- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 18 July 2020 18:34
- Hits: 5839
เกษตรฯ จับมือ ช้อปปี้ ปรับกลยุทธ์ รุกฐานตลาดออนไลน์ สร้างเทรดเดอร์ ช่วยเกษตรกรกระจายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม รับยุคนิวนอร์มอล
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) ในครั้งนี้ ว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ คือการส่งเสริมและขยายตลาดสินค้าเกษตรสู่ตลาดออนไลน์ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางการกระจายผลผลิตเกษตรโดยใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมามีการอบรมเกษตรกรให้เป็นผู้ค้าออนไลน์มืออาชีพ มีเกษตรกรให้ความสนใจ และเข้าร่วมโครงการกับกระทรวงเกษตรฯ อย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันเกษตรกรหลายรายประสบความสำเร็จ และสามารถจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างยอดจำหน่ายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 30%
กระทรวงเกษตรฯ ต่อยอดการดำเนินงานด้านตลาดออนไลน์ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น โดยร่วมกับ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) จัดอบรมเกษตรกร ให้เป็นผู้จำหน่ายสินค้าเกษตรออนไลน์มืออาชีพประจำอำเภอ ซึ่งนอกจากจะจัดอบรมให้เกษตรกรทั้ง 4 กลุ่มเดิม คือ เกษตรแปลงใหญ่ กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และ Young smart farmer แล้ว ในครั้งนี้เรายังขยายโอกาสไปยังลูกหลานเกษตรกร หรือ ศพก. หรือ อาสาสมัครด้านการเกษตรที่มีความพร้อม มาร่วมเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า หรือ เทรดเดอร์ ให้เกษตรกรอีกด้วย ซึ่งจะเป็นการเติมเต็มให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ยังไม่มีความพร้อมในการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ได้มีโอกาสจำหน่ายสินค้าเกษตรของตนเองออกสู่ตลาดได้อย่างทั่วถึง
“ทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่าการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ ทุกฝ่ายปรับตัวสู่ New Normal อย่างเห็นได้ชัด ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้ขับเคลื่อนนโยบายตลาดเกษตรออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง และวันนี้เราได้พันธมิตรชั้นนำอย่าง ช้อปปี้ ประเทศไทย จำกัด แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในประเทศมาดำเนินงานร่วมกัน จึงมั่นใจได้ว่าทีมงานที่มีประสิทธิภาพของทางช้อปปี้ที่ได้เข้ามาช่วยฝึกอบรม จะช่วยให้เกษตรกรพัฒนาสู่ผู้จำหน่ายสินค้าเกษตรมืออาชีพประจำอำเภอได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯขอขอบคุณทางบริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินโครงการร่วมกันในครั้งนี้” นายเฉลิมชัย กล่าว
ด้าน มร. เทอเรนซ์ แพง ประธานฝ่ายปฏิบัติการ ช้อปปี้ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ ช้อปปี้พร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรและกลุ่มเป้าหมายตามแผนงานโครงการที่ได้ตกลงร่วมกัน เพื่อให้เกษตรกรก้าวสู่การเป็นผู้ค้าออนไลน์มืออาชีพ และมีเทรดเดอร์ มาร่วมสนับสนุนกระจายผลผลิตให้เกษตรกรในทุกพื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจากรายงานของบริษัทเก็บสถิติแอพ App Annie รวมสถิติการดาวน์โหลดแอพบน AppStore และ Play Store ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 ทางช้อปปี้ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นแอพพลิเคชั่นในหมวดช้อปปิ้งอันดับ 1 จากยอดผู้ใช้งานต่อเดือน (Monthly Active Users) และการใช้เวลาบนแอปพลิเคชั่นในระบบปฏิบัติการ Android สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน ดังนั้น ความร่วมมือกันในครั้งนี้ ช้อปปี้และกระทรวงเกษตรฯ จะร่วมกันสร้างฐานการตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ที่แข็งแรง เติบโต และเข้าถึงผู้บริโภคอย่างไร้ขีดจำกัด
“ปัจจุบัน ช้อปปี้ เป็นอีคอมเมิร์ซแพลทฟอร์มอันดับหนึ่งที่ถูกใจทั้งคนซื้อและคนขาย เรามีแบรนด์ชั้นนำบน Shopee Mall กว่า 1,500 แบรนด์ และมีทีมงานพร้อมที่จะร่วมพัฒนาทักษะอีคอมเมิร์ชให้แก่เกษตรกร เจ้าหน้าที่และเครือข่ายของกระทรวงเกษตรฯ ให้สามารถนำทักษะและความสามารถไปประยุกต์ใช้ต่อยอดได้ นอกจากนี้ ช้อปปี้ พร้อมที่จะสนับสนุนเผยแพร่โครงการด้านการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของกระทรวงเกษตรฯ ผ่านสื่อต่าง ๆ ของบริษัท รวมทั้งจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายให้แก่เกษตรกร กลุ่มแปลงใหญ่ กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และ Young Smart Farmer เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้าออนไลน์อย่างเต็มที่” มร. เทอเรนซ์ กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ และ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด จะจัดคอร์สฝึกอบรมให้เกษตรกรทั้ง 4 กลุ่มเดิม และกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมตามวัตถุประสงค์โครงการ ได้เข้าร่วมตามหลักสูตรที่กำหนด โดย 1 คอร์ส ใช้ระยะเวลา 7 วัน อีกทั้งยังพัฒนาการฝึกอบรมให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ด้วยการเปิดอบรมทั้งระบบออฟไลน์และระบบออนไลน์ ซึ่งภายในปี 2563 นี้ กำหนดเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย
รมว.เกษตรฯ 'เฉลิมชัย' มุ่งผลักดันให้เกษตรกรผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐานอาหารปลอด (Food Safety) ตอกย้ำความพร้อมในการเป็นครัวโลก
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บรรยายพิเศษ 'เกษตรไทย มาตรฐานโลก' ภายในงาน “อาหารไทย อาหารโลก” เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ว่า การจัดงาน “อาหารไทย อาหารโลก” เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ในวันนี้ มีเป้าหมายในการถ่ายทอดและสร้างการรับรู้ถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ ในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศในฐานะผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก สร้างการรับรู้ถึงการเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตทางการเกษตรและอาหารสู่ช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ สร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพช่องทางการกระจายสินค้าเกษตร สร้างโอกาสการขายสินค้าให้กลุ่มเกษตรกรในทุกกลุ่มสินค้า และเพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าประเทศไทยพร้อมเป็นครัวโลกด้วย “อาหารปลอดภัย”
ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายในการพัฒนาที่สำคัญ คือ การรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรและรายได้ให้กับเกษตรกรในสินค้าเกษตรสําคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา มันสําปะหลัง ปาล์ม อ้อย และข้าวโพด ซึ่งได้มีการดำเนินการแล้วในส่วนของการประกันรายได้เกษตรกรในสินค้าทั้ง 6 รายการ รวมถึงการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังของภาครัฐ การพัฒนาองค์กรเกษตรกรและเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยเพิ่มทักษะการประกอบการและพัฒนาความเชื่อมโยงของกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ ในทุกระดับ โดยเฉพาะด้านการตลาด การค้าออนไลน์ ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร โดยใช้ประโยชน์จากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ การลด ละ เลิกใช้ยาปราบศัตรูพืชโดยเร็ว เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center) หรือ AIC เพื่อขับเคลื่อนการเกษตรสมัยใหม่ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ครบแล้วทั้ง 77 จังหวัดด้วย
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า เกษตรสมัยใหม่ หรือ'เกษตรทันสมัย' เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ระหว่างการผลักดันให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อเชื่อมโยงกับช่องทางการตลาด “พาณิชย์ทันสมัย” ของกระทรวงพาณิชย์ที่กำลังเร่งดำเนินการเช่นกัน โดยเกษตรทันสมัย นอกจากจะเป็นในรูปแบบเกษตรรวมกลุ่ม เกษตรนวัตกรรม เกษตรปลอดภัย เกษตรแปรรูป เกษตรเทคโนโลยี และเกษตรพอเพียงแล้ว ยังมุ่งเน้นการผลักดันให้เกษตรกรผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคทั่วไป สินค้ามาตรฐาน GAP GMP CODEX ฮาลาล และมาตรฐานระหว่างประเทศอื่น ๆ ทั้งมาตรฐานของรัฐและมาตรฐานเอกชนเพื่อการส่งออก และสินค้าพรีเมียม เช่น สินค้า GI ออร์แกนิค นวัตกรรม สตอรี่ แบรนด์ และอื่น ๆ ที่เน้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และเพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรต้นน้ำและภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่องมีรายได้ที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี 2562 ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมมูลค่ารวม 1.25 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.4% ของการส่งออกสินค้าไทยในภาพรวม ซึ่งแม้ไทยจะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ในปีที่ผ่านมาติดอันดับ 11 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลก และเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ซึ่งในระดับเอเชียเราเป็นรองแค่จีนเท่านั้น ขณะที่มูลค่าตลาดอาหารในประเทศในปี 2562 มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ดังนั้นภาพรวมตลาดอาหารของไทยทั้งในประเทศและส่งออกในปี 2562 มีมูลค่ารวมมากกว่า 3 ล้านล้านบาท ถือว่ามีศักยภาพสูง และยังมีช่องทางโอกาสอีกมาก และสำหรับห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ณ ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกภาคการเกษตรราว 138 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 43 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศไทยที่มีประมาณ 321 ล้านไร่ มีอุตสาหกรรมพื้นฐานกว่า 44,000 แห่ง วิสาหกิจชุมชน 55,000 แห่ง และมีอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มกว่า 54,000 แห่ง
"จากผลกระทบโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจและกำลังซื้อทั่วโลกหดตัวลง ยังผลให้การใช้กำลังการผลิตของโรงงานแปรรูปอาหาร ณ ปัจจุบันเฉลี่ยยังอยู่ที่ 50 - 70% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ขณะที่สถานการณ์โควิดในหลายประเทศเริ่มคลี่คลายโดยเฉพาะทางฝั่งเอเชีย ซึ่งสินค้าเกษตรและอาหารของไทยถือมีความโดดเด่นในตลาดโลก หากมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพมาตรฐานอาหารปลอดภัย (Food Safety) ที่เป็นวิถีใหม่ หรือ New Normal ที่ผู้บริโภคทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับอาหารปลอดภัยมากขึ้น จะมีส่วนช่วยผลักดันยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” โดยมุ่งเน้นเรื่องคุณภาพมาตรฐานให้ประสบความสำเร็จ และจะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยหลังจากนี้ได้อีกมาก ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ตลอดซัพพลายเชนต้องผนึกกำลังร่วมมือกันผลักดันให้เกิดผลสำเร็จต่อไป" นายเฉลิมชัย กล่าว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ