราชพฤกษ์ (คูน) และพิกุล ที่ประชุมได้ตกลงเลือกต้นนนทรี เพราะเป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืน มีใบสีเขียวแก่ อันหมายถึง สีเขียวขจีของเกษตร และมีดอกสีเหลืองทอง อันหมายถึง สีเหลืองของคณะเกษตร
ศาสตราจารย์อินทรี จันทรสถิตย์ อธิการบดี ได้กราบบังคมทูลรายงานเกี่ยวกับต้นนนทรี ใจความสรุปได้ว่า “ต้นนนทรี เป็นไม้ยืนต้น มีอายุยืนยาวนาน มีใบเขียวตลอดทั้งปี ลักษณะใบเป็นฝอยคล้ายใบกระถิน ดอกสีเหลืองประปรายด้วยสีขาว ช่อดอกเป็นพวงระย้า ฝักไม่ยอมทิ้งต้น ทนทานในทุกสภาพอากาศของเมืองไทย สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้เลือกให้เป็นต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อแสดงว่า นิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น มีใจผูกพันอยู่กับมหาวิทยาลัยตลอดมา และสามารถจะทำงานประกอบอาชีพได้ทั่วทุกหนทุกแห่ง ทั้งในไร่นาป่าเขา ทั่วทั้งประเทศไทย”
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 จนถึงปัจจุบัน ต้นนนทรีทั้ง 9 ต้น มีอายุ 57 ปีเต็ม เติบโตเป็นต้นไม้สูงใหญ่ มีขนาดความโตของเส้นผ่าศูนย์กลางที่ความสูงเพียงอกโดยเฉลี่ย 65.76 ซม. มีความสูงของลำต้นรวมเฉลี่ย 18.38 เมตร วัดจากระดับโคนต้นระดับผิวดินจนถึงบนสุดเรือนยอด มีพื้นที่การปกคลุมเรือนยอดโดยเฉลี่ย 118.37 ตารางเมตรต่อต้น หรือคิดเป็นพื้นที่การปกคลุมเรือนยอด รวม 1069 ตารางเมตร นับว่าเป็นต้นนนทรีขนาดใหญ่ที่มีความสง่างามและหาพบได้ยากในกรุงเทพมหานคร
พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์เกษตรศาสตร์
เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์ นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบันของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน ประมาณ 3,000 คน เข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด ทรงดนตรีร่วมกับวง อ.ส.วันศุกร์ และพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในครั้งนั้น ได้พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ ‘เกษตรศาสตร์’ ให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับ เพลงพระราชนิพนธ์ ‘เกษตรศาสตร์’ ในเวลานั้นมีเพียงทำนองยังไม่มีเนื้อร้อง จึงเรียกว่า เพลง K.U. Song
“... เพลงของเกษตรนี้ ก็ที่จริงก็ควรจะตัดสินเอาเองว่า เป็นอย่างไร แต่ความคิดส่วนตัวของผู้แต่ง รู้สึกว่าเป็นเพลงที่อ่อนหวาน อ่อนหวานกว่า 2 เพลงโน้น แต่อ่อนหวานนี้ ไม่ได้หมายความว่า ไม่เข้มแข็ง แต่อ่อนหวานนี่ อาจจะมีความหมายได้ว่า ผลิตผลของทางเกษตรนี่รวมทั้งผลไม้หรือสิ่งที่บริโภค ถ้าหวาน รู้สึกว่าดี เพราะว่าเขานิยมกันอย่างนั้น ข้าวโพดหวานเขาก็ชอบ ก็เลยคิดว่าเพลงหวานไม่เป็นไร แต่ถ้านำไปเดินสำหรับนำแถวก็อาจจะได้...” ความตอนหนึ่งของพระราชดำรัส เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2509
ต่อมาภายหลัง ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีตรองอธิการบดีและนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คีตกวีเอกคนหนึ่งของประเทศไทย ผู้ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประพันธ์คำร้องเพลงพระราชนิพนธ์รวม 5 เพลง คือ เพลงใกล้รุ่ง ชะตาชีวิต ในดวงใจนิรันดร์ แว่ว และเกษตรศาสตร์ ท่านได้เล่าไว้ในเกร็ดการประพันธ์เนื้อเพลงพระราชนิพนธ์เกษตรศาสตร์ ว่า
“...เพลงนี้ ก็ยังไม่มีเนื้อ ท่านก็รับสั่งว่า พวกเกษตรก็มีคนแต่งได้หลายคน ก็คงจะแต่งได้ไม่น้อยหน้ามหาวิทยาลัยอื่น หลังจากนั้นมา 8 เดือนได้ ก็มีรับสั่งถามว่า แต่งไปได้แค่ไหนแล้ว ผมก็กราบบังคมทูลว่า ยังไม่ได้แต่ง เพราะว่ามีความไม่สบายใจอยู่หลายประการ ประการที่หนึ่ง คือ เมื่อตอนที่แต่งเพลงใกล้รุ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระอนุชาธิราชอยู่ เพราะฉะนั้นผมก็แต่ง ใกล้รุ่ง เสร็จภายในครึ่งชั่วโมง แต่พอมาถึงเพลงเกษตรศาสตร์นี้ เป็นเพลงของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
และด้วยประการที่สอง ก็เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยด้วย ประการที่สาม เมื่อไปดูว่าเพลงประจำมหาวิทยาลัย อย่างของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาก็แต่ง ‘น้ำใจน้องพี่สีชมพู ทุกคนไม่รู้ลืมบูชา...’ ก็รู้สึกว่า เขาแต่งไว้ดีมาก แต่ของเรา จะแต่งให้ใกล้เคียงกับเขา เข้าไปได้ไหม เมื่อมันมีความวิตก อยู่ถึง 3 อย่าง ก็เลยแต่งไม่ออก แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้รับสั่งถาม ผมก็มาแต่งเพลงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสร็จไปภายในเวลาครึ่งคืน เพลงนี้ก็รู้สึกว่า ลำบากนิดหน่อย ก็เพราะว่า เพลงขึ้น ลง มาก ช่วงเสียงห่างกัน มันจะขึ้นๆ ลงๆ อย่างนั้น จึงต้องหาเนื้อที่จะให้เข้ากับทำนอง อย่างเช่น ‘ทุกแหล่งฟ้า หล้าอิ่มเอม’ใช้เวลาครึ่งคืน ก็ได้เพลงนี้ และก็ได้บรรจุข้อความที่ว่า เกษตรมีหน้าที่เลี้ยงโลกเหมือนอย่างที่เป็นคำรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า เกษตรมีหน้าที่เลี้ยงโลก...”ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร กล่าว
วันที่ระลึกวันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี
จากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้จัดงาน ‘วันที่ระลึก วันนนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด’ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2546 เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี นนทรีทรงปลูก และจัดสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้บุคลากร และนิสิตร่วมรำลึกถึงแห่งวันประวัติศาสตร์ ตลอดจนเพื่อเป็นการถ่ายทอดความทรงจำอันประทับใจ ในวันประวัติศาสตร์ดังกล่าวให้นิสิตปัจจุบัน และผู้สนใจได้รับรู้ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสืบสานการจัดงานวันที่ระลึก วันนนทรีทรงปลูก ดนตรี ทรงโปรด สืบสานวันทรงดนตรี วันที่ 29 พฤศจิกายน ให้อยู่คู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดไป ซึ่งวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ตรงกับวาระครบรอบ 57 ปี
คำอธิบายภาพ ในหลวง ร.9 และ ร.10 ทรงดนตรี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มายังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อทรงเยี่ยมต้นนนทรี โอกาสนี้ทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรี อ.ส. และวงดนตรีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2508 และ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2514
ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ