- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 25 October 2014 22:12
- Hits: 2937
ต่อยอดกำจัดขยะด้วยไส้เดือน สู่ 'เดือนดินแดง' ปุ๋ยเกษตรกร
ทำมาหากิน : ต่อยอดกำจัดขยะด้วยไส้เดือน สู่ 'เดือนดินแดง' ปุ๋ยเกษตรกร : โดย...กวินทรา ใจซื่อ
สภาวะขยะล้นเมือง ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกฝ่ายร่วมหาทางแก้ไขเพราะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม ที่ผ่านมาจึงมีการรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักการคัดแยก ทว่าที่พบมีปริมาณมากคือขยะจากเศษอาหาร พืชผัก ขยะอินทรีย์อื่นๆ ซึ่งการฝังกลบไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นได้ เหตุนี้ทำให้เยาวชน จากสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) มีแนวคิดนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาใช้กำจัดขยะจากเศษอาหาร
โดยกลุ่มน้องๆ ประกอบด้วย ด.ญ.นฤมล แพงมา ชั้นมัธยมปีที่ 2 ด.ญ.พิมพ์ลภัส ศรีสำราญ ชั้นมัธยมปีที่ 3 และ น.ส.สุจิรา ธนานันท์ ชั้นมัธยมปีที่ 6 ซึ่งจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาเกิดจากพบว่าแต่ละวันเศษอาหารที่เหลือจากโรงอาหารมีปริมาณมากและมีกลิ่นเหม็นเน่า ทำให้มีคิดนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มากำจัดเศษอาหารเหล่านี้ ในโครงงาน “คุณภาพและปริมาณของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินจากขยะอินทรีย์ต่างชนิดกันและการเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดินด้วยสารละลายนาโนซิงค์ออกไซด์ ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของมะเขือเทศและยับยั้งเชื้อรา”
“เริ่มสำรวจปัญหาปี 2555 พบว่าปริมาณขยะอินทรีย์มีมาก และพบว่าการกำจัดส่วนใหญ่คือนำไปทำปุ๋ยหมัก จึงลงพื้นที่ศึกษาของจริง พบว่าจะเป็นการนำผักผลไม้มาหมักเท่านั้น จึงนำองค์ความรู้ที่ได้ประยุกต์ใช้กำจัดขยะจากเศษอาหารในโรงเรียน จากการวัดค่าธาตุอาหารเปรียบเทียบกันพบว่าขยะจากเศษอาหารผสมกับเศษใบไม้แห้งทำให้ได้ธาตุอาหารมากกว่าการหมักเฉพาะผักและผลไม้” ด.ญ.นฤมล เล่า
น.ส.สุจิรา หนึ่งในทีมวิจัย บอกว่า เมื่อเข้าใจปัญหาและรู้ธีการแก้ไขแล้วทั้ง 3 คน จึงนำขยะอินทรีย์ทุกชนิดที่มีในโรงเรียนมาทดลองทำเป็นปุ๋ยหมักทั้งหมด 12 สูตรการทดลอง มีส่วนผสมหลักคือเศษอาหาร ผัก ผลไม้ ใบไม้แห้ง ใช้เดือนดินสายพันธุ์ฟีเรททิมา พีกัวนา หรือพันธุ์ขี้ตาแร่ ที่มีลักษณะพิเศษ คือกินขยะอินทรีย์จำพวกเศษผัก ผลไม้ หมดอย่างรวดเร็วช่วยในการย่อยสลาย ถ่ายมูลเยอะ ถ่ายเร็ว ตัวไม่ใหญ่มาก
“ไส้เดือนสายพันธุ์ขี้ตาแร่ ช่วยย่อยสลายเศษขยะอินทรีย์ได้เร็วทำให้ย่นเวลาได้มากกว่าปล่อยให้ย่อยตามธรรมชาติ ประมาณอาทิตย์แรกจากเศษขยะกลายเป็นเม็ดดิน ใช้เวลา 28 วันไส้เดือนก็ย่อยสลายขยะได้ทั้งหมด ซึ่งทั้ง 12 สูตรที่ทดลองพบว่าสูตรที่ 4 ใช้ส่วนผสมเศษอาหาร 3 ส่วน ต่อเศษใบไม้แห้ง 1 ส่วน ได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพธาตุอาหารสูงสุดเหมาะใช้ในการเกษตร ทำให้พืชผักที่เติบโตรวดเร็ว” น.ส.สุจิรา เล่า
เมื่อได้ปุ๋ยหมักที่มีธาตุอาหารสูงแล้ว นักวิจัยรุ่นเยาว์จึงนำไปต่อยอดเพิ่มมูลค่า สร้างความแตกต่างให้ปุ๋ยไส้เดือนดินทั้ง 3 คนนำความรู้ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาศึกษาเปรียบเทียบ รวมถึงการค้นคว้าวิจัย พบว่าสารละลายนาโนซิงค์ออกไซด์มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อราได้ จึงนำมาศึกษาต่อยอดเปรียบเทียบระหว่างสารเคมีสังเคระห์กับสารละลายนาโนซิงค์ออกไซด์พร้อมทดลองเลี้ยงเชื้อราในห้องปฏิบัติการ โดยเติมสารนาโนซิงค์ออกไซด์ในปริมาณ 0.1 มิลลิลิตร
“เมื่อได้ข้อมูลแล้ว จึงเพิ่มสารละลายนาโนซิงค์ออกไซด์ลงในปุ๋ยหมักไส้เดือน แล้วนำไปแจกให้เกษตรกรทดลองใช้ อีกทั้ง ต่อยอดพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ในแบรนด์ชื่อ เดือนดินแดง จำหน่ายในอุทยานเกษตรของมหาวิทยาลัย และถนนคนเดิน ราคาถุงละ 30 บาท” ด.ญ.พิมพ์ลภัส พร้อมระบุสูตรที่คิดค้นขึ้นใช้ได้ผลดีกับมะเขือเทศ เพราะช่วยป้องกันรากและโคนเน่าจากเชื้อราได้ ช่วยทำให้มะเขือเทศเติบโตเร็วด้วย
“ผลิตภัณฑ์เดือนดินแดง” นับเป็นความพยายามของเด็กไทยกลุ่มเล็กๆ ที่ต้องการสร้างประโยชน์ให้สังคม จึงทำให้โครงงานคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี ระดับประเทศครั้งที่ 5 ระดับเยาวชนนักเรียน ประเภทนวัตกรรมเชิงพาณิชย์และนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ โดยจะได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี