- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 20 August 2020 10:25
- Hits: 5765
RID No.1 Express 2020 เร่งสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำอย่างยั่งยืน
“หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั้น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้” พระราชดำรัส ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2529
“น้ำคือชีวิต” น้ำ คือ ปัจจัยสำคัญในการขจัดความทุกข์ร้อนของราษฎรกรมชลประทานจึงได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” มาใช้พัฒนาแหล่งน้ำชลประทานในภาคเกษตร ใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน และรักษาระบบนิเวศน์ ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สร้างความมั่นคงของชาติ ภายใต้แผนปฏิบัติการ “RID NO.1” ซึ่งเป็นนโยบายของ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานที่มอบให้ผู้บริหารกรมชลประทาน และข้าราชการทุกคนนำไปใช้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี ให้สัมฤทธิ์ผล ใน 7 ด้านได้แก่ 1) เร่งรัดการดำเนินโครงการตามพระราชดำริ 2) ปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและงบประมาณทั้งระบบ 3) เร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 4) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ 5) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 6) นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงาน และ 7) ดำเนินการพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบ
ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี ภายใต้บริบทความเป็นองค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2579 นั้นมีเป้าหมายสำคัญคือ มุ่ง พัฒนาแหล่งน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน บริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เน้นป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำบนหลักการมีส่วนรวมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 17.95 ล้านไร่ พร้อมเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บ 13,243 ล้านลูกบาศก์เมตรในอนาคต
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ กรมชลประทานได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารเพื่อกำกับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี โดย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธาน และมีคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมชลประทานอีก 5 คณะ ประกอบด้วย 1) คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพลักษณะลุ่มน้ำ โดย นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง เป็นประธาน 2) คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการนำอย่างบูรณาการตามวัตถุประสงค์การใช้น้ำ โดย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพลรองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษาเป็นประธาน 3) คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันความเสียหายและสนับสนุนการบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ โดย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพลรองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษาเป็นประธาน 4) คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่าย และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารจัดการน้ำชลประทานในระดับพื้นที่ โดย นายสุชาติ เจริญศรีรองอธิบดีฝ่ายบริหารเป็นประธาน และ 5) คณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนสู่องค์กรอัจฉริยะโดย นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการเป็นประธาน
ผลการดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปีในปีงบประมาณ 2561-2563 ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จครบทุกด้าน ได้แก่ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 3,175 โครงการ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 55 โครงการ โครงการปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงาน โดยเฉพาะแผนแม่บทพัฒนาลุ่มน้ำระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และระดับภาค นั้นก็มีความคืบหน้าไปมาก กรมชลประทานได้วางแผนยุทธศาสตร์พัฒนาท้องถิ่น ระดับลุ่มน้ำ 3 โครงการได้แก่โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรีโครงการพัฒนาลุ่มน้ำชี (ตอนบน) จังหวัดชัยภูมิ และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำล้าเชียงไกร (ตอนล่าง) จังหวัดนครราชสีมา
กรมชลประทาน ได้ปรับปรุงการจัดทำแผนงานระยะปานกลาง (MTEF) จัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน รวมทั้งริเริ่มแนวทาง PPP (Public Private Partnership) ซึ่งเป็นการร่วมทุนภาครัฐและเอกชนมาใช้ในการทำงานชลประทาน
ขณะเดียวกันกรมชลประทานได้เร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ทั้งโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กให้เป็นไปตามแผน พัฒนาระบบการแพร่กระจายน้ำในระดับแปลงนาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และจัดทำแผนงานรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำต่อยอดศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะให้สามารถพยากรณ์และเตือนภัยได้อย่างแม่นยำ ปรับปรุงโครงการชลประทานที่มีอายุการใช้งานมานานให้สอดคล้องกับสภาพการใช้งานปัจจุบัน สร้างทางเลือกในการดำเนินการส่งน้ำและบำรุงรักษาในงานชลประทาน ตรวจสอบวิเคราะห์ความมั่นคงของเขื่อนให้มีความมั่นคงแข็งแรง วางแผนรับมืออุทกภัยและภัยแล้ง และบูรณาการความร่วมมือกับ SC ในระดับพื้นที่ การพัฒนาสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ตรวจสอบการใช้พื้นที่ราชพัสดุและแก้ปัญหาการบุกรุกของราษฎร ส่งเสริมการใช้พื้นที่เขตคลองเป็นพื้นที่แก้มลิง และขยายผลพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในยามวิกฤติ ตลอดจนการพัฒนาศูนย์ศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชน
พร้อมกันนี้ กรมชลประทานให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยจากน้ำ เร่งรัดการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน (JMC) และอาสาสมัครชลประทานให้เต็มพื้นที่ชลประทานตลอดจนการทบทวนการดำเนินงาน 1 โครงการ 1 ล้านบาท
กรมชลประทานได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการปฏิบัติงานทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำ และการพัฒนาระบบงานให้เข้าสู่ Digital Platform และมุ่งพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบ โดยปรับโครงสร้างหน่วยงานและปรับปรุงระดับตำแหน่งของบุคลากรให้สูงขึ้น
ความสำเร็จของแผนปฏิบัติงานตามแนวทาง RID No.1ตลอดช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาทำให้กรมชลประทานมุ่งมั่นพัฒนาขยายผลต่อยอดเป็น “RID No.1 Express 2020” บนแนวคิด “ทำงานสุดกำลัง ตั้งมั่นสุจริต ใช้ชีวิตพอเพียง”เพื่อพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำ และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน การพัฒนาบุคลากร รวมทั้งพัฒนาระบบงานให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้ประชาชน และเกษตรกรมีแหล่งน้ำกิน น้ำใช้อย่างเพียงพอเพื่อให้มีอาชีพและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ในปีนี้ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน มุ่งพัฒนาต่อยอดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กรมชลประทานเป็นวาระเร่งด่วน ภายใต้แนวทาง “RID No.1 Express 2020” ใน 6 ด้าน ได้แก่
1. เร่งรัดก่อสร้างโครงการตามพระราชดำริ ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ จำนวน 216 โครงการ
2. พัฒนาระบบแพร่กระจายน้ำในระดับแปลงนาให้ครอบคลุมพื้นที่จัดรูปที่ดินและการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม โดยมีเป้าหมายปรับปรุงพื้นที่ชลประทานในไร่นาจำนวน 86,300 ไร่ในปี 2563
3. เร่งรัดปรับโครงสร้างหน่วยงานและปรับปรุงระดับตำแหน่งบุคลากรให้สูงขึ้น
4. เร่งรัดการร่วมทุนภาครัฐและเอกชนในการทำงานชลประทาน โดยพัฒนา ต่อยอด โครงการประชารัฐร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships : PPPs) การปรับปรุง พ.ร.บ.ชลประทาน พ.ศ.2485 ให้แล้วเสร็จ และต่อยอดระบบส่งน้ำและกระจายน้ำระดับแปลง การขุดลอกเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำทั้งประตูระบายน้ำ แก้มลิง อาคารบังคับน้ำ
5. โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เน้นปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม 7 แห่ง พัฒนาแหล่งน้ำใหม่ 4 แห่ง เชื่อมโยงแหล่งน้ำและระบบผันน้ำ 4 แห่ง สูบกลับท้ายอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง วางมาตรการป้องกันน้ำท่วม 4 แห่ง
6. เร่งรัดการจัดตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) และอาสาสมัครชลประทาน ให้เต็มพื้นที่ชลประทาน โดยแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน 26 คณะ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 581,435 ไร่ อาสาสมัครชลประทาน 844 คน จัดตั้งแล้วเสร็จ รวม 4,212 ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 2,110,000 ไร่ กลุ่มผู้ใช้น้ำ 1017 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 810,857 ไร่ และกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน 121 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 1,492,330 ไร่
กรมชลประทานทุ่มเทความคิด และตั้งใจทำงาน พัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศเพื่อให้เกษตรกรและประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด มีน้ำกิน น้ำใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และมีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับดูแลสิ่งแวดล้อมและใช้ในภาคการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป
AO8573
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ