- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 05 August 2020 21:09
- Hits: 6502
กรมชลประทาน มุ่งพัฒนาแหล่งน้ำ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ภายใต้ 4 ภารกิจสำคัญ ‘จัดหา จัดเก็บ จัดสรร และ จัดการ’
ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 320 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตรประมาณ 149 ล้านไร่ เป็นพื้นที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานได้ประมาณ 60 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการพัฒนาพื้นที่ชลประทานไปแล้วกว่า 33 ล้านไร่ ยังคงเหลือประมาณ 27 ล้านไร่ ที่จะต้องดำเนินการต่อไป
กรมชลประทาน ได้เร่งรัดงานพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ โดยกำชับให้ทุกโครงการแล้วเสร็จภายในกรอบงบประมาณและระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากโครงการได้อย่างเต็มศักยภาพ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กำหนดไว้ ในการเร่งรัดและพัฒนาแหล่งน้ำเดิมควบคู่กับการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่
เป้าหมายของกรมชลประทาน ที่จะพัฒนาพื้นที่ชลประทานให้ได้อีก 18 ล้านไร่ ในส่วนของปริมาณน้ำท่ามีเฉลี่ยปีละ 280,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้เพียง 82,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 37 กรมชลประทานจึงต้องหาแนวทางเก็บกักน้ำให้ได้เพิ่มขึ้น เป้าหมายใน 20 ปีข้างหน้าคือเพิ่มปริมาณน้ำให้ได้ 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของคนทั้งประเทศในอนาคต
สำหรับโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐบาลที่ให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการ หลายโครงการสามารถเริ่มเก็บกักน้ำได้ และพร้อมส่งน้ำให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ได้แล้ว และมีหลายโครงการที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้ อาทิ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่, โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุตรดิตถ์, โครงการเขื่อนทดน้ำผาจุก จังหวัดอุตรดิตถ์, โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล - บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง (คลองระพีพัฒน์) พื้นที่ภาคตะวันออก มีการประเมินเบื้องต้นโดยหน่วยงานต่างๆ ในความต้องการใช้น้ำพบว่า ด้านอุปโภค บริโภค และอุตสาหกรรม ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 350 ล้านลูกบาศก์เมตร /ปี จะเพิ่มขึ้นเป็น 820 และ 1,050 ล้านลูกบาศก์เมตร /ปี ในระยะ 10 และ 20 ปี ข้างหน้าตามลำดับ
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและโครงข่ายน้ำในภาคตะวันออก เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเป็นศูนย์กลางด้านผลไม้ของไทย อาทิ ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด และอ่างเก็บน้ำแก่งหางแมว รวมถึงสำรวจลำน้ำสาขา เพื่อพิจารณาดำเนินการปรับปรุงขยายคลอง สร้างประตูระบายน้ำ (ปตร.) ในส่วนของจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าลาดที่ประสบปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็มกระทบต่อการผลิตระบบประปา กรมชลประทาน ได้เตรียมแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้กรมชลประทานเร่งรัดเสนอโครงการอ่างเก็บน้ำหนองกระทิง และอ่างเก็บน้ำคลองกระพง เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อเพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำในภูมิภาค และใช้ประโยชน์จากน้ำให้ได้มากที่สุด
ขณะที่ในพื้นที่ภาคใต้ ได้เร่งดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี, ชุมพร, นครศรีธรรมราช, ตรัง และ สงขลา โดยการดำเนินงานมีความคืบหน้าไปมาก บางโครงการคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 70-80 ของแผนงาน ปัจจุบันสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้แล้ว และทุกโครงการได้ก่อสร้างประตูระบายน้ำ (ปตร.) บริเวณปลายคลองเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อีกด้วย สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีโครงการอ่างเก็บน้ำยะรม อ.เบตง จ.ยะลา สามารถเก็บกักน้ำได้ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมจะรองรับการขยายตัวของเมืองเบตง และพื้นที่สามเหลี่ยมเศรษฐกิจในอนาคต (ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย)
สำหรับพื้นที่การเกษตรรอบทะเลสาบสงขลา ที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด กรมชลประทาน ได้มีโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา เบื้องต้นได้เร่งรัดจัดหาแหล่งน้ำจืดให้กับประชาชน ด้วยการจัดหาพื้นที่แหล่งน้ำธรรมชาติ ตระพังรอบพื้นที่ โดยการขุดขยายคลองเดิมและสร้างประตูระบายน้ำ (ปตร.) เพื่อเก็บกักน้ำและสามารถสำรองน้ำไว้ใช้ในพื้นที่
การดำเนินการดังกล่าว อยู่ภายใต้ 4 ภารกิจสำคัญของกรมชลประทาน คือ “จัดหา จัดเก็บ จัดสรร และจัดการ” ซึ่งในทุกกระบวนการได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกขั้นตอนเพื่อให้การดำเนินงานโครงการเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยการสร้างกระบวนการรับรู้ การมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน รวมถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของความสำเร็จของกรมชลประทานที่ช่วยกันหนุนและนำการบริหารน้ำของกรมชลประทานผ่านพ้นวิกฤติแล้งและท่วมมาด้วยกัน
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังยึดมั่นในหลักการทรงงานตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ด้วยการรับฟังข้อเสนอของประชาชน เพื่อนำมาหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้ได้แนวทางเหมาะสมที่สุดกับประชาชน หลายโครงการจึงสามารถเดินหน้าได้ ทั้งยังเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (2561-2580) โดยมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทานกว่า 18 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บอีกกว่า 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ทั้งนี้เป้าหมายสูงสุดคือ การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาอุทกภัย รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเพื่อพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
AO8110
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ