- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 22 October 2014 22:07
- Hits: 3298
ธกส.ยันพย.ได้ครบทุกคน ชาวนาแห่ขึ้นทะเบียนเพิ่ม จ่ายไร่ละพันคึกคักทั่วปท.
แนวหน้า : เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาในวันแรก เป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยได้จ่ายเงินให้เกษตรกร 1.43 หมื่นราย วงเงินรวม 176.1 ล้านบาท โดยจะอัพเดตข้อมูลทุก 2 ชั่วโมงก่อนปิดระบบเวลา 22.00 น. ของทุกวัน เชื่อว่าหากระบบการตรวจสอบข้อมูลเกษตรกรเดินเต็มที่ ธ.ก.ส.จะจ่ายให้เงินให้เกษตรกรได้ประมาณวันละ 3 พันล้านบาททั่วประเทศ ภายในเดือนตุลาคมนี้ จะจ่ายเงินได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลืออีก 3 หมื่นล้านบาท จะจ่ายหมดภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีชาวนาได้รับเงินช่วยเหลือ 3.49 ล้านครัวเรือน ส่วนใหญ่ มีที่นาทำกินไม่เกิน 15 ไร่ ประมาณ 45% โดยตัวเลขชาวนาเป็นการประเมินจากฐานข้อมูลชาวนา ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรเมื่อปี 2554-55 เมื่อคำนวณเป็นเงิน 40,096 ล้านบาท แต่เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้วงเงินช่วยเหลือไว้ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท เผื่อไว้ในกรณีที่มีจำนวนชาวนามากกว่าที่ประเมิน
ลำพูนขึ้นทะเบียน13,179 ครัวเรือน
สำหรับ บรรยากาศการดำเนินการเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเกษตรกรในแต่ละจังหวัดนั้น เป็นไปอย่างคึกคัก โดยที่ จ.ลำพูน นายจำลอง เณรแย้ม ปลัดจังหวัดลำพูน กล่าวว่า จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า มีเกษตรกรชาว จ.ลำพูนที่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปี2557/58 จำนวน13,179 ครัวเรือน รวมพื้นที่ 86,699 ไร่
สุรินทร์ แห่ปรับสมุด-เปิดบัญชีใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา ทั้ง 17 อำเภอของ จ.สุรินทร์เป็นไปด้วยความคึกคัก เกษตรกรชาวนาลูกค้า ธ.ก.ส. แห่เปิดบัญชี เพื่อรอรับเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2557/2558 โดย จ.สุรินทร์มีเกษตรกรขึ้นทะเบียน 1 แสน 6 หมื่นครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 1.5 ล้านไร่ วงเงินรวมกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตตกต่ำ และมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพของเกษตรกร
ตราดเปิดลงทะเบียนรอบ 3
ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตราด ได้เปิดให้เกษตรกรที่ทำนาได้ขึ้นทะเบียนรอบที่ 3 เป็นวันสุดท้าย เพื่อรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลตามโครงการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ หรือไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งเป็นการเปิดให้เกษตรกรผู้ทำนาได้ขึ้นทะเบียนรอบสุดท้าย โดยมีเกษตรกรทำนาในเขตพื้นที่อำเภอเมืองตราดทยอยเดินทางมาขึ้นทะเบียนกันอย่างคึกคัก
ชาวนาพิษณุโลกแห่ขึ้นทะเบียน
ที่บริเวณสำนักงานเกษตรอำเภอชาติตระการ จ.พิษณุโลก เกษตรกรใน อ.ชาติตระการ จำนวนนับพันคนได้เดินทางมาขึ้นทะเบียนโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทุกครัวเรือน แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2557/58 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ
'กรณ์'เตือนพันธบัตรล้างหนี้ข้าว
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมออกพันธบัตร 30 ปี มูลค่า 800,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยความเสียหายจากโครงการจำนำข้าวรวม 3 ฤดูว่า เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่ปัญหาคือคนไทยไม่นิยมซื้อพันธบัตรอายุยาวกว่า 5 ปี และเงิน 8 แสนล้านบาทจะมีผลกระทบต่อการดูดสภาพคล่องออกจากระบบอย่างมาก ดังนั้น ต้องพิจารณารายละเอียดวิธีการเพิ่มเติม ครั้งที่แล้วที่มีการออกพันธบัตรลักษณะนี้คือ หนี้กองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงิน เพื่อชดใช้ความเสียหายจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี40 และจนถึงวันนี้หนี้นี้ยังใช้ไม่หมด
กรมชลย้ำงดส่งน้ำทำนาปรัง
นายเลิศ วิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรม ชลประทาน ยืนยันว่า ในส่วนที่เคยประกาศการงดส่งน้ำเพื่อเพาะปลูกข้าวนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงฤดูแล้งปี 2557/2558 นวน 22 จังหวัด คือ ตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา นครนายก สมุทรปราการ และสมุทรสาครนั้น ยังคงประกาศเดิม ไม่มีพื้นที่ยกเว้น
นายกฯเผยครม.หารือช่วยเกษตรกร
เมื่อเวลา 13.10 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ได้พูดถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนยาง ซึ่งมีการพูดคุยกันมาตลอดไม่ใช่เฉพาะวันนี้ เดี๋ยวจะมาน้อยใจว่าดูแลอันนี้ ไม่ดูแลอันนี้ แต่การรัฐบาลต้องค่อยๆ ทยอยดำเนินการ
ฟุ้งชาวนาขอบคุณช่วยเหลือไร่ละพัน
พล.อ.ประยุทธ์ ยังให้สัมภาษณ์กรณีที่ชาวนา ออกมาขอบคุณรัฐบาลที่จ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาทว่า ตัวแทนชาวนาได้มาขอบคุณกันใหญ่โต ตนได้บอกว่าใจเย็นๆ และบอกไปว่า รัฐบาลช่วยได้นิดเดียว ซึ่งชาวนาก็บอกว่าไม่เป็นไร พร้อมกับฝากให้ดูแลมาตรการอื่นๆ ซึ่งตนยินดี เพราะวันนี้รัฐบาลพอจะมีเงินใช้จ่ายได้บ้าง ซึ่งเรามองว่าเงินที่ช่วยเหลือมีจำนวนน้อย แต่ชาวนาก็บอกว่าพอใจในขั้นต้น เพราะเราเห็นใจชาวนา และไม่ได้ไปแทรกแซงราคาแต่อย่างใด
สวนยางเฮ!อนุมัติช่วยเท่าชาวนา
ขณะที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามที่ คณะกรรมการนโยบายยาง(กนย.) เสนอเงินอุดหนุนช่วยเกษตรผู้ปลูกยางพารา 1,000 บาท ต่อ ไร่ และไม่เกิน 15,000 บาท พร้อมทั้งมาตรการดึงราคายางพาราให้สูงขึ้น
วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8729 ข่าวสดรายวัน
ธกส.โต้งดจ่าย เงินช่วยชาวนา อุ้มยางไร่ละพัน
'บิ๊กตู่'ปลื้มช่วยชาวนา เผยมาขอเข้าพบขอบคุณที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ด้านธ.ก.ส.แจงไม่ได้โอนเงินให้เกษตรกรเมื่อวันอังคาร เป็นการปิดปรับปรุงระบบและทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการ ยันโอนได้ตามปกติไม่ต้องรอมติครม. อนุมัติแล้ว 5 มาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางตามข้อเสนอของกนย.ยันประเดิมจ่ายไร่ละ 1 พันแบบเดียวกับการช่วยชาวนาแต่ไม่เกิน 15 ไร่ภายในเดือนพ.ย.นี้
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมครม.ว่า ที่ประชุมครม.หารือเกี่ยวกับร่างกฎหมายหลายฉบับที่จะนำเข้าสนช.และเรื่องมาตรการช่วยเหลือชาวนา ชาวไร่ เกษตรกร ลูกจ้าง ซึ่งทั้งหมดมีการหารือกันมาตลอด เพราะจะเกิดความน้อยใจว่าไม่ดูแล แต่ต้องค่อยๆ ทยอยดูแล
นายกฯ กล่าวว่า วันเดียวกันนี้ ชาวนาก็เพิ่งเข้ามาขอบคุณเรื่องมาตรการที่ช่วยเหลือต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท ได้ครัวเรือนไม่เกิน 15,000 บาท แม้จะจำนวนน้อย ชาวนาก็ยินดีและพอใจที่มีเงินใช้จ่ายได้บ้าง ถือเป็นมาตรการที่เราออกมาช่วยเหลือเพื่อเห็นใจชาวนาไม่ใช่แทรกแซงราคาแต่อย่างใด และตนก็มีความพึงพอใจมาตรการช่วยเหลือชาวนาที่เริ่มดำเนินการไปตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค. ซึ่งตนได้ยืนยันว่ารัฐบาลมีความยินดีที่จะช่วยเหลือ มาตรการเบื้องต้นที่ออกไปแม้จะช่วยเหลือได้เพียงเล็กน้อย แต่ก็ถือเป็นมาตรการในลักษณะของการเห็นใจและยังไม่ได้เข้าไปแทรกแซงราคา
ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหายางพารา ตามที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) เสนอประกอบด้วย 1.การจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ รวมเป็นเงิน 8,500 ล้านบาท ซึ่งจะตรวจสอบบัญชีรายชื่อชาวสวนยางก่อนที่จะเริ่มจ่าย เงินได้ภายในเดือนพ.ย.นี้ 2.การใช้วงเงินอนุพันธ์กันชนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) วงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้องค์การสวนยาง(อ.ส.ย.)ไปรับซื้อยางจากในตลาดและจากสหกรณ์เข้าเก็บในสต๊อกไว้ขาย
3.ใช้วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท จากธ.ก.ส.ให้สหกรณ์ชาวสวนยางไปซื้อยางแผ่นมาอัดเป็นก้อนขายให้อ.ส.ย. 4.การให้วงเงินสินเชื่อกับผู้ประกอบการธุรกิจน้ำยางข้นจำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการไปรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรมาทำ น้ำยางข้น และ 5.การให้วงเงินสินเชื่อไม่เกินรายละ 100,000 บาท กับชาวสวนยางรายย่อยที่มีสวนยางไม่เกิน 15 ไร่ โดยชาวสวนยางสามารถกู้เงินกับธ.ก.ส.ที่เตรียมวงเงินไว้ให้จำนวน 10,000 ล้านบาท
วันเดียวกัน นายมนูญ อุปลา ประธานสหกรณ์การเกษตรเวียงสระ จำกัด หนึ่งในแกนนำเกษตรกรชาวสวนยาง จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่าสถานการณ์ราคายางพาราสัปดาห์นี้มีแนวโน้มดีขึ้นจาก 44 บาท มาเป็น 48 บาท ขึ้นมาประมาณ 4 บาทส่วนสาเหตุที่ราคาขยับขึ้นนั้น มาจากนโยบายรัฐบาลที่มีการสนับสนุนงบประมาณหลายส่วน และเริ่มดำเนินการอยู่ในขณะนี้ประกอบกับช่วงนี้มียางพาราออกสู่ท้องตลาดน้อยเนื่องจากฝนตกต่อเนื่องทำให้พ่อค้ามีการแย่งชื้อยางพาราตามความต้องการของตลาด
ส่วนการเคลื่อนไหวของชาวสวนยางนั้น นายมนูญกล่าวว่าขณะนี้ยังคงนิ่งอยู่ ส่วนหนึ่งแกนนำมีความเข้าใจถึงแนวโน้มตลาดโลก ประการที่ 2 เห็นความตั้งใจของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายการช่วยเหลือหลายโครงการ เช่น โครงการช่วยเหลือเงินทุนให้โรงงานกู้ยืมเพื่อพัฒนาเครื่องจักร โครงการเงินทุนให้กลุ่มสวนยางนำไปชื้อเครื่องจักรและโครงการให้สถาบันเกษตรกรกู้เงินไปชื้อยางพาราเพื่อ ต่อรองราคาตลาด ซึ่งขณะนี้งบประมาณโครงการเหล่านี้เพิ่งออกมาใช้ได้หลังผ่านการตรวจสอบจากหลายฝ่าย
นายมนูญ กล่าวว่า เราคาดหวังราคาไว้เพียงกิโลกรัมละ 60 บาท เกษตรกรก็สบายใจ เพราะตอนนี้ประสบปัญหาเรื่องแรงงาน เพราะหากราคาต่ำการหาลูกจ้างกรีดยางหายาก เพราะลูกจ้างไม่สามารถยังชีพได้เฉลี่ยมีรายได้แค่คนละ 68 บาทต่อวันเท่านั้น สำหรับการช่วยเหลือที่รัฐบาลจะให้ไร่ละ 1,000 บาท 15 ไร่ มองว่าส่วนแรกดี เพราะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและชดเชยรายได้ให้เกษตรกรแต่ยังไม่สามารถครอบคลุมเพราะชาวสวนยางไม่ได้เป็นเจ้าของสวนยางทุกคน ลูกจ้างยังคงเดือดร้อนเหมือนเดิม
นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ เปิดเผยกรณีการช่วยเหลือชาวสวนยางพาราของรัฐบาลจะช่วยเหลือชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินรายละ 15 ไร่ ว่า ภาคีเครือข่ายฯ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว ซึ่งถ้ามองแล้วมันก็ไม่แตกต่างกับนโยบายของรัฐบาลเก่าที่สนับสนุนงบให้ชาวสวนยางไร่ละ 2,520 บาท ถามว่า แตกต่างกันตรงไหน
"เราได้เสนอแนวทางให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาแต่ไม่ได้รับความสนใจ แล้วไปออกนโยบายช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท และอนุมัติงบประมาณให้ อสย.ซื้อยางจากชาวสวนมาเก็บในสต๊อก แสดงให้เห็นว่ามีความไม่ชอบมาพากลแน่นอน ที่สำคัญเราต้องการให้รัฐบาลตรวจสต๊อกยางที่เก็บไว้ในตอนนี้ 2.1 แสนตันว่าอยู่ยังไง ทำไมไม่ทำ แต่มาให้งบฯ อสย.ซื้อยางมาเก็บ ทำให้สงสัยว่ายางเก่าในสต๊อกไม่มี แล้วให้ซื้อยางใหม่มาแทนที่ ใช่หรือไม่"นายทศพลกล่าว
นายทศพล กล่าวอีกว่า การเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสต๊อกยางเหมือนกับตรวจสต๊อกข้าว โดยตั้งคณะกรรมการแล้วให้ตัวแทนภาคีเครือข่ายฯร่วมด้วย ซึ่งเรียกร้องมา 2 เดือนแล้วแต่เรื่องเงียบ ทำให้เชื่อมั่นว่าไม่มียางอยู่ในสต๊อก และยางในสต๊อกได้หายไปตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว ในเมื่อรัฐบาล คสช.เข้ามาก็ต้องตอบคำถามตรงนี้ให้ได้ว่ามีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ ซึ่งเราได้ตั้งข้อสงสัยว่าจะมีการเผาโกดังเพื่อจะทำลายหลักฐาน ถ้าเผาจริงเชื่อว่านั่นคือการทุจริตแน่นอน
"การต่อสู้ต่อไปเราจะเสวนา เครือข่ายฯ เพื่อเปิดโปงและตรวจสอบรัฐบาลชุดนี้ทุกขั้นตอน เพื่อปกป้องอาชีพที่เราทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษให้ยังคงอยู่ไปจนถึงลูกหลาน และให้ประชาชนเกษตรกรได้รับรู้ว่า เราไม่ได้รับการเหลียวแลในเรื่องนี้เลย ซึ่งเรียกร้องจนปากจะฉีกอยู่แล้วก็ไม่ได้รับความสนใจ แต่กลับไปเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติ ซึ่งเกษตรกรผิดหวังกับรัฐบาลชุดนี้เป็นอย่างมาก" นายทศพลกล่าว
นายทศพล ยังกล่าวอีกว่า ตอนนี้นายทุนหรือบริษัทต่างชาติกุมตลาดเกี่ยวกับสินค้าทางการเกษตรไว้จนหมด จนไม่มีที่เหลือไว้ให้เกษตรกรได้ทำมาหากินกันแล้ว ถ้ารัฐบาลยังเอื้อประโยชน์ให้นายทุนอยู่ ตนมั่นใจว่ารัฐบาลจะรู้สึกภายหลัง และเราจะใช้สิทธิเรียกร้องอย่างใดอย่างหนึ่งตามระบอบประชา ธิปไตย โดยจะออกมาต่อสู้ให้ถึงที่สุด แต่จะต่อสู้อย่างไรนั้นยังอยู่ในกระบวนการของชาวสวนยางที่กำลังคิดกันอยู่
รายงานข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าสาเหตุที่ธนาคารไม่ได้จ่ายเงินให้กับชาวนา ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ตามการปลูกข้าวจริงไม่เกินครัวเรือนละ 15 ไร่ หรือไม่เกิน 15,000 บาท เนื่องจาก ธ.ก.ส.ปิดปรับปรุงระบบชั่วคราว เพื่อให้พนักงานลงทะเบียนและรายละเอียดข้อมูลชาวนาเข้าระบบถึงเวลา 22.00 น. และเตรียมจ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ในวันที่ 22 ต.ค. โดยจะเริ่มโอนเงินให้ชาวนาที่ได้รับการตรวจสอบข้อมูลอย่างถูกต้องแล้วได้ตั้งแต่เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป
ขณะที่กระแสข่าวว่า ธ.ก.ส.หยุดแจกเงินชาวนาที่จังหวัดพะเยา เพราะต้องรอมติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) นั้น ยืนยันว่า การจ่ายเงินชาวนาสามารถดำเนินการได้ทันที ไม่ต้องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. แต่สาเหตุที่ชาวนาที่จังหวัดพะเยายังไม่ได้รับเงินดังกล่าว เนื่องจากต้องรอข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดพะเยา ที่กำลังเร่งดำเนินการสำรวจจำนวนเกษตรกรชาวนาที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับทางสำนักงานเกษตรอำเภอทั้ง 9 แห่ง ซึ่งเมื่อตรวจสอบเสร็จสิ้นก็จะเข้าสู่กระบวนการของธนาคารที่ต้องตรวจสอบเอกสาร ก่อนที่จะโอนเข้าบัญชีของชาวนาโดยตรงตามลำดับ