- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 22 October 2014 21:48
- Hits: 3012
เตือนเกษตรกรตื่นตัว ฝนน้อย งดส่งน้ำนาปรัง สศข.7 แนะปลูกพืชทนแล้งทดแทน
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ระบุ ปีนี้น้ำน้อย เกษตรฯ งดส่งน้ำทำนาปรัง แนะเกษตรกรตื่นตัว หันปลูกพืชทนแล้งทดแทน เพื่อลดความเสี่ยง และสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยสมามารถขอคำแนะนำได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ชัยนาท โทร. 056 405 006-8
นางจันทร์ธิดา มีเดช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ชัยนาท (สศข.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนปีนี้น้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย ไม่เพียงพอที่จะจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการทำนาปรังที่ต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมากได้ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานได้ประกาศงดส่งน้ำ สำหรับเพาะปลูกข้าวนาปรัง ในจังหวัดพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไป และแนะนำถึงปลูกพืชฤดูแล้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวไปแล้วนั้น
ในเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา เกษตรกรจากอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ได้มาขอคำปรึกษาจากศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรเขต สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 เกี่ยวกับการปลูกพืชทนแล้งทดแทนการทำนาปรัง โดยเกษตรกรสนใจที่จะปลูกถั่วลิสง ถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ สศข. 7 ได้ให้คำแนะนำถึงการปลูกพืช การพิจารณาเหมาะสมของดิน เนื่องจากพื้นที่เดิมเป็นพื้นที่นา เป็นดินเหนียว แต่พืชตระกูลถั่วต้องการดินที่ร่วน ระบายอากาศและน้ำได้ จึงควรมีการยกร่อง และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ปรับปรุงดิน ถ้าหากปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แม้ดินจะเหมาะสม แต่อาจมีปัญหาในการจำหน่าย เนื่องจากไม่มีแหล่งรับซื้อใกล้ๆ ส่วนถั่วลิสง และถั่วเหลือง สามารถหาตลาดได้ง่ายกว่า เนื่องจากสามารถจำหน่ายเป็นสินค้าเพี่อบริโภคได้
อย่างไรก็ตาม จากผลจากการวิเคราะห์ต้นทุนน้ำของกรมชลประทาน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 พบว่า มีเพียง 6,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่เพียงพอใช้ในการเกษตรเหลือใช้เฉพาะอุปโภคบริโภค และปล่อยรักษาระบบนิเวศเท่านั้น หากเกษตรกรทำการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เกษตรกรจะเสี่ยงต่อการได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำได้ เกษตรกรเองก็ได้มีการปรับตัวหันมาปลูกพืชทนแล้งทดแทนการทำนาปรังซึ่งต้องใช้น้ำมาก
ดังนั้น การที่เกษตรกรให้ความสนใจหันมาปลูกพืชทดแทนการทำนาปรังจะเป็นการช่วยพักดิน และตัดวงจรเพลี้ยกระโดดได้ ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกพืชทดแทน ไม่ต้องเสี่ยงต่อความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำด้วย ทั้งนี้ หากเกษตรกรมีข้อสงสัย สามารถขอคำปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรเขต สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 7 ชัยนาท โทร. 056 405 006-8 ในวันและเวลาราชการ นางจันทร์ธิดา กล่าว.
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร