WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

Kasetโรดแมพ

เปิดแฟ้ม'โรดแม็พ'พัฒนาภาคเกษตร

เปิดแฟ้ม'โรดแม็พ'พัฒนาภาคเกษตร ถึงเวลาคืนความสุขให้เกษตรกร : ดลมนัส กาเจรายงาน

      ในห้วงเวลาที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินหน้าจัดกิจกรรมคืนความสุขให้ประชาชนทั่วประเทศ พร้อมๆ กับการแก้ปัญหาของบ้านเมืองที่มักหมมมายาวนาน และในโอกาสนี้ทางองค์กรวิชาชีพในนามของสมาคมต่างๆ ที่ดำเนินการในภาคการเกษตร รวมถึงสมาคมสื่อมวลชนเกษตรแห่งประเทศไทยด้วย ได้ระดมสมองความคิดเห็นถึงปัญหาต่างๆ และแนวทาง ในการที่จะพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน ณ สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ และจะนำข้อสรุปเหล่านี้นำไปจัดทำเป็นแม่บท หรือโรดแม็พ เพื่อเสนอไปยัง คสช.ในเร็วๆ นี้ และบนโต๊ะการประชุมมีการเสนอแนะและแลกเปลี่ยนความคิดอย่างกว้างขวาง

       นายยรรยง ประเทืองวงศ์ กรรมการผูจัดการบริษัท โซตัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และที่ปรึกษาสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย มองว่า การพัฒนาภาคการเกษตรต้องให้เกษตรกรอยู่ได้ อย่างกรณีนโยบายรับจำนำข้าวก็เห็นด้วย แต่ปัญหาอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ที่ไม่สามารถหาช่องทางในการระบายข้าวได้ ฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเจาะตลาดอย่างต่อเนื่อง อย่างปัจจุบันร้านอาหารไทยมีอยู่ทั่วโลก หากรัฐบาลมีโครงการแนะนำข้าวหอมมะลิไทยด้วยการจัดมหกรรมกินข้าวไทยในร้านอาหารไทยในต่างแดน ก็จะทำให้ผู้บริโภคได้ลองชิม จะทำให้ผู้บริโภคได้มารู้จักข้าวไทยมากขึ้น

      ต่างกับ นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อดีตอธิบดีกรมการข้าว และที่ปรึกษาขององค์กรภาคการเกษตรหลายแห่ง มองว่า ราคาสินค้าเกษตรต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาไม่สอดคล้องกับภาวะการตลาด โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว มีช่องทางเปิดให้เกิดการโกงทุกขั้นตอน ทางกระทรวงพาณิชย์ต้องทำงานมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการหาตลาดใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับผลผลิตที่ออกมาในแต่ละปี

     "สังเกตดูว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่ยอมเรื่องของข้าว ต่างจากผลผลิตอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ พืชผัก ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แต่ข้าวกระทรวงพาณิชย์ไม่ปล่อย เพราะรัฐบาลอัดงบประมาณในการดูแลด้านราคาอย่างมหาศาล อยากให้ คสช.ย้อนกลับไปมองว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ทำอะไรบ้าง ถึงเวลาต้องปรับโครงสร้างใหม่ เพราะอนาคตถ้าไม่มี คสช.เราจะไม่มีโอกาสแก้ปัญหาเองหรืออย่างไร?"นายชัยฤทธิ์ กล่าว  

    ด้าน นายประวิทย์ จตุรศรีวิไล นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของภาคการเกษตรว่า จะต้องแก้ไขหลักอยู่ 2 เรื่อง คือ รายได้ และเพิ่มผลผลิต ต่อไปจะทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่ได้ โดยเฉพาะชาวนาต้องดูแล หากผลผลิตราคาตกต่ำต้องหาแนวทางในการแก้ปัญหา อาจจะด้วยวิธีประกันราคาหรืออย่างอื่น บนพื้นฐานที่เหมาะสม และต้องวิเคราะห์ปีต่อปีเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องสรรหาปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรในราคาที่รับได้ และไม่กระทบต่อต้นทุนการผลิต ขณะที่ภาครัฐต้องมีมาตรการที่ผ่อนปรนผู้ประกอบการด้วย โดยเฉพาะในเรื่องกฎหมายต้องมีการแก้ไขให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน มิฉะนั้นผู้ประกอบการที่บริสุทธิ์ และทำอย่างถูกต้องจะหายหมด

     ส่วน ดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ กล่าวว่า อยากให้หันมาพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรที่จะทำให้ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต เพราะที่ผ่านมาไทยมีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ก้าวหน้าพอสมควร แต่กลุ่มองค์กรอิสระ หรือเอ็นจีโอ ออกมาต่อต้าน รัฐบาลกลับห้ามมีการพัฒนาวิจัยในระดับภาคสนาม ทั้งที่เพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ พม่า ได้อนุญาตให้เกษตรกรปลูกเพื่อการค้าแล้ว ตามมาด้วยอินโดนีเซีย เวียดนาม ก็มีความพร้อมแล้ว แต่ไทยกลับล้าหลัง จึงอยากให้ คสช.มองเทคโนโลยีตัวนี้เพื่อให้การพัฒนาในระดับภาคสนามต่อไป เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในอนาคต

     ในมุมมองคนที่อยู่ในวงการศึกษาอย่าง ดร.วีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลาง มองว่า ถึงเวลาที่จะต้องแก้ปัญหาภาคการเกษตรอย่างบูรณาการ เพราะทุกวันนี้ภาคการเกษตรไม่เชื่อมโยงกับโลกการศึกษาด้านการเกษตรและทำมาหากิน เด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจภาคการเกษตร ฉะนั้นต้องเน้นให้ความรู้ภาคการผลิต การบริโภค การบริหารจัดการ โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ตั้งในโรงเรียน เพื่อให้ความรู้ด้านการเกษตรอย่างถูกต้อง

     ขณะที่ ดร.อนันต์ ดาโลดม นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ในฐานะแม่งาน สรุปว่า การประชุมในวันนี้ได้ข้อสรุปที่พันธกิจ คือ 1.ให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาการเกษตรโดยเฉพาะระบบชลประทาน 2.กำหนดนโยบาย มาตรการ และวิธีการให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หรือเกษตรกรผู้เช่าที่ดินให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง 3.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ร่วมกับภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

      4.พัฒนาองค์กรเกษตรกรให้เข้มแข็ง เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และโปร่งใส 5.ปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรเพื่อให้ทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และอนาคต 6.ปรับโครงสร้างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อความเป็นเอกภาพในการบริหาร ขจัดการทุจริต คอร์รัปชั่น และการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เป็นธรรม 7.จัดทำสำมะโนภาคการเกษตรให้ทันสมัย ถูกต้องเป็นที่น่าเชื่อถือ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนา และการแก้ไขปัญหาในทุกด้าน 8.ปรับโครงสร้างการผลิตทางการเกษตร เสนอทางเลือกให้แก่เกษตรกร โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกร

     9.สร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร 10.ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากพืชที่ประเทศไทยมีการผลิต เหลือจากการบริโภค เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน เพื่อทดแทนการนำเข้าพลังงานจากฟอสซิส ยกระดับสินค้าเกษตร 11.น้อมนำแนวพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ และเศรษฐกิจพอเพียง มาส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม ตรากฎหมายสำหรับการพัฒนาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรในระยะยาว

       ทั้งนี้ เนื่องจากว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาภาคเกษตร รัฐบาลมักจะฟังจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสภาหอการไทยมากกว่า แต่ข้อสรุปในครั้งนี้ถือเป็นข้อเสนอที่มาจากองค์กรภาคการเกษตรโดยตรง และจะนำข้อสรุบทั้งหมดทำเป็นโรดแม็พ ยื่นเสนอให้ คสช.นำไปพิจารณาในการแก้ปัญหาภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบ และยั่งยืนต่อไป

http://www.komchadluek.net/detail/20140728/189041.html

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!