- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 03 May 2014 18:54
- Hits: 3750
ก.เกษตรฯ คาด ไตรมาส 2 ต้นทุนปศุสัตว์ยังพุ่ง เหตุจากปัจจัยการผลิต และสภาพอากาศแปรปรวน
ก.เกษตรฯ เผย ต้นทุนไตรมาส 1 ไข่ไก่หลังหักผลพลอยได้จากการขายไก่ไข่ที่ปลดระวาง อยู่ที่ฟองละ 2.99 บาท ด้านต้นทุนสุกรมีชีวิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 61.95 บาท โดยราคาไข่ไก่คละที่เกษตรกรขายได้ ไตรมาสแรกเฉลี่ยฟองละ 3.00 บาท และราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ย กก.ละ 72.76 บาท คาดต้นทุนปศุสัตว์ไตรมาสที่ 2 จะมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น จากปัจจัยการผลิตปรับตัว รวมทั้งสภาพภูมิอากาศแปรปรวน
นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลประชุมคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตไก่ไข่และไข่ไก่ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสถาบันการศึกษา บริษัทผู้เลี้ยงไก่ไข่พันธุ์ สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ สมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและผู้ส่งออกไข่ไก่สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการค้าภายใน และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมการค้าภายใน เข้าร่วม ซึ่งผลจากการประชุมพิจารณาต้นทุนการผลิต พบว่า ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ต้นทุนไข่ไก่หลังหักผลพลอยได้จากการขายไก่ไข่ที่ปลดระวางออกแล้ว อยู่ที่ฟองละ 2.99 บาท ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ส่วนราคาไข่ไก่คละที่เกษตรกรขายได้ ในไตรมาสแรกเฉลี่ยฟองละ 3.00 บาท ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาเฉลี่ยที่ฟองละ 3.17 บาท เนื่องจากความต้องการบริโภคไขไก่ลดลง ในช่วงปิดภาคการศึกษา
สำหรับ ต้นทุนไข่ไก่ในไตรมาสที่ 2 คาดว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุจากค่าอาหารปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบหลัก เช่น ข้าวโพดและกากถั่วเหลือง อย่างไรก็ตาม ผู้แทนเกษตรกรได้เรียกร้องให้พ่อค้าขายไข่ไก่ตามราคาต้นทุนด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อต้นทุนไข่ไก่สูงขึ้นพ่อค้าจะปรับราคาขายสูงขึ้น แต่เมื่อราคาต้นทุนปรับลดลงแล้ว พ่อค้าก็ไม่ได้ปรับราคาขายไข่ไก่ลงตามต้นทุน ซึ่งหากราคาไข่ไก่ลดลง การบริโภคก็จะสูงขึ้น เกษตรกรก็จะขายไข่ได้เพิ่มขึ้น
ด้านนายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเสริมว่า ในส่วนต้นทุนการผลิตสุกรไตรมาสที่ 1 ปี 2557 นั้นพบว่า ต้นทุนสุกรมีชีวิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 61.95 บาท สูงขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ที่กิโลกรัมละ 60.83 บาท เนื่องจาก ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด และกากถั่วเหลือง รวมทั้งอัตราสูญเสียจากโรคระบาดที่สูงขึ้น และจากสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้สุกรเจริญเติบโตช้า ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ส่งผลให้ราคาสุกรสูงขึ้น โดยราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ไตรมาสที่ 1 เฉลี่ย กิโลกรัมละ 72.76 บาท สำหรับต้นทุนสุกรในไตรมาสที่ 2 คาดว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุจากค่าพันธุ์สัตว์และค่าอาหารที่ยังคงสูงขึ้น
ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ จะได้นำเสนอผลการประชุมต่อคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ และคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานต่อไป