- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 19 June 2020 15:26
- Hits: 1450
แจ้งข่าวดีชาวนา! นบข.เห็นชอบเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 63/64
นบข.ไฟเขียวเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ต่อไปอีก เริ่ม 1 ก.ย.63-61 พ.ค.64 ใช้แนวทางเหมือนปีที่ผ่านมา แต่ให้กำหนดปริมาณและราคาประกันรายได้ให้เหมาะสมกับต้นทุนใหม่ พร้อมเห็นชอบมาตรการคู่ขนาน ทั้งสินเชื่อชะลอการขายข้าว สินเชื่อรวบรวมข้าว และชดเชยดอกเบี้ย คาดช่วยดึงผลผลิตส่วนเกินได้ 7 ล้านตัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 18 มิ.ย.2563 คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/2564 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2563-31 พ.ค.2564 โดยให้ใช้แนวทางการดำเนินการเหมือนปีที่ผ่านมา และให้คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไปพิจารณาปริมาณประกันรายได้ต่อครัวเรือน ราคาประกันรายได้ และให้นำกลับมาเสนอ นบข.อีกครั้ง โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้การดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่แท้จริง
ทั้งนี้ นบข. ยังได้เห็นชอบการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2563/64 ได้แก่ 1.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี วงเงินรวม 1.98 หมื่นล้านบาท 2.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงินรวม 1.55 หมื่นล้านบาท 3.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ในอัตราชดเชยดอกเบี้ย 3% วงเงินรวม 610 ล้านบาท โดยทั้ง 3 โครงการ คาดว่าจะสามารถดูดซับข้าวเปลือกในช่วงที่ออกมาสู่ตลาดมากได้ มีเป้าหมายอยู่ที่ 7 ล้านตันข้าวเปลือก
ขณะเดียวกัน จะมีการดำเนินโครงการโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว อัตราสนับสนุนไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก และโครงการยกระดับคุณภาพและต่อยอดด้านการตลาดข้าวหอมมะลิของไทย
นอกจากนี้ ได้รับทราบผลการดำเนินโครงการปีที่ผ่านมา โดยโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/2563 ตั้งแต่ 15 ต.ค.2562-31 พ.ค.2563 จ่ายชดเลย 30 งวด จำนวน 1.1 ล้านครัวเรือน จำนวนเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 92.67% ของงบประมาณ (โดยงวดที่ 23-27 ไม่มีการจ่ายชดเชย เนื่องจากราคาอ้างอิงของข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ข้าวเปลือกเหนียวสูงกว่าราคาประกันรายได้)
สำหรับ มาตรการคู่ขนาน ทั้งสินเชื่อชะลอขายข้าว สินเชื่อรวบรวมข้าว และชดเชยดอกเบี้ยเก็บสต๊อกข้าว สามารถดึงข้าวออกจากระบบได้ 5.13 ล้านตัน และมาตรการช่วยค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว จ่ายเงินแล้ว 4 ล้านกว่าครัวเรือน
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
******************************************
กด Like - Share เพจCorehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ