- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 20 July 2020 10:40
- Hits: 6569
สอวช. ชูสมาร์ทฟาร์ม เพิ่มความสามารถเกษตรกรไทย เสนอภาคการศึกษาปรับภาพลักษณ์การเรียนสายเกษตร
ดึงพลังเด็กรุ่นใหม่เป็นกุญแจสำคัญพลิกโฉมวงการเกษตรไทยสู่เกษตรสมัยใหม่
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับเกียรติจาก นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด มาบรรยายพร้อมแลกเปลี่ยนใน หัวข้อ Smart Farming เพิ่มความสามารถเกษตรกรไทย กรณีศึกษาคูโบต้าฟาร์ม อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี และยังได้รับเกียรติจาก นายอารีย์ ชวลิตชีวินกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทซิเมนต์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุน คณาจารณ์มหาวิทยาลัยและนักวิจัยรุ่นใหม่ มาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยน
นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สยาม คูโบต้า ได้น้อมนำพระบรมราโชวาท ของรัชกาลที่ 9 “ความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญภาคการเกษตรเป็นสำคัญ” มาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการเกษตรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการนำองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยีการเกษตร และเครือข่ายต่างๆ ที่ สยามคูโบต้ามี เข้าไปช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ ให้เกิดเป็น “ชุมชนต้นแบบ” ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่าน “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า” ให้แก่เกษตรกรในชุมชน ชุมชนใกล้เคียง และเกษตรกรผู้ที่สนใจได้
สำหรับการจะนำองค์ความรู้นวัตกรรม เทคโนโลยีการเกษตรมาใช้พัฒนาเกษตรในประเทศได้นั้น จำเป็นต้องรู้ข้อจำกัด และความท้าทายในการพัฒนาภาคเกษตรไทย โดยความท้าทายของไทย คือ การจัดการน้ำเพื่อการเกษตร สภาพภูมิอากาศที่มีความผันผวน ปัญหาผลผลิตทางการเกษตร แรงงานภาคการเกษตร หนี้ครัวเรือนเกษตร รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นต้น
“การจัดการเกษตรกรรมครบวงจรของคูโบต้า คือการใช้เทคนิคการเพาะปลูก ผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรอย่างลงตัว จนกลายเป็นรูปแบบการทำเกษตรที่มีความแม่นยำ และมีแบบแผน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการปฏิรูปพื้นที่ การเตรียมดิน การเพาะปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูป และการขนส่งผลผลิต นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถควบคุมปัจจัยการเพาะปลูก ได้แก่ ดินและน้ำ ในขั้นตอนต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ตลอดจนการคาดการณ์สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อช่วยเกษตรกรในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและรายได้ ตลอดจนยกระดับและสร้างมาตรฐานเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก และช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรรวมไปถึงสิ่งแวดล้อม เพื่ออนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน นอกจากนี้การจะให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีมาเป็นเกษตรสมัยใหม่ มีการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อการเกษตรเพื่อความแม่นยำมากขึ้น จำเป็นต้องทำให้เกษตรกรเห็น สร้างประสบการณ์จริงในการเพาะปลูกพืชด้วยวิธีการเกษตรสมัยใหม่ ให้ความรู้และเน้นการปฏิบัติจริงในการทำการเกษตรเต็มรูปแบบ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้และให้ความมั่นใจว่าเป็นแนวทางที่จะสามารถทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืนยิ่งขึ้น” นายสมศักดิ์ กล่าว
สำหรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ที่คูโบต้านำมาใช้นั้น เกิดจากการพัฒนาของบริษัทรวมถึงความร่วมมือแบบบูรณาการกับเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย รวมถึงกระทรวง อว. อาทิ โดรนเพื่อการเกษตร แอพพลิเคชั่นปฏิทินการเพาะปลูกข้าว ระบบควบคุมทิศทางอัตโนมัติ การวัดสีใบข้าว สถานีวัดสภาพอากาศ แอพพลิเคชั่นระบุพิกัดและสถานะการทำงานของเครื่องจักร ระบบให้น้ำอัจฉริยะ โรงเรือนเพาะปลูก การวิจัยเพื่อออกแบบพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การผลิตกระแสไฟฟ้าบนแปลงเพาะปลูกพืช ตลอดจนการเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยเครื่องคัดคุณภาพผลผลิต เป็นต้น ทั้งนี้ การทำงานคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรนั้น จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านการวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยบริษัทมีทีมวิจัยของบริษัทเอง และทีมวิจัยจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่มาร่วมกันพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสถานการณ์ของประเทศ เช่น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรต้องสามารถระบุแหล่งที่มา สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ จึงมีโครงการในการพัฒนาระบบโรงเรือนขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพเกษตรสมัยใหม่ โดยการนำศักยภาพ องค์ความรู้และแนวคิดของคนรุ่นใหม่มาออกแบบเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อประลองฝีมือและหาแนวทางต่อยอดขยายผลในอนาคต
ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า แนวโน้มในอนาคตประเทศไทย นอกจากจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เด็กรุ่นใหม่ก็สนใจเรียนด้านการเกษตรลดลง แต่จากการแลกเปลี่ยนแนวคิดเกษตรสมัยใหม่ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนข้างต้น จะเห็นว่าการนำงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในภาคเกษตรกรรม ช่วยทุ่นแรง แทบไม่ต้องลงแปลงจริง สามารถทำงานได้อย่างแม่นยำ และยังสามารถต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการรายย่อย หรือสตาร์ทอัพในการคิดค้น พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรได้ ประเด็นที่น่าขบคิดต่อด้านการจัดทำนโยบาย คือ การปรับภาพลักษณ์การศึกษาในสายการเกษตร ว่าองค์ความรู้ด้านการเกษตรไม่ใช่แค่เรื่องพืชพันธุ์ หรือการเพาะปลูกเท่านั้น แต่คนจะเรียนเกษตรสมัยใหม่ได้ต้องมีองค์ความรู้รอบด้าน ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมถึงการต่อยอดทางธุรกิจ ทำให้เกิดเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ให้สนใจเข้ามาเรียนและนำความรู้ไปพัฒนาการเกษตรไทยมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าพลังคนรุ่นใหม่จะช่วยพลิกบทบาทการเกษตรไทยให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ได้อย่างไม่ยาก
“องค์ความรู้ที่บริษัทมีและสามารถแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรม หากยกระดับให้เกิดเป็น KUBOTA Farm Academy โดยร่วมกับมหาวิทยาลัย พัฒนาเป็นหลักสูตรและมีการการันตีองค์ความรู้ที่ผู้เรียนได้รับผ่านใบรับรอง จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะต่อยอดให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การปรับโครงสร้างทางการเกษตรของประเทศสู่ สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ และสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ได้ในอนาคต” ดร.กิติพงค์ กล่าว
AO7471
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web