- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 23 August 2020 18:00
- Hits: 5236
กรมปศุสัตว์รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมีย ให้เกษตรกรร่วมมือในการฉีดวัคซีน เพื่อให้สัตว์มีภูมิคุ้มกันโรค ลดความสูญเสียจากโรคระบาด
กรมปศุสัตว์รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมีย ให้เกษตรกรร่วมมือในการฉีดวัคซีน เพื่อให้สัตว์มีภูมิคุ้มกันโรค ลดความสูญเสียจากโรคระบาด
นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เนื่องจากพบมีการระบาดของโรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมียในพื้นที่หลายจังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม ขอนแก่น อุดรธานี แพร่ เชียงราย เลย และอุบลราชธานี ทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหายเนื่องจากมีสัตว์ป่วยตายจำนวนมาก โดยเฉพาะกระบือ ประกอบกับสภาพอากาศที่มีความเหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของโรค ดังนั้นกรมปศุสัตว์จึงกำหนดให้มีการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมียรอบที่1/2564 เร็วขึ้น โดยเน้นการฉีดวัคซีนในพื้นที่การเลี้ยงสัตว์ที่มีความเสี่ยงก่อน ได้แก่ พื้นที่ที่มีการเลี้ยงกระบือหนาแน่น พื้นที่เลี้ยงสัตว์ใกล้ตลาดนัดค้าสัตว์ เป็นต้น จึงขอให้เกษตรกรให้ความร่วมมือในการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เฮโมรายิกเซปทิซีเมีย เพื่อให้สัตว์มีภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ ลดความสูญเสียแก่เกษตร
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคเฮโมรายิกเซปทิซีเมียหรือโรคคอบวม เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อความรุนแรงในกระบือ ส่วนสัตว์ชนิดอื่นสามารถพบการเกิดโรคได้ ได้แก่ โค แกะ หมู ม้า อูฐ กวาง และช้าง เป็นต้น แต่ความรุนแรงของโรคจะลดลง เชื้อชนิดนี้สามารถอยู่ในระบบทางเดินหายใจสัตว์ปกติได้โดยที่ไม่แสดงอาการป่วยแต่เมื่ออยู่ในภาวะเครียด เช่น อากาศเปลี่ยนแปลง ขาดอาหาร การจัดการการเลี้ยงไม่ดี การใช้แรงงานมากเกินไปหรือการเคลื่อนย้ายสัตว์จนร่างกายอ่อนแอ เป็นต้น ในสภาวะเช่นนี้สัตว์ที่เป็นตัวพาหะจะปล่อยเชื้อออกมาปนเปื้อนกับอาหารและน้ำ เมื่อสัตว์ตัวอื่นกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป ก็จะป่วยเป็นโรคนี้และขับเชื้อออกมากับสิ่งขับถ่ายต่าง ๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ทำให้โรคเกิดการแพร่ระบาดต่อไป สัตว์ที่ป่วยเป็นโรคที่แสดงอาการแบบเฉียบพลันจะมีอาการซึม ไข้สูง น้ำลายไหล และตายภายในเวลาอันรวดเร็วไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นแบบเรื้อรังจะสังเกตเห็นอาการทางระบบหายใจคือ อ้าปากหายใจ หายใจหอบลึก ยืดคอไปข้างหน้า หายใจมีเสียงดัง ลิ้นบวมจุกปาก หน้า คอ หรือบริเวณหน้าอกจะบวมแข็งร้อน ต่อมาจะมีอาการเสียดท้อง ท้องอืด อุจจาระมีมูกเลือดปน สัตว์จะตายภายใน 2-3 วัน อย่างไรก็ตามโรคนี้ไม่เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน และโรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนให้กับสัตว์ที่มีอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไปปีละ 1 ครั้ง โดยกรมปศุสัตว์สนับสนุนวัคซีนสำหรับป้องกันโรคให้กับกระบือทุกตัว รวมทั้งโคที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรคกรมปศุสัตว์จึงขอความร่วมมือเกษตรกรให้สัตว์ได้รับการฉีดวัคซีน โดยสามารถติดต่อเพื่อขอรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่
ท้ายนี้กรมปศุสัตว์ ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะผู้เลี้ยงกระบือ ให้ดูแลสัตว์ของตนเองให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และป้องกันสัตว์ของตนเองไม่ให้สัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะนำเชื้อโรคเข้าฟาร์ม ได้แก่ คน ยานพาหนะต่างๆ สัตว์ที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่ เป็นต้น ประกอบกับหมั่นสังเกตอาการของสัตว์อย่างสม่ำเสมอ หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยข้างต้น ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารงานส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ หรือโทรแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่เบอร์ 063-225-6888 เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้ทันท่วงที ทั้งนี้หากเกษตรกรให้ความร่วมมือในการให้สัตว์ได้รับการฉีดวัคซีน และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในการป้องกันการเกิดโรค สัตว์ของท่านก็จะปลอดจากโรคดังกล่าวได้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ