- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 21 October 2014 09:39
- Hits: 3139
วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8728 ข่าวสดรายวัน
เงินถึงมือชาวนา แจกแล้ว '8 จว.'ไร่ 1 พัน-สิ้นพย.
จ่ายแล้ว - ชาวนาจำนวนมากแห่เข้ารับเงินช่วยเหลือ ไร่ละ 1 พันบาท ที่ธ.ก.ส.สาขาอำเภอเมืองมหาสารคาม ซึ่งรัฐบาลสั่งให้จ่ายเป็นวันแรกพร้อมกัน 8 จังหวัดนำร่องในภาคกลาง เหนือ และอีสาน เมื่อวันที่ 20 ต.ค. |
ถึงมือชาวนาแล้ว ธ.ก.ส.อัดเงินก้อนแรก 176.1 ล้านบาท นำร่องจ่ายครัวเรือนละไม่เกินหมื่นห้าใน 8 จังหวัด ศรีสะเกษได้ไปมากสุด 60.6 ล้าน ตามด้วยกำแพงเพชร 42 ล้าน และขอนแก่น 26.9 ล้าน พร้อมแนะนำให้จังหวัดและพื้นที่ที่เหลือขึ้นบัญชีเตรียมรับล็อตใหม่ คาดวันที่ 30 พ.ย. จ่ายครบทั้ง 4 หมื่นล้าน เผยชาวนาพอใจที่ได้รับเงินช่วย แต่บางรายบ่นว่าน้อยไปอาจไม่พอใช้ ศรีสะเกษยังเรียกหาโครงการจำนำข้าว ชาวนาลพบุรีปลื้มรับเงินคนแรก
ดีเดย์จ่ายเงินชาวนา 8 จว.นำร่อง
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับชาวนาตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2557 วงเงิน 40,000 ล้านบาท โดยให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท คิดเป็นวงเงิน 40,000 ล้านบาท รวมพื้นที่ปลูกข้าวนาปีจำนวน 63.8 ล้านไร่ ในวันแรกธ.ก.ส.ได้เริ่มทยอยจ่ายเงินให้ชาวนา 8 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ลพบุรี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ มหาสารคาม พิจิตร กำแพงเพชร และพิษณุโลก ที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเปิดบัญชีกับธ.ก.ส.
สำหรับ การจ่ายเงินในวันแรกรวมทั้งสิ้น 14,311 ราย วงเงิน 176.1 ล้านบาท แบ่งเป็นลพบุรีจำนวน 684 ราย วงเงิน 9.2 ล้านบาท ขอนแก่นจำนวน 2,407 ราย วงเงิน 26.9 ล้านบาท ศรีสะเกษจำนวน 5,223 ราย วงเงิน 60.6 ล้านบาท มหาสารคามจำนวน 1,476 ราย วงเงิน 16.5 ล้านบาท สุรินทร์จำนวน 195 ราย วงเงิน 2.3 ล้านบาท พิจิตรจำนวน 961 ราย วงเงิน 13.5 ล้านบาท กำแพงเพชรจำนวน 2,990 ราย วงเงิน 42 ล้านบาท และพิษณุโลกจำนวน 375 ราย วงเงิน 5.1 ล้านบาท
สั่งชาวนาจว.อื่นรีบขึ้นทะเบียนรอ
นายลักษณ์ กล่าวว่า สำหรับจังหวัดอื่นๆ ธ.ก.ส.และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะประสานงานเพื่อส่งข้อมูลให้ธ.ก.ส.ดำเนินการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้โดยเร็วที่สุด สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนกับทางเกษตรอำเภอนั้น ธ.ก.ส.ขอให้เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนโดยเร็ว ซึ่งเกษตรกรต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับเกษตรอำเภอในพื้นที่เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและรับรองสิทธิ์ โดยคณะกรรมการบริหารมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยระดับอำเภอ
จากนั้นให้ชาวนานำสำเนาหน้าสมุด บัญชีเงินฝากและสำเนาบัตรประชาชน มาจัดทำหนังสือแสดงความจำนงขอเข้าร่วมโครงการที่ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ หลังจากนั้น ธ.ก.ส.จะตรวจสอบความถูกต้องและส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบเพื่อโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรงต่อไป ทั้งนี้ หากเกษตรกรดำเนินการถูกต้อง ครบถ้วนตามขั้นตอนดังกล่าวก็จะได้รับเงินภายใน 3 วัน นับตั้งแต่ยื่นเอกสารที่ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ใกล้บ้าน
ขึ้นทะเบียนแล้ว 2.8 ล้านครัวเรือน
นายลักษณ์ กล่าวว่า เงินช่วยเหลือครั้งนี้จะถึงมือเกษตรกรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด โดยเจ้าของนาไม่มีสิทธิ์ในการเรียกรับเงิน หากพบหรือมีการร้องเรียนจะถือว่าเป็นความผิด ในส่วนของพื้นที่ลพบุรีที่ลงพื้นที่จ่ายเงินนั้นคาดว่า จะมีชาวนาได้ประโยชน์ทั้งหมด 25,538 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 6.6 แสนไร่ คิดเป็นวงเงินชดเชยประมาณ 380 ล้านบาท ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะทยอยจ่ายเงินให้แก่ชาวนาที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ซึ่งขณะนี้มีมาขึ้นทะเบียนทั้งหมด 2.8 ล้านครัวเรือน หรือ 88% ของเกษตรกรทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะจ่ายเงินให้แก่ชาวนาได้ทั้งหมดทั่วประเทศภายในวันที่ 30 พ.ย.นี้
ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ล่าสุดได้รับการรายงานจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการจ่ายเงินให้กับชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ เป็นวันแรก ก็สามารถจ่ายได้อย่างราบรื่น ส่วนการตรวจสอบบัญชีนั้น กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรฯ ก็เป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบบัญชีก่อนส่งให้ธ.ก.ส.เพื่อพิจารณาจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกร ขณะที่แนวทางการออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเพื่อใช้คืนหนี้จากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีวงเงินหลายแสนล้านบาทนั้น ต้องรอให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีสรุปตัวเลขออกมาก่อน จากนั้นจึงหารือกับนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาว่าจะใช้หนี้ทั้งหมดเลยหรือไม่ หรือจะต้องใช้บางส่วนก่อน
ขอนแก่น-กำแพงเพชรนัดจ่าย
เมื่อเวลา 10.00 น. วันเดียวกัน นายกำธร ถาวรสถิต ผวจ.ขอนแก่น เป็นประธานโครงการมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยปีการผลิต 2557/58 ที่สำนักงานธ.ก.ส. สาขาหนองเรือ จ.ขอนแก่น โดยนายธนู โตสัจจะ ผู้อำนวยการ สนง.ธ.ก.ส. จ.ขอนแก่น นายวรทัศน์ ธุลีจันทร์ นายอำเภอหนองเรือ มีเกษตรกรเข้าร่วมประมาณ 300 คน พร้อมมีกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นสักขีพยาน
นายภูวดล แสนจันทร์ ชาวนา ต.โนนทอง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น แสดงความคิดเห็นถึงกรณีนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาในอัตราไร่ละ 1,000 บาท โดยให้สิทธิเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวฤดูนาปีรายละไม่เกิน 15 ไร่ว่า ตนทำนา 30 ไร่ ซึ่งจะได้รับสิทธิเงินช่วยเหลือ 15 ไร่ หรือ 15,000 บาทนั้นก็ถือว่าพอใจ เพราะเงิน 15,000 บาทก็คิดว่าเป็นเงินจำนวนที่เหมาะสมที่จะนำไปซื้อปุ๋ย และใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ธ.ก.ส.สาขากำแพง เพชร นายสุรพล วาณิชเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานเปิดโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 25857/2558 ไร่ละ 1,000 บาท มีนายไพรัช หวังดี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และนายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการใหญ่ธ.ก.ส. ร่วมด้วย
นายจำนง กาละเกด อายุ 29 ปี เกษตรกรตำบลเทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร เปิดเผยว่า ตนนำสมุดบัญชีมาปรับยอดเพื่อรอรับเงิน เมื่อได้มาแล้วจะเอาไปไว้ลงทุนทำนาต่อไป ซึ่งตนเองทำนา 70 กว่าไร่ ส่วนนายอ่วม แพรน้อย อายุ 60 ปี เกษตรกร ต.เทพนคร อ.เมือง เปิดเผยว่า ช่วงนี้ชลประทานงดจ่ายน้ำ เงินจำนวนหมื่นห้าได้มาจะไว้ใช้จ่ายในครอบครัว
พิจิตรคึกคัก-โอนก้อนแรก 16 ล.
ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาโพทะเล จังหวัดพิจิตร นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วย พล.ต.ไสว พลการ ผล.รส.จทบ.เพชรบูรณ์ ร่วมกันเป็นประธานในพิธีการมอบเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาจังหวัดพิจิตร ที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ประจำปีการผลิต 2557/2558 เพื่อขอรับสิทธิ์เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตามมาตรการของรัฐบาล อัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ หรือ 15,000 บาทต่อครัวเรือน จำนวน 376 ราย
สำหรับ จังหวัดพิจิตรมีเกษตรกรชาวนาแจ้งสิทธิขอรับการช่วยเหลือจำนวน 46,680 ครัวเรือน 102,249 แปลง จำนวน 1,525,905 ไร่ ซึ่งธ.ก.ส.ทั้ง 15 สาขาของจังหวัดพิจิตร ได้โอนเงินวันแรกให้เกษตรกรชาวนาจำนวน 1,085 ราย จำนวน 16,275,000 บาท ส่วนที่เหลือจะดำเนินการทยอยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของเกษตรกร วันละ 500 ราย ไปจนกว่าจะครบตามจำนวน อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าจังหวัดพิจิตรยังมีเกษตรกรที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวและอยู่ระหว่างการตรวจสอบสิทธิอีกจำนวน 5,790 ครัวเรือน เนื่องจากเพิ่มเริ่มการปลูกข้าวหลังจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตรได้ขยายระยะเวลาการแจ้งสิทธิ์ให้เกษตรกรดังกล่าวไปจนถึงวันที่ 30 ต.ค.
ธ.ก.ส.บุรีรัมย์เตรียมความพร้อม
ที่ธ.ก.ส.สาขาบุรีรัมย์ ถึงแม้จะยังไม่สามารถจ่ายเงินไร่ละ 1,000 บาท ที่เริ่มดีเดย์วันแรกได้ แต่ก็มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทยอยมาขอเปิดบัญชีธนาคารอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับโอนเงิน สาเหตุที่ยังไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีให้ชาวนาในวันเดียวกันนี้ได้นั้น ธ.ก.ส.ชี้แจงว่า เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของสำนักงานเกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอในการติดประกาศรายชื่อชาวนาที่มาแจ้งขึ้นทะเบียนไว้ โดยจะติดประกาศที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านเป็นเวลา 3 วัน เพื่อให้ชาวนามาตรวจสอบรายชื่อของเองว่าถูกต้องหรือไม่หลังจากนั้นก็จะรวบรวมรายชื่อส่งไปยังกรมส่งเสริมการเกษตร และธ.ก.ส.ส่วนกลางเพื่อตรวจสอบและยืนยันอีกครั้ง ก่อนจะส่งรายชื่อกลับมาให้ธ.ก.ส.พื้นที่ดำเนินการโอนเงินตามขั้นตอนต่อไป
นายจักรดุลย์ ศรีสุวรมนตรี ผอ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า คาดว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูลรายชื่อเสร็จสิ้นภายใน 3-4 วัน และจะเริ่มดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีให้กับชาวนาได้รอบแรกในวันที่ 27 ต.ค. จากข้อมูลพบว่าทั้งจังหวัดมีชาวนามาแจ้งขึ้นทะเบียนไว้กว่า 140,000 ราย ทั้งนี้ทาง ธ.ก.ส. ก็ได้มีการซักซ้อมเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ทั้ง 26 สาขา ถึงวิธีการ ขั้นตอนการให้บริการเพื่อให้เกิดความรวดเร็วถูกต้องในการให้บริการ
สุรินทร์ ประเดิมจ่ายที่กาบเชิง
ที่ ธ.ก.ส.สาขากาบเชิง จ.สุรินทร์ นาย สุรพงศ์ นิลพันธุ์ ผช.ผจก.ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ นายณรงค์ งามพริ้ง ผอ.ธ.ก.ส.สุรินทร์ พ.อ.ปรีดา บุตราช รอง ผบ.จทบ.สุรินทร์ และนางกาญจนา เพ็ชรวิเศษ นายอำเภอกาบเชิง ร่วมมอบเงินช่วยแหลือเกษตรกรชาวนา อ.กาบเชิง พร้อมกับอีก 8 จังหวัดนำร่อง
สำหรับ จ.สุรินทร์ มีเกษตรกรขึ้นทะเบียน 165,726 ครัวเรือน พื้นที่การปลูกข้าวนาปี ประมาณ 2.99 ล้านไร่ วงเงินกว่า 1,400 ล้านบาท ธ.ก.ส.สุรินทร์จะทยอยจ่ายเงินให้ชาวนาพร้อมกับจังหวัดนำร่อง 8 จังหวัด ซึ่งมีความพร้อมในระบบการขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยได้เลือก อ.กาบเชิง เป็นอำเภอแรกที่จ่ายเงินให้ชาวนาเป็นวันแรก ซึ่งมีเกษตรกรมาลงทะเบียนไว้กว่า 200 ราย จากนั้นจะดำเนินการทยอยจ่ายเงินให้กับชาวนาในพื้นที่อื่นๆให้ เร็วที่สุด
ชาวนาศรีสะเกษถามหาจำนำ
ที่ จ.ศรีสะเกษ ผู้สื่อข่าวเผยว่า บรรยากาศการมอบเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ที่สนามด้านหน้า อบต.โพนข่า ต.โพนข่า อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ปลัดจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยนายส่งเสริม ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธ.ก.ส. นายทวี มาสขาว เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานการมอบเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย มี นายพงษ์พันธ์ จงรัก ผอ.ธ.ก.ส.จ.ศรีสะเกษ นำพนักงาน ธ.ก.ส.มาดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกร
นายพงศ์พันธุ์ กล่าวว่า จ.ศรีสะเกษมีการรับรองสิทธิ์ชาวนาที่มีสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย จำนวน 5,223 ราย ที่ดินทำกินจำนวนทั้งสิ้น 65,561 ไร่ จำนวนเงินที่โอนให้กับชาวนาของ จ.ศรีสะเกษ ทั้งสิ้น 60,561,000 บาท เป็นการโอนเงินให้การช่วยเหลือเกษตรกรมากที่สุดใน 8 จังหวัดนำร่อง โดยจะจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรทั้ง 22 อำเภอ รวม 20 สาขาของ ธ.ก.ส.
นายสมัย นันทะเสน อายุ 45 ปี ชาวนา ต.โพนข่า กล่าวว่า ตนทำนาจำนวนทั้งสิ้น 15 ไร่ ได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 15,000 บาท เงินที่ได้รับมานี้ จะนำเอาไปเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้หนี้ค่าปุ๋ย รวมทั้งค่าจ้างเกี่ยวข้าว และใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเลี้ยงดูครอบครัว อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้รัฐบาลประกันราคาข้าวด้วย เพราะว่าขณะนี้กำลังจะเริ่มเกี่ยวข้าวกันแล้ว เกรงว่าราคาข้าวเปลือกอาจจะตกต่ำ ไม่คุ้มกับการลงทุน
มหาสารคามดีใจ-แม้จะได้เท่านี้
เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานธ.ก.ส. สาขาอำเภอเมืองมหาสารคาม เจ้าหน้าที่ธนาคาร ธ.ก.ส. พร้อมส่วนราชการ ตำรวจ ทหารกองกำลังรักษาความมั่นคงภายในมหาสารคาม ร่วมกันมอบเงินตามนโยบายให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 15 ไร่ หรือ 15,000 บาท ที่ได้ดำเนินการผ่านระบบงานของ ธ.ก.ส. โดยการจ่ายเงินในวันเดียวกันนี้ เนื่องจากจังหวัดมหาสารคาม เป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่อง บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักมีเกษตรกรชาวนามานั่งรอรับมอบเงินตั้งแต่เช้า
จากการสอบถามเกษตรกรชาวนาส่วนใหญ่พอใจกับเงินที่ได้ เนื่องจากเข้าใจดีว่ารัฐบาลไม่มีเงินมารับจำนำข้าว สำหรับเขตพื้นที่อำเภอเมือง วันนี้มีเกษตรกรเข้ามารับเงินจำนวน 354 ราย เป็นเงิน 3.38 ล้านบาท สำหรับภาพรวมการมอบเงินแก่เกษตรกร พร้อมกันทั้งจังหวัดมหาสารคาม รวม 13 อำเภอ เป็นเงินรวมกันกว่า 16.6 ล้านบาท เกษตรกร 1,488 ราย เนื้อที่ 16,662 ไร่
ชาวพิษณุโลกบ่นไม่พอใช้
เมื่อเวลา 09.30 น. นายจักริน เปลี่ยนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธาน แจกเงินช่วยเหลือเกษตรกร 8 จังหวัดนำร่อง มีพล.ต.นพพร เรือนจันทร์ ผบ.พล.ร.4 นายภาสกร บุญญลักษม์ นายอำเภอเมืองพิษณุโลก ร่วมเป็นสักขีพยาน จังหวัดพิษณุโลกมีเกษตรกรเข้ารับเงินวันแรก ที่สำนักงาน ธ.ก.ส. สาขาเมืองพิษณุโลก จำนวน 375 ราย วงเงิน 5.1 ล้านบาท โดยจะมอบเงินสดรวม 80 ราย ส่วนที่เหลือ ธ.ก.ส.จะโอนเข้าบัญชีอีกครั้ง
นายพงษ์ศักดิ์ กิตติยานุภถาพ ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.พิษณุโลก กล่าวว่าได้แจกจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกร ธ.ก.ส. สาขาต่างๆ 14 สาขา จะมีเกษตรกรได้รับผลประโยชน์จากการจ่ายเงินครั้งนี้กว่า 50,000 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 8 แสนไร่ โดยทาง ธ.ก.ส.จะดำเนินการจ่ายเงินภายในวันที่ 31 ต.ค.
ทั้งนี้ ชาวนาหลายรายต่างแสดงความคิดเห็นว่า เงินที่ได้ในวันนี้อาจจะไม่เพียงพอในการใช้จ่ายในครอบครัว เนื่องจากต้นทุนในการทำนาแพงกว่าเดิม แต่ก็ดีใจที่ภาครัฐยังเข้ามาช่วยเหลือบ้าง อีกประการในช่วงนี้ไม่ได้ทำนารอบใหม่ เนื่องจากน้ำน้อย ถือว่าเป็นการพักนาไปในตัว
ชาวนาลพบุรี รับเงินช่วยคนแรก
เมื่อเวลา 10.00 น. พล.ต.พิชิต ฟูฟุ้ง ผบ.มทบ.13 เป็นประธานการมอบช่วยเหลือชาวนาในวันแรก ที่สำนักงานธ.ก.ส. ต.ท่าหิน อ.เมือง จ.ลพบุรี มีนายนำชัย พรหมมีชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายลักษณ์ วจนานวัช ผจก.ธ.ก.ส. นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ รอง ผวจ.ลพบุรีและ พล.ต.ต.ชัยพร พานิชอัตรา ผบก.ภ.จว.ลพบุรี พร้อมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมมอบเงินในครั้งนี้ โดยมีเกษตรกรเดินทางมาตั้งแต่เช้าตรู่ ทั้งนี้ได้นำสมุดบัญชีมาตรวจสอบยอดเงินกับทางธนาคารที่เคาน์เตอร์ ตู้เอทีเอ็ม และตู้เอทีเอ็มที่ได้นำรถโมบายมาจอดไว้ให้บริการ
จากนั้น ธ.ก.ส.ได้มอบบัตรเอทีเอ็มให้นางอำพร แสงคำ เกษตรกรทำนา อยู่บ้านเลขที่ 28/3 หมู่ 2 ต.ดอนโพธิ์ อ.เมือง จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นการมอบให้เกษตรกรรายแรกของประเทศ เพื่อให้นำเงินไปใช้จ่าย เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
นางอำพร กล่าวว่า วันนี้ที่ได้มารับเงินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในการบรรเทาความเดือดร้อนในการทำนา รู้สึกว่าดี และยังดีที่ได้รับเงินจำนวนนี้มาเป็นทุนในการยังชีพในความเป็นอยู่ ก็ยังดีกว่าไม่ได้รับการช่วยเหลือ เงินจำนวนนี้ก็จะนำไปซื้อปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ในการทำนาต่อไป เงินจำนวนนี้จะเป็นขวัญและกำลังใจที่ดีของเกษตรกร ถึงแม้ว่าจะได้น้อย แต่ก็ยังดีที่ทำให้เกษตรกรมีกำลังใจเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าจะให้ดีรัฐบาลควรมีนโยบายช่วยเหลือแบบนี้ ทุกๆปี และหากได้มากกว่านี้ ก็จะ ดีมาก