- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 15 June 2020 17:18
- Hits: 5643
รมช.ประภัตร นำทีม Kick Off ส่งเสริมปลูกหญ้าเนเปียร์ จ.โคราช แห่งแรก ในโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่ตรวจราชการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมปศุสัตว์ กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยมี อภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ และนายพศวีร์ สมใจ ปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมากล่าวรายงาน ตลอดจน นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา และเกษตรกรกว่า 500 คน เข้าร่วม ในการนี้ รมช.เกษตรฯ ได้พบปะเกษตรกร พร้อมทั้งร่วมกันปลูกหญ้าเนเปียร์ และปล่อยน้ำบำบัดลงสู่แปลง จากนั้นชมการสาธิตตัดหญ้าและนิทรรศการต่างๆ ภายในงาน ณ บริษัทเอี่ยมธงชัย อุตสาหกรรม จำกัดตำบลงิ้ว อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่ามีภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากในหลายพื้นที่ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้ตามปกติ ผลผลิตได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบด้านราคาเนื่องจากคุณภาพผลผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกษตรกรมีรายได้ไม่คุ้มต่อการลงทุน และไม่เพียงพอต่อการยังชีพ
อีกทั้ง ยังขาดโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการฟื้นฟูหรือปรับเปลี่ยนอาชีพ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และหาแนวทางที่จะช่วยฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
“สำหรับ งานในครั้งนี้ เป็นการ kick off เปิดแปลงปลูกหญ้าเนเปียร์ บนพื้นที่ 500 ไร่ แห่งแรกของโครงการฯ เพื่อผลิตอาหารแบบผสมเสร็จ TMR สำหรับโคขุนให้ได้รับอาหารที่ดี สมบูรณ์ จะทำให้โคมีอัตราเจริญเติบโต 1-1.5 กิโลกรัม โดยเข้ามาส่งเสริมเกษตรกรที่ อ.ปักธงชัย ให้ปลูกหญ้าเนเปียร์โดยใช้น้ำของโรงงานแป้งมันแห่งนี้ซึ่งมีค่าไนโตเจนสูง ขณะนี้ลองปลูกแล้วพบว่า 1 ไร่ ได้ผลผลิต 10 ตัน พร้อมกันนี้มีประกันราคาซื้อจากเกษตรกรอยู่ที่ กก.ละ 50 สตางค์ รวมทั้ง ธกส. พร้อมปล่อยเงินกู้ให้เกษตรกรเพื่อการเตรียมดินปลูกหญ้า โดย 1 ไร่ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 บาท รอบการตัด 60 วัน/ครั้ง
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรประสบปัญหาน้ำมีไม่เพียงพอในการเพาะปลูก รวมถึงน้ำไปไม่ถึงแปลง ดังนั้น จึงร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำและกรมบาดาลเข้าช่วยเหลือสนับสนุนต่อท่อ และขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้อย่างทั่วถึง จึงเป็นโอกาสดีของเกษตรกรชาวอีสานที่ประสบภัยแล้ง ได้มีอาชีพเสริมสร้างรายได้ ทั้งการปลูกหญ้าเนเปียร์ และการเลี้ยงโคขุนโดยกรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมการแนะนำ วิธีการ นวัตกรรม แก่เกษตรกร โดยมีตลาดนำการผลิต ตลอดจนจะผลักดันโครงการนี้และขยายผลไปถึงเกษตกรรอีก 32 อำเภออีกด้วย”รมช.เกษตรฯ กล่าว
ด้าน นายสุรเดช สมิเปรม รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่องฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทย โดยสนับสนุนการจัดการตลาดผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ สร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์ จำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ
สำหรับ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมปศุสัตว์ กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จังหวัดนครราชสีมา โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ พืช ประมง และกิจการที่เกี่ยวเนื่องตามนโยบายรัฐบาล ประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้เกษตรกรที่มีความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 67 ครั้งเกษตรกร 3,995 ราย และรับรองคุณสมบัติเบื้องต้นของกลุ่มเกษตรกรเพื่อขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. แล้ว จำนวน 50 กลุ่มเกษตรกร 476 ราย
ทั้งนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และการค้าส่งค้า -ปลีกซึ่งมีอัตราสัดส่วนโครงสร้างร้อยละ 22.46, 19.82 และ 14.91 ตามลำดับ ในภาคการเกษตร จังหวัดมีพื้นที่เกษตรกรรมทั้งสิ้น8,931,032 ไร่ แบ่งเป็น ปลูกข้าว จำนวน 4,329,724 ไร่ พืชไร่จำพวกข้าวโพด มันสำปะหลัง ปอ ฝ้าย และข้าวฟ่าง จำนวน3,793,602 ไร่ และปลูกพืชสวน 632,170 ไร่ มีครัวเรือนเกษตรกรรวมทั้งสิ้น 326,587 ครัวเรือน โดยมีพืชเศรษฐกิจ 3 อันดับแรกคือ ข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด การเลี้ยงไหม สำหรับ ภาคปศุสัตว์ จังหวัดนครราชสีมา มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์จำนวน 170,100 ราย แบ่งเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ 41,101 ราย352,239 ตัว โคนมจำนวน 4,041 ราย 137,326 ตัว ซึ่งมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศทั้งสองชนิด (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มีนาคม2563) และมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ชนิดอื่นเช่น กระบือ สุกร สัตว์ปีก แพะ แกะ เป็นต้น
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ