- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 26 October 2014 08:21
- Hits: 2231
แนวทางการปฏิรูปข้าวไทยเพื่อสู่อนาคตที่ยั่งยืน
แนวทางการปฏิรูปข้าวไทยเพื่อสู่อนาคตที่ยั่งยืน : ชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อดีตอธิบดีกรมการข้าวรายงาน
ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เชิญสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรไปให้ข้อมูล และข้อคิดเห็นในการพัฒนาภาคการเกษตร ประกอบการจัดทำนโยบาย แผนงาน โครงการ โดยเฉพาะ ถือเป็นการช่วยเหลือชาวนาในระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ภายหลังยุติโครงการรับจำนำข้าว แต่การเสนอข้อมูล และข้อคิดเห็นจากสมาคมที่เกี่ยวข้องกับชาวนา ซึ่งมีอยู่หลายสมาคม ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และไม่เป็นเอกภาพ
จากสถานการณ์ดังกล่าว ล่าสุดสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมชาวนาข้าวไทย สมาคมส่งเสริมชาวนาไทย เครือข่ายชาวนาไทยภาคตะวันตก และผู้ประกอบการภาคเอกชน จึงร่วมกันจัดสัมมนา เรื่อง 'โรดแม็พ' (Road Map) เพื่อการพัฒนาการเกษตรและแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน : กรณีอนาคตข้าวไทย” เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา วัตถุประสงค์ เพื่อเปิดให้เป็นเวทีสาธารณะให้นักวิชาการ ภาคเอกชน เกษตรกร ชาวนา สมาคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร และสื่อมวลชน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ รวมทั้งการรับทราบปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาการเกษตร
นอกจากนี้ ได้รวบรวมข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นในประเด็นต่างๆ จากวิทยากร และผู้เข้าร่วมสัมมนา นำไปประกอบการจัดทำโรดแม็พการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน กรณีอนาคตข้าวไทยเสนอต่อ คสช. เพื่อประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์ และมาตรการสำหรับเป็นโรดแม็พในการพัฒนาการเกษตรต่อไป และจากการสัมมนาดังกล่าว สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยได้รวบรวมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ จัดทำเป็นโรดแม็พ โดยมีรายละเอียดที่จะต้องปฏิรูปดังนี้
ต้องปฏิรูปนโยบายข้าวของรัฐบาล
แนวปฏิรูปนโยบายข้าวของรัฐบาล ต้องจัดตั้งคณะกรรมการบริหารข้าวแห่งชาติ ที่มีองค์ประกอบจากภาคการผลิต ภาคการตลาด (ราชการและเอกชน) ภาคชาวนา ซึ่งมีสัดส่วนอย่างเหมาะสม โดยมีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ และแต่งตั้งอนุกรรมการ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายวิจัยพัฒนาข้าว ฝ่ายผลิตข้าว และฝ่ายตลาดข้าว (เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติทุกชุดที่ผ่านมามีปลัดกระทรวงพาณิชย์หรืออธิบดีกรมการค้าภายในเป็นเลขานุการ การนำเสนอและจัดทำวาระการประชุมจะเน้นเรื่องการตลาดเป็นหลัก ข้อเสนอในการพัฒนาการผลิตข้าวไม่สามารถผ่านฝ่ายเลขานุการไปได้เลย งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรในการพัฒนาเรื่องข้าวทั้งระบบ จึงไม่ได้รับการจัดสรร โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการชุดนี้เลย ทำให้ไม่เกิดสมดุลระหว่างการผลิตและการตลาดข้าว)
ต้องปรับปรุงโครงสร้างขององค์กรการผลิตข้าว โดยเฉพาะกรมการข้าว ให้มีศักยภาพทำงานในการช่วยเหลือชาวนาในพื้นที่อย่างทั่วถึง โดยจัดให้มีข้าวจังหวัด และข้าวอำเภอ ซึ่งสามารถใช้กระบวนการปรับโครงสร้างของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ต้องสร้างกลไกการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจังหวัด โดยสิ้นสุดลงแล้ว สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทยได้รวบรวมอุปสรรคในการพัฒนาการเกษตรกับภาคการเกษตรเป็นเอกภาพ กำหนดให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการบริหารจัดการสินค้าข้าว ซึ่งจะทำให้ชาวนาได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง
พร้อมกันนั้น ต้องเร่งรัดการจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือชาวนาด้านราคา ปัจจัยการผลิต การวิจัยและพัฒนาข้าว ตลอดจนสวัสดิการต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงในอาชีพการทำนาที่เมื่อยามชราภาพ ทุพพลภาพ จะมีเงินเลี้ยงชีพ, เร่งรัดและปรับปรุงโครงการประกันภัยข้าว เพื่อประกันความเสี่ยงให้แก่ชาวนาในยามเกิดภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ และจูงใจให้ชาวนาเข้าร่วมโครงการมากขึ้น
อีกแนวทางหนึ่ง ต้องการสนับสนุนในด้านสินเชื่อ เงินทุนหมุนเวียน ปลอดดอกเบี้ย หรืออัตราดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนสนับสนุนปัจจัยการผลิต และเครื่องมือ อุปกรณ์ในการผลิตข้าวที่ได้คุณภาพและมาตรฐานในราคาที่เป็นธรรม และต้องเร่งรัดการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการเช่าที่นาให้มีความเป็นธรรมแก่ชาวนา และกฎหมายคุ้มครองที่นาจากการนำพื้นที่อุดมสมบูรณ์ และมีการลงทุนในระบบชลประทานไปสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและหมู่บ้านจัดสรร
การปฏิรูปการวิจัยและพัฒนาข้าว
การวิจัยและพัฒนาข้าวถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นต้องจัดตั้งอนุกรรมการการวิจัยพัฒนาข้าวของประเทศให้มีองค์ประกอบทุกสาขาวิชาที่มีความเกี่ยวข้องกับข้าว เพื่อบูรณาการงานวิจัยและพัฒนาข้าวของประเทศให้ครอบคลุมทุกมิติอย่างเป็นเอกภาพ, จัดทำยุทธศาสตร์งานวิจัยและพัฒนาข้าวของประเทศ ที่มีเป้าหมายอย่างชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมทั้งกำหนดแนวทางให้ทุกฝ่ายร่วมขับเคลื่อนพร้อมกันอย่างเป็นระบบ, พัฒนากระบวนการสร้างโจทย์การวิจัยแบบมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่ชาวนา โรงสี ผู้ค้าข้าว ผู้ส่งออก และหน่วยงานทางราชการ โดยจัดทำเป็นโครงการวิจัยระดับชาติ และระดับท้องถิ่น, จัดตั้งสถาบันวิจัยข้าวแห่งชาติ (องค์กรอิสระ) ให้มีความพร้อมสูง ทั้งด้านนักวิจัย เครื่องมืออุปกรณ์ และใช้เป็นศูนย์กลางในการควบคุม กำกับ ดูแล งานวิจัยและพัฒนาข้าวของประเทศ, ส่วนภาครัฐต้องสนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอ และเสริมสร้างแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนาข้าวให้แก่นักวิจัยอย่างเต็มที่
จำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและระบบข้อมูล
ในการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและระบบข้อมูล ก็ถือว่ามีความสำคัญ ซึ่งต่อไปต้องขยายการพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทานตามสภาพพื้นที่ปลูกข้าวอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง โดยจัดที่ดินเพื่อการทำนาให้แก่ชาวนาที่ไม่มีที่นาเป็นของตนเอง หรือผู้เช่านาให้อย่างทั่วถึง ขยายพื้นที่จัดรูปที่ดินให้มากขึ้น มีการปรับระดับพื้นที่นาให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทั้งในพื้นที่นาที่เหมาะสมปานกลาง 26.57 ล้านไร่ และพื้นที่นาที่เหมาะสมมาก 17.35 ล้านไร่
อีกแนวทางหนึ่งต้องจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะ จัดระบบข้อมูลข้าว โดยรวบรวมข้อมูลข้าวและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าว ให้เป็นศูนย์ข้อมูลกลางที่มีมาตรฐาน และมีความเป็นเอกภาพ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจและการทำงานของทุกภาคส่วน ทั้งนี้กำหนดให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นหน่วยงานหลัก โดยต้องสนับสนุนอุปกรณ์ บุคลากร และงบประมาณในการดำเนินงานอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ ต้องส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรให้มากขึ้น โดยผ่านองค์กรชาวนาในรูปแบบต่างๆ เช่น สหกรณ์การเกษตร ศูนย์ข้าวชุมชน เป็นต้น, พร้อมกับปรับปรุงและพัฒนาระบบจัดเก็บรักษาข้าว การคมนาคม และการขนส่งข้าว ในระดับชุมชนจนถึงระดับประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความสูญเสีย และให้ลดพื้นที่การทำนาในพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสม โดยปรับเปลี่ยนให้ชาวนาไปทำการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมเสนอทางเลือกใหม่ให้ชาวนา โดยรัฐสนับสนุนการให้ความรู้ เงินทุน และปัจจัยการผลิต รวมทั้งการตลาด เพื่อเป็นแรงจูงใจในการตัดสินใจของชาวนา
ถึงเวลาต้องปฏิรูปการผลิตและองค์กรชาวนา
ด้านการผลิตข้าว ต้องกำหนดเขตส่งเสริมการผลิตข้าว (โซนนิ่ง) ทั้งเพื่อการค้าและบริโภค ตามกลุ่มพันธุ์ข้าว รวมทั้งข้าวตลาดเฉพาะ (นิช มาร์เก็ต) เช่น ข้าวอินทรีย์ ข้าวจีเอพี ข้าวจีไอ และข้าวลักษณะพิเศษ พร้อมสร้างตลาดรองรับควบคู่กันไป อีกทั้งกรณีพื้นที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าว 11.22 ล้านไร่ ควรเสนอมาตรการทดแทนให้ชาวนาเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น หรือทำอาชีพอื่นด้วยความสมัครใจ
ขณะเดียวกัน ต้องมีการจัดระบบการปลูกข้าวอย่างเข้มงวด เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน และยกระดับประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยให้ชาวนาปลูกข้าวไม่เกินปีละ 2 ครั้ง และปลูกพร้อมกันในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ซึ่งทางรัฐบาลจะต้องสนับสนุนและช่วยเหลือให้มีการปลูกพืชหลังนา และพืชปุ๋ยสด พร้อมส่งเสริมให้ชาวนาต้องทำนาอย่างประณีต ใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้อง เหมาะสม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต และยกระดับคุณภาพผลผลิตให้ปลอดภัยได้มาตรฐานสากล และส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มข้าว ทั้งการสีแปรสภาพเป็นข้าวสารเอง การแปรรูปสินค้าข้าว ที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร เพราะจะทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นมาก โดยการสนับสนุนงบประมาณและเครื่องมืออุปกรณ์จากภาครัฐ
ส่วนองค์กรชาวนา ต้องสร้างความเข้าใจและความเข้มแข็งให้องค์กรชาวนา สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มอย่างเป็นเอกภาพ ในรูปสภาชาวนา/สหพันธ์ชาวนา โดยให้สมาชิกทุกคน ทุกระดับมีส่วนร่วมในการคิดและทำ, ส่งเสริมให้ศูนย์ข้าวชุมชน ที่มีอยู่ประมาณ 3,000 ศูนย์ ซึ่งมีกระจายอยู่ตามหมู่บ้านชาวนาทั่วประเทศ ให้มีความเข้มแข็งและเป็นศูนย์กลาง หรือเครือข่ายของชาวนาระดับพื้นที่ ซึ่งมีศักยภาพตั้งแต่การบริหารจัดการปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารเคมี การผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายในชุมชน เป็นศูนย์รวมเครื่องจักรกลการเกษตร การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้เรื่องข้าว การมีโรงสีแปรสภาพข้าวเพื่อบริโภคและจำหน่าย การสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปสินค้าข้าว ตลอดจนการจัดทำบรรจุภัณฑ์และจำหน่ายสินค้าข้าว ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายอันจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนา และต้องปลูกฝังจิตสำนึกให้ชาวนารู้จักพึ่งพาตนเอง พึ่งพาซึ่งกันและกัน ในระบบกลุ่มด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง
สุดท้ายต้องปฏิรูประบบการตลาดข้าว
การแก้ปัญหาด้านการตลาดที่ผ่านมา รัฐมักใช้งบประมาณในการแซกแซงราคา ต่อไปต้องไม่แทรกแซงตลาดข้าว หรือหากมีความจำเป็นที่รัฐจะต้องแทรกแซงตลาด รัฐจะต้องไม่ทำให้กลไกตลาดบิดเบือนมากเกินไป จนเป็นภาระงบประมาณของภาครัฐ ทางที่ดีต้องหันมาสนับสนุนให้มีการประกันความเสี่ยงราคา โดยชาวนาจ่ายเบี้ยประกันส่วนหนึ่ง และรัฐสมทบเบี้ยประกันอีกส่วนหนึ่ง และภาครัฐต้องกำหนดกลไกในการกำกับ ดูแลผลประโยชน์ให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด (Benefit Sharing) ได้แก่ ชาวนา โรงสี ผู้ประกอบการข้าวถุง ผู้ส่งออก และผู้บริโภค
ทั้งหมดนนี้เป็นข้อสรุป เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาข้าวในอนาคตอย่างยั่งยืน
http://www.komchadluek.net/detail/20140804/189474.html