- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 29 May 2020 17:22
- Hits: 4924
สรุปภาวะสินค้าเกษตร ประจำสัปดาห์ วันที่ 25-29 พฤษภาคม 2563
ข้าวโพด : ราคาเพิ่มขึ้น
สัปดาห์นี้ ราคาซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ เพิ่มขึ้นจากหาบละ 531 บาท เป็นหาบละ 534 บาท เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เข้าสู่ตลาดลดลง
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม ราคาอยู่ที่ 320.50 เซนต์/บุชเชล สัปดาห์ที่ผ่านมาอุณหภูมิที่สูงขึ้นบริเวณพื้นที่เพาะปลูก เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของข้าวโพด และคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำฝนลดลงในสัปดาห์หน้า กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานความคืบหน้าการเพาะปลูกข้าวโพดในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 88% สูงกว่าค่าเฉลี่ยห้าปีที่ 82% และรายงานการประเมินคุณภาพผลผลิตข้าวโพดอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก (Good to Excellent) ที่ 80% แนวโน้มราคาน่าจะทรงตัว
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะทรงตัว
ถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว
กากถั่วเหลืองที่ได้จากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ราคาทรงตัวที่กิโลกรัมละ 13.95 บาท ถึงแม้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศฝั่งอเมริกาใต้ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความต้องการซื้อผลผลิตในตลาดโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่ดีขึ้น ทำให้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวในตลาดมากนัก
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 เมล็ดถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม ราคาอยู่ที่ 848.50 เซนต์/บุชเชล และ กากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม ราคาอยู่ที่ 282.0 เหรียญสหรัฐฯ/ช็อตตัน ด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานยอดการส่งออกถั่วเหลืองไปยังประเทศจีน ของกลุ่มผู้ส่งออกภาคเอกชน จำนวน 258,000 ตัน ทั้งนี้ยอดผู้ติดเชื้อโควิท-19 ในบราซิลที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีรายงานผู้ติดเชื้อหนึ่งรายที่ท่าเรือ ทำให้เกิดความกังวลเรื่องการส่งออกล่าช้า แนวโน้มราคาน่าจะทรงตัว
แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะทรงตัว
ปลาป่น : ราคาทรงตัว
ภาวะผู้ผลิตอย่างประเทศเปรู การจับปลามีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากหลายๆ บริษัทเริ่มปรับตัวกับกฏระเบียบป้องกันเชื้อโควิท-19 ได้ดี ทำให้การจับปลามีปริมาณสูงมากเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิท-19 ยังมีจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาปลาป่นในสัปดาห์นี้ ทรงตัวทุกเบอร์
โดยปลาป่นเกรดกุ้ง ราคากิโลกรัมละ 42.00 บาท ปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคากิโลกรัมละ 38.20 บาท และปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ราคากิโลกรัมละ 35.70 บาท
ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคากิโลกรัมละ 35.20 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ราคากิโลกรัมละ 32.70 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะทรงตัว
ข้าว : ราคาทรงตัว
ตลาดซื้อขายข้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาตันละ 517 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาตันละ 437 เหรียญสหรัฐฯ
ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ราคากระสอบละ 1,500 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคากระสอบละ 1,250 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะทรงตัว
สุกร : ราคาทรงตัว
การบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มมากขึ้นทุกพื้นที่จากมาตรการปลดล๊อกดาวน์เฟส 3 โดยราคาประกาศสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม จากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในสัปดาห์นี้ ทรงตัวที่กิโลกรัมละ 68-74 บาท ทั้งนี้ น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า แอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ในสุกร ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมสุกรในเอเชีย ทำให้หลายประเทศขาดแคลนอย่างหนัก อาทิ เวียดนามที่ต้องนำเข้าสุกรเพิ่ม 300% ราคาหน้าฟาร์มสูง 115-120 บาทต่อกิโลกรัม สูงสุดในรอบ 20 ปี ด้านจีนมีการนำเข้าในเดือนเมษายนเพิ่มกว่า 170% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 และราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มสูงขึ้นอยู่ที่ 120-136 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ประเทศไทยคงสถานะปลอดโรค และมีราคาต่ำสุดในภูมิภาค
ด้านลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,100 บาท (บวก/ลบ 66)
แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรทิศทางน่าจะเพิ่มขึ้น
ไก่เนื้อ : ราคาเพิ่มขึ้น
การบริโภคเนื้อไก่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านปริมาณสต๊อกผลผลิตไก่ลดลง ส่งผลให้ราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์ม ตามประกาศสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อในสัปดาห์นี้ ปรับขึ้นจากกิโลกรัมละ 32 บาท เป็นกิโลกรัมละ 34 บาท
ด้านลูกไก่เนื้อราคาตัวละ 10.50 บาท และลูกไก่ไข่ราคาตัวละ 26.00 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะเพิ่มขึ้น
ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว
ราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ตามประกาศของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ยืนราคาที่ฟองละ 2.40 บาท ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกรที่อยู่ที่ฟองละ 2.69 บาท โดยขณะนี้ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ได้เร่งแก้ปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด ด้วย 4 แนวทางปฏิบัติ ได้แก่ 1.ผลักดันการส่งออก 2.ปลดไก่ไข่ยืนกรง 3.จำหน่ายไข่ไก่ผ่านร้านธงฟ้า และ 4.งดการนำไข่เชื้อพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) เข้าฟัก รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมรณรงค์เพื่อเพิ่มการบริโภคไข่ไก่ด้วย
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะทรงตัว
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ