WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Kasetจดรปทดน

เร่ง 'จัดรูปที่ดิน' สนองรัฐ 'ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต'

ทำมาหากิน : เร่ง 'จัดรูปที่ดิน' เพื่อเกษตรกรรม สนองรัฐ 'ลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต' : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

       แม้งานจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะถือกำเนิดอย่างเป็นทางการมากว่า 40 ปีแล้ว หรือมีมาตั้งแต่ปี 2517 ตามพ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 2517 โดยมีการทดลองจัดรูปที่ดินเป็นแห่งแรกที่ ต.พักทัน หรือ ต.สระแจง ในปัจจุบัน อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญในเขตพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง

     "จากปี 2517 กระทั่งถึงวันนี้ปี 2557 ล่วงเลยมา 40 ปีเต็ม ที่สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กรมชลประทาน ได้ดำเนินการจัดรูปที่ดินไปแล้ว 1.98 ล้านไร่ ใน 27 จังหวัด ไม่นับรวมระบบแพร่กระจายน้ำในระดับไร่นาโดยงานก่อสร้างคันคูน้ำของกรมชลประทานด้วยอีกกว่า 10 ล้านไร่"

     เอกจิต ไตรภาควาสิน ผู้อำนวยการสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางย้อนอดีตการจัดรูปที่ดินในประเทศไทยครั้งแรก ก่อนขยายพื้นที่ดำเนินการจนปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่กว่า 1.98 ล้านไร่ใน 27 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการแพร่กระจายน้ำหรือระบบชลประทานในระดับไร่นาเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงน้ำและเส้นทางลำเลียงได้โดยสะดวก ขณะเดียวกันก็มีโครงสร้างพื้นฐานในระดับไร่นาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรเหล่านี้ เป็นการเพิ่มโอกาสประกอบอาชีพทำนาได้ปีละหลายครั้ง เนื่องจากมีน้ำต้นทุน มีคูส่งน้ำถึงที่อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม จนส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นในขณะต้นทุนการผลิตลดลง

     ในขณะที่ผ่านมาการดำเนินการจัดรูปโดยรวมถือว่ายังน้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ชลประทาน 30 ล้านไร่ ที่เป็นเช่นนี้ก็มาจากหลายเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการย้ายโอนหน่วยงานสำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีอยู่ภายใต้สังกัดกรมชลประทาน ก่อนโอนย้ายไปสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วหวนกลับมาสังกัดกรมชลประทานอีกครั้ง ส่งผลทำให้ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินงานทั้งด้านงบประมาณและบุคลากร

    เอกจิต ยอมรับว่า จากผลความสำเร็จในการดำเนินงานจัดรูปที่ดินโครงการขนาดใหญ่มีพื้นที่ดำเนินการนับล้านไร่ อย่าง โครงการเจ้าพระยาใหญ่และโครงการแม่กลองนั้น เป็นเพราะว่าเป็นโครงการเงินกู้จากธนาคารโลก แต่หลังจากนั้นเป็นงบประมาณประจำปี ซึ่งได้รับจัดสรรน้อยมากและระยะหลังค่อยๆ กลับมาเพิ่มมากขึ้นในหลัก 200-300 ล้านบาท ซึ่งไม่อาจขับเคลื่อนงานได้มากมายนัก

    ขณะเดียวกันการที่ให้เกษตรกรต้องลงขัน 20% ของค่าก่อสร้าง และต้องยินยอมเสียที่ดินไม่เกิน 7% เพื่อเป็นพื้นที่ส่วนกลางในการก่อสร้างคูส่งน้ำ คูระบายน้ำและถนน ทำให้เกษตรกรบางส่วนลังเลเข้าร่วมโครงการ ที่สำคัญ เกษตรกรที่ได้รับน้ำจากโครงการชลประทานอยู่แล้วมักไม่ค่อยให้ความร่วมมือเพราะถือว่ามีน้ำใช้อยู่แล้ว จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินการจัดรูปที่ดินไม่คืบหน้ามากนัก

    “โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ติดคลองส่งน้ำ เขาได้รับน้ำโดยสะดวกอยู่แล้ว แถมยังมีถนนบนคันคลองใช้งานด้วย กลุ่มนี้ไม่ค่อยยอมจัดรูปที่ดิน คิดแต่เพียงว่าทำไมต้องมาจ่ายค่าก่อสร้าง 20% และเสียที่ดิน 7% อีก โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของเกษตรกรที่อยู่ลึกเข้าไปข้างใน” 

   เอกจิตระบุอีกว่า หลังจากที่สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางได้ดำเนินการวางแผนแก้ปัญหาดังกล่าว ในที่สุดจึงได้จับมือกับสำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน ผนวกงานจัดรูปที่ดินเข้ากับงานพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งหมายถึงเมื่อใดก็ตามที่มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ใด ก็จะมีงานจัดรูปที่ดินพ่วงเข้าไปด้วย

      “งานพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ จะเป็นการสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำและระบบชลประทาน ต่อไปก็จะพ่วงงานจัดรูปที่ดินเข้าไปด้วย เพื่อเชื่อมร้อยเป็นเนื้อเดียวกันก็จะทำให้งานจัดรูปที่ดินเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะไปพร้อมกับระบบชลประทาน ซึ่งเกษตรกรต้องการน้ำในขณะที่น้ำยังไม่มี เมื่อเสนองานจัดรูปที่ดินเข้าไปด้วย ส่วนใหญ่จะสำเร็จยินยอมเข้าร่วมจัดรูปที่ดิน เหมือนกับช่วงแรกๆ ที่ประสบผลสำเร็จของงานจัดรูปที่ดินในโครงการเจ้าพระยาใหญ่และโครงการแม่กลอง” เอกจิตกล่าว พร้อมย้ำว่า

    ระบบชลประทานที่มีอยู่ทุกวันนี้ เป็นการกระจายน้ำแบบหลวมๆ แต่ไม่ลงลึกถึงระดับรายแปลง เกษตรกรอยู่ท้ายน้ำมักเสียเปรียบไม่ได้รับน้ำอย่างทั่วถึง แต่งานจัดรูปที่ดินจะทำให้เกษตรกรได้รับน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม สะท้อนความคุ้มค่าการลงทุน อันนำมาซึ่งการลดต้นทุนการผลิตที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลนั่นเอง

 http://www.komchadluek.net/detail/20140918/192262.html

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!