- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 27 October 2014 19:14
- Hits: 2815
ก.เกษตรฯ คาดจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยาง 1 พันบาท/ไร่ กลางพ.ย.นี้
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรจะเปิดรับแจ้งให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการโครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ตั้งแต่ 1 พ.ย. - 15 ธ.ค. 57 โดยเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการได้นั้นต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร
ส่วนการตรวจสอบรับรองสิทธิ์เกษตรกร โดยมีคณะทำงานตรวจสอบสิทธิ์ ฯ ระดับตำบล /คณะกรรมการบริหารโครงการ ฯ ระดับอำเภอ ตั้งแต่ 10 พ.ย. – 31 มี.ค. 58 ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเกษตรกรรายเดิม และเกษตรกรรายใหม่ที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีด ส่วนกรณีเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ขอให้กรมส่งเสริมการเกษตรรับขึ้นทะเบียน โดยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การรับเกษตรกรเข้าร่วมโครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรทุกประการ
การจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ตามผลการตรวจรับรองของคณะกรรมการบริหารโครงการ ฯ ระดับอำเภอ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรได้ภายในกลางเดือนพฤศจิกายน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรมาเข้าร่วมโครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ตลอดจนรับทราบขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการ เช่น การเตรียมเอกสาร หลักฐาน ประกอบการยื่นขอเข้าร่วมโครงการให้ครบถ้วน รวมทั้งประชุมชี้แจงเจ้าหน้าที่ เพื่อทำความเข้าใจหลักเกณฑ์และขั้นตอนการรับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเข้าร่วมโครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ให้สามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
อนึ่ง มติ ครม.เมื่อ 21 ตุลาคม 2557 เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งโครงการหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในระยะเร่งด่วน คือ โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ เป้าหมาย 850,000 ครัวเรือน ซึ่งมีพื้นที่สวนยางเปิดกรีดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีเอกสิทธิ รวมทั้งเอกสารสิทธิ 46 รายการตามหนังสือของกรมป่าไม้ ที่ ทส 1602.5/5527 ลงวันที่ 30 มีนาคม 2555 ซึ่งพื้นที่สวนยางเปิดกรีดที่อยู่ในข่ายจะได้รับความช่วยเหลือประมาณ 8.2 ล้านไร่ ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน วงเงินรวม 8,453.99 ล้านบาท แบ่งเป็น วงเงินจ่ายชดเชยเกษตรกร 8,200 ล้านบาท โดยใช้เงินทุนของ ธ.ก.ส.และธ.ก.ส. คิดต้นทุนในอัตรา FDR+1 และให้ ธ.ก.ส. จัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อชำระคืนต้นเงินจากการดำเนินงานตามโครงการ และค่าชดเชยดอกเบี้ย ธ.ก.ส. และค่าบริหารจัดการของหน่วยงานที่รับผิดชอบจำนวน 253.99 ล้านบาท วงเงินใช้จ่ายปีแรก จำนวน 253.99 ล้านบาท
อินโฟเควสท์