- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 25 October 2014 22:28
- Hits: 2841
'ประยุทธ์นิยม'อีกแล้ว จ่ายตันละพัน จ้างชาวนาเก็บข้าวในยุ้ง
แนวหน้า : ‘ประยุทธ์นิยม’อีกแล้ว จ่ายตันละพัน จ้างชาวนาเก็บข้าวในยุ้ง หอมมะลิ-ข้าวเหนียว 2 ล้านตัน นบข.งัดแผนดันราคาในตลาด ไฟเขียวแปลงร่างรับจำนำข้าว ให้สินเชื่อสูงล่อใจเก็บสต๊อก
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 4 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่าที่ประชุม นบข.ได้เห็นชอบ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต2557–2558เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการเก็บข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวในยุ้งฉางมากขึ้นในเป้าหมาย2 ล้านตันโดยหากราคาข้าวขยับขึ้นเกษตรกรค่อยขาย
“โดยจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ให้สินเชื่อเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกเข้ายุ้งฉางในอัตรา 90%ของราคาเป้าหมายตลาด อย่างเช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิที่มีราคาเป้าหมายของตลาดอยู่ที่ 16,000 บาทต่อตัน ทางเกษตรกรก็จะได้เงินเก็บข้าวเปลือกหอมมะลิในยุ้งฉางที่ 14,400 บาทต่อตันรวมถึงรัฐบาลจะให้ค่าเช่าสำหรับเก็บรักษาข้าวกับเกษตรกรอีก 1,000บาทต่อตันอีกด้วย รวมเป็น 15,400 บาทต่อตัน ส่วนข้าวเปลือกเหนียว ที่มีราคาเป้าหมายตลาดที่ 13,000 บาทต่อตัน ทางเกษตรกรก็จะได้เงินเก็บข้าวเปลือกเหนียวที่ 11,700 บาทต่อตัน รวมค่าเก็บรักษา1,000 บาทต่อตัน เป็น 12,700 บาทต่อตัน” น.ส.ชุติมา ย้ำ
ให้วงเงินกู้ 3 แสนระยะ 4 เดือน
ทั้งนี้ จะให้วงเงินกู้ในการเก็บยุ้งฉางกับเกษตรกรรายละไม่เกิน 300,000 บาทต่อราย ไม่รวมค่าเก็บรักษาโดยโครงการมีระยะเวลา4 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์2558 ส่วนวงเงินการให้สินเชื่อ ยังไม่ได้กำหนดชัดเจน เนื่องจากไม่แน่ใจว่าเกษตรกรจะมาขอสินเชื่อเก็บข้าวกี่รายเพราะเกษตรกรบางราย อาจจะนำข้าวไปขายเลยก็ได้
เงื่อนไขมี 3 เกษตรกรค้ำประกัน
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าเกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อกับทาง ธ.ก.ส.เพื่อขอสินเชื่อร่วมโ ครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกได้เลย จากนั้น ธ.ก.ส.จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเกษตรกรว่ามียุ้งฉางจริงหรือไม่ ก่อนจะอนุมัติสินเชื่อเก็บข้าวในยุ้งฉางและระหว่างโครงการจะลงพื้นที่ตรวจสอบอยู่เรื่อยๆว่ามีข้าวเก็บไว้ในยุ้งฉางจริง โดยทางเกษตรกรจะต้องมีเกษตรกรอีก 3 คน เพื่อค้ำประกันด้วยว่ามียุ้งฉางสำหรับเก็บข้าวจริง ส่วนการจ่ายค่าเช่าและเก็บรักษาข้าวเปลือกกับชาวนาหรือสหกรณ์ในราคาตันละ1,000บาทนั้น มีเงื่อนไขว่าเกษตรกรต้องเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางไม่น้อยกว่า30วันและเก็บรักษาโดยวิธีบรรจุกระสอบป่าน ดังนั้น จะส่งผลให้ชาวนาได้รับเงินค่าข้าวเพิ่มอีกตันละ1,000บาท
ให้กู้ยืมจูงใจเกี่ยวข้าวเก็บยุ้งฉาง
อีกทั้ง นบข.ยังเห็นชอบให้เกษตรกรกู้ยืมเงินเพื่อให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเป็นค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวไร่ละ2,000บาทด้วยดอกเบี้ย 0% ระยะเวลา2 เดือนโดยรัฐจะชดเชยดอกเบี้ย วงเงินสินเชื่อเฉพาะส่วนนี้รวม 13,574ล้านบาท เนื่องจากปัญหาเกษตรกรส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวข้าว โดยใช้รถเกี่ยวข้าว สะดวกสบายไม่ยุ่งยาก ประหยัดเวลาและขนส่งถึงโรงสีโดยมีต้นทุนต่ำ ประมาณ 700–800 บาทต่อไร่โดยกรณีใช้แรงงานเกี่ยวต้นทุนสูงถึง 1800–2000บาทต่อไร่เพราะค่าจ้างแรงงานปรับขึ้นจึงต้องใช้มาตรการดังกล่าว เพื่อจูงใจให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวที่จะมาเก็บรักษาในยุ้งฉาง
สต๊อกข้าวให้เปล่าชาวนาตันละพัน
ด้านนายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังการประชุม นบข.ว่าที่ประชุมให้ความสำคัญในการดูแลราคาสินค้าข้าวเป็นรายชนิดโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว ที่ผลผลิตกำลังออกมาช่วงนี้ปริมาณข้าวเปลือกประมาณ 2 ล้านตัน ส่วนใหญ่พื้นที่เพาะปลูกอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยการสนับสนุนเงินให้เปล่าในการเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางตัวเอง หรือของชุมชน ตันละ1,000 บาท โดยทาง ธกส.จะจ่ายให้กับชาวนาโดยตรง เมื่อ ธกส.ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็นเจ้าของข้าวตัวจริง จะจ่ายเงินให้ทันทีและมาตรการดังกล่าว โดยทางรัฐบาล ต้องการให้เงินดังกล่าว นำไปส่งเสริมให้ชาวนาซ่อมแซมยุ้งฉางของตัวเอง ที่ชำรุดทรุดโทรมด้วยเพราะที่ผ่านมาเมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วจะนำไปฝากไว้กับโรงสี ดังนั้น มาตรการนี้ จะช่วยส่งเสริมให้ชาวนารู้จักเก็บรักษาข้าวให้ได้คุณภาพที่ดีด้วยตัวเอง และยังสามารถดันราคาข้าวในตลาดให้ราคาสูงขึ้นได้“
มั่นใจสต็อกข้าว หวังดึงราคาสูงขึ้น
ทั้งนี้ นายอำนวยระบุอีกว่ารัฐบาลมั่นใจว่ามาตรการนี้จะจูงใจให้ชาวนาเก็บสต็อคข้าวไว้ในยุ้งฉางของตัวเองหรือ อาจจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นยุ้งฉางชุมนุมย่อมทำได้ ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถดึงราคาข้าวหอมและข้าวเหนียว ที่เพิ่งออกมาในขณะนี้ ที่ราคาตกต่ำ ประมาณ 8,000-9,000พันบาท อาจจะดึงราคาให้สูงขึ้น ได้ประมาณ1,000-1,500 บาทต่อตัน ถือป็นมาตรการใหม่เสริมขึ้นมาโดยงบประมาณทั้งหมดทางกระทรวงพาณิชย์ เป็นฝ่ายดำเนินการ
อัด 4,137 ล้าน จ้างงานกระตุ้นศก.
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เผยว่าตามที่รัฐบาลมีมติให้งดการปลูกข้าวนาปรังโดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง ช่วงฤดูแล้งนับตั้งแต่วันที่1พ.ย.2557ถึงเดือน เม.ย.2558 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีงานทำและมีรายได้ในช่วงภัยแล้งนั้น กรมชลประทานได้สั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดที่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในปี2558 และพื้นที่ที่งดการส่งน้ำสำหรับทำนาปรังในฤดูเพาะปลูก57/58 ให้เตรียมความพร้อมในการว่าจ้างแรงงาน ปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารชลประทาน สำนักงาน บ้านพัก ระบบชลประทาน และขุดลอกคูคลอง เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณปี 2558โดยมีงบประมาณสำหรับจ้างแรงงานและงบกระตุ้นเศรษฐกิจดำเนินการทั่วประเทศรวม 4,137 ล้านบาท
ภัยแล้งหนักสองลุ่มน้ำใน 20 ปี
“เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สองลุ่มน้ำ ไม่มีน้ำทำนาปรังในรอบ20ปี และเป็นครั้งแรกของกรมชลฯที่เสนอเข้าครม.เพื่อให้ตัดสินใจ งดส่งน้ำทำนาปรัง เพราะมีกระทบกับเกษตรกรจำนวนมากรวมทั้งทำอย่างไรให้เกษตรกรมีรายได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเกิดเงินหมุนเวียนในระบบได้ 4 เท่า โดยรัฐบาลและหน่วยงานราชการใช้จ่ายออกมา การไปสร้างใหม่ อาจล่าช้า ซึ่งกรมชลฯมีสิ่งก่อสร้างจำนวนมาก เราต้องดูแลการและใช้เงินไปซ่อมแซม และเชื่อว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ภายใน 3 เดือน” อธิบดีกรมชลประทาน ย้ำ
เร่งทำความเข้าใจ/เล็งขยายจ้างงาน
นายเลิศวิโรจน์ ขอเน้นย้ำถือเป็นเรื่องความสำคัญของประเทศ ต้องซักซ้อมทำความเข้าใจ การรับสมัครเกษตรกรในพื้นที่จะขยายมาตราการจ้างงานเกษตรกรไปสู่พื้นที่อื่นที่ประกาศงดทำนาปรังต่อไปเช่นเขื่อนแม่งัด แม่กวง ลำตะคอง ลำพระเพลิง อุบลรัตน์ ทับเสลา กระเสียว ศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ ที่อาจจ้างงานมา เป็นลูกจ้างชั่วคราวกรมชลฯที่มีการก่อสร้างในพื้นที่ซึ่งอยากให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เพราะปริมาณน้ำต้นทุนน้อยทุกเขื่อนทั่วประเทศ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการงดการส่งน้ำเพื่อการปลูกข้าวนาปรังมากที่สุด ได้ดำเนินการจ้างแรงงานภาคเกษตรรวม 1,467.19ล้านบาท ส่วนงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อใช้ในการจ้างแรงงานในครั้งนี้รวม 547.99 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างรอรับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ
จ้างชาวนา 1.2 ล้านครัวเรือน
ขณะที่นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทานได้กล่าวในระหว่างประชุมเตรียมความพร้อมการจ้างแรงงานและมาตราการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบปี 58 ของกรมชลประทานมีสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ เข้าร่วมรับฟังว่า ในสัปดาห์คาดว่างบจ้างแรงงานเกษตรกรนำไปใช้ในพื้นที่ได้ สำนักงานชลประทาน ในพื้นที่งดปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศ จะประกาศรับสมัครเกษตรกร เข้าจ้างงานซ่อมแซม รายได้วันละ300บาทในโครงการชลประทานซึ่งจะขยายการจ้างงานจากวันที่1 พ.ย.ปี นี้จนถึงเดือน เม.ย.ปีหน้า โดยในพื้นที่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด จะเป็นจังหวัดนำร่องจ้างชาวนาได้ก่อน ส่วนลุ่มน้ำแม่กลอง 4 จังหวัด จะเริ่มจ้างงานวันที่ 1 ธ.ค. โดยมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนทั้งหมด1.2 ล้านครัวเรือน ทั้งนี้ จะคัดเลือกเกษตรกรที่อยู่ในโครงการจัดสรรน้ำของแต่ละลุ่มน้ำมาจ้างแรงงานก่อน
วางแผนระบายน้ำเขื่อนยักษ์
นายสุเทพ กล่าวว่าแผนระบายน้ำช่วง6 เดือนจากนี้ต้องระบายจากเขื่อนภูมิพล สิริกิติส์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ มาลง ลุ่มเจ้าพระยา ในอัตราเฉลี่ย60 ลบม.ต่อวินาทีหรือวันละ 5 ล้านลบ ม.โดยปีที่ผ่านมาที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในช่วงเกิดน้ำทะเลหนุนสูงต้องระบายถึง70 ลบม.ต่อวินาที ในปีหน้าคาดว่าต้องใช้ปริมาณน้ำไหลผ่านที่บางไทร 80 -100 ลบม.ต่อวินาที จะสามารถผลักดันน้ำเค็มได้ และทำให้ค่าความเค็ม อยู่ที่ ระดับ 0.25 กรัมต่อลิตร ก็เสี่ยงมากที่ค่าความเค็ม จะสูงกว่านี้ จึงเตรียมแผนผันน้ำจากคลองชัยนาทมโนรมย์มาช่วยผลักดันด้วย
เตรียมป้องกันน้ำเค็มทะลัก
“สำนักชลประทานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มน้ำที่เกี่ยวข้อง ต้อง ดูแลอัตราการไหลของปริมาณน้ำตลอดลำน้ำให้ได้ตามนี้เพื่อรักษาการไหลอย่างนี้ให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดปัญหา การระบายน้ำปล่อยจากอ่างมาผลักดันน้ำเค็มมาตราการต่างๆทุกสำนักงานชลประทานในทุกลุ่มน้ำต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และประสานงบกับอบต.เพื่อขอใช้งบสูบน้ำเมื่อจำเป็นต้องนำน้ำมาเพิ่มในคลองส่งน้ำ เพื่อให้อัตราการไหลของแม่น้ำสายหลักคงที่ในการักษาระบบนิเวศน์และผลักดันน้ำเค็ม”นายสุเทพ กล่าว
แจกตันละพันหนุนเก็บข้าวยุ้งฉาง หวังดึงซัพพลายดันราคาตลาด
นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังการประชุมนโยบายข้าวว่าที่ประชุมให้ความสำคัญในการดูแลราคาสินค้าข้าวเป็นรายชนิด โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว ที่ผลผลิตกำลังออกมาในช่วงนี้ ปริมาณข้าวเปลือกประมาณ 2 ล้านตัน ส่วนใหญ่พื้นที่เพาะปลูกอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยการสนับสนุนเงินให้เปล่าในการเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางของตัวเอง หรือ ของชุมชน ตันละ 1,000 บาท โดยทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) จะจ่ายให้กับชาวนาโดยตรง เมื่อ ธกส.ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็นเจ้าของข้าวตัวจริง จะจ่ายเงินให้ทันทีและมาตรการดังกล่าวทางรัฐบาลต้องการให้เงินดังกล่าวนำไปส่งเสริมให้ชาวนาซ่อมแซมยุ้งฉางของตัวเองที่ชำรุดทรุดโทรมด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วจะนำไปฝากไว้กับโรงสี ดังนั้นมาตรการนี้จะช่วยส่งเสริมให้ชาวนารู้จักเก็บรักษาข้าวให้ได้คุณภาพที่ดีด้วยตัวเอง และยังสามารถดันราคาข้าวในตลาดให้ราคาสูงขึ้นได้
นายอำนวย กล่าวด้วยว่า รัฐบาลมั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวจะจูงใจให้ชาวนาเก็บสต็อกข้าวไว้ในยุ้งฉางของตัวเอง หรือ อาจจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นยุ้งฉางชุมนุมย่อมทำได้ ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถดึงราคาข้าวหอมและข้าวเหนียว ที่เพิ่งออกมาในขณะนี้ ที่ราคาตกต่ำประมาณ 8,000-9,000 พันบาท อาจจะดึงราคาให้สูงขึ้นได้ประมาณ 1,000 -1,500 บาทต่อตันถือว่านี้เป็นมาตรการใหม่เสริมขึ้นมาโดยงบประมาณทั้งหมดทางกระทรวงพาณิชย์เป็นฝ่ายดำเนินการ