- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 20 May 2020 21:15
- Hits: 1376
ประภัตร ประชุมติดตามผล โครงการจัดทำแปลงเรียนรู้นาข้าวด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม แผนการดำเนินงาน โครงการจัดทำแปลงเรียนรู้นาข้าวด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ' เพื่อติดตามผลการดำเนินงานในการจัดทำแปลงเรียนรู้นาข้าวด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะของแต่ละหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ให้เป็นไปตามกระบวนการและระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะจัดขึ้นบริเวณแปลงนาขนาด 138 ไร่ ในอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี นายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมการข้าว พร้อมด้วยหน่วยงานจากภาครัฐและภาคเอกชน เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง ณ ห้องประชุมรวงข้าว ชั้น 2 กรมการข้าว
นายประภัตร เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และภาคเอกชน เพื่อปรับแผนและกลยุทธ์ในการทำนาให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีอัจฉริยะ ดังนั้นจึงต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องมือหรือเมล็ดพันธุ์ รวมถึงกระบวนการการทำนา โดยคำนึงว่าจะทำอย่างไรให้สามารถลดต้นทุนให้กับเกษตรกรได้เป็นหลัก
ด้านอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กระทรวงเกษตร โดยนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้ดำเนินการโครงการดังกล่าวให้สำเร็จ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรเข้ามาศึกษาดูงาน โดยหวังจะให้เกษตรกรสามารถนำกลับไปปรับใช้จนสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ ดังนั้นกรมการข้าวและหน่วยงานทุกภาคส่วนบูรณาการการทำงาน ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
กระทรวงเกษตรฯ เร่งเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เผย ธ.ก.ส. จ่ายเงินแล้ว 3 วัน 14,812 ล้านบาท พร้อมหนุนมาตรการเสริม จับมือ แกร็บ ประเทศไทย เพิ่มช่องทางการค้าผ่านแพลตฟอร์มแกร็บฟู้ด ช่วยเหลือร้านอาหารและผู้ประกอบการรายย่อย
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 มีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญและถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเยียวยาเกษตรกร รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2563 รวมวงเงินของโครงการ 150,000 ล้านบาท นั้น
“ความคืบหน้าโครงการฯ ในส่วนของการลงทะเบียนรับการช่วยเหลือเยียวยานั้น เกษตรกรกลุ่มแรกที่ขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 8.33 ล้านราย ได้ผ่านการตรวจสอบความซ้ำซ้อนแล้ว 6,773,517 ราย โดยทางกระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งมอบข้อมูลให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดำเนินการโอนเงินให้กับเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 15 – 25 พฤษภาคม 2563 ซึ่งขณะนี้ผ่านมา 3 วัน ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินเยียวยาไปแล้วกว่า 14,812 ล้านบาท ผ่านช่องทางบัญชี ธ.ก.ส. บัญชีธนาคารอื่นตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ และพร้อมเพย์ตามเลขบัตรประชาชน ส่วนเกษตรกรกลุ่มที่สอง ซึ่งได้ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 จำนวน 1.57 ล้านคน กระทรวงเกษตรฯ มีกำหนดจ่ายเงินเยียวยาในวันที่ 30 - 31 พฤษภาคม 2563 ส่วนเกษตรกรกลุ่มที่สาม ที่ไม่สามารถทำการเพราะปลูกได้นั้น ให้ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมได้ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 และจะจ่ายเงินภายในวันที่ 27 – 31 กรกฎาคม 2563”นายอลงกรณ์ กล่าว
สำหรับเกษตรกรที่ลงทะเบียนแล้ว สามารถเข้าไปตรวจสอบสิทธิ์เงินเยียวยาเกษตรกรได้ที่ www.savefarmer.oae.go.th และตรวจสอบผลการโอนเงินได้ที่ www.เยียวยาเกษตร.com และสำหรับเกษตรกรที่ไม่สามารถลงทะเบียนได้จากสาเหตุต่าง ๆ สามารถอุธรณ์การเยียวยาได้ที่หน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนเกษตรกรในส่วนกลางและภูมิภาคทั้ง 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1) กรมส่งเสริมการเกษตร ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง 2) กรมประมง ที่สำนักงานประมงจังหวัด และสำนักงานประมงอำเภอทุกแห่ง 3) กรมปศุสัตว์ ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และสำนักงานปศุสัตว์อำเภอทุกแห่ง 4) กรมหม่อนไหม ที่กรมหม่อนไหม และศูนย์หม่อนไหม 21 แห่ง
5) การยางแห่งประเทศไทย ที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยประจำจังหวัด และสาขาทุกแห่ง 6) ยาสูบแห่งประเทศไทย ในส่วนภูมิภาคทุกแห่ง 7) สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย ในส่วนภูมิภาคทุกแห่ง และ 8) สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ทุกจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2563 ในเวลาราชการ (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) ยกเว้นเกษตรกรกลุ่มที่สาม สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ในวันที่ 27 – 31 กรกฎาคม 2563 นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังเตรียมพร้อมให้คำปรึกษาและตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการฯ ดังกล่าวในเบื้องต้นแก่เกษตรกร ผ่านช่องทาง Call Center 1170 ซึ่งผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 15 – 19 พ.ค. ที่ผ่านมา 4 วันทำการ ได้ให้บริการเกษตรกรไปแล้วรวม 817 รายอีกด้วย
นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ร่วมกับ แกร็บ ประเทศไทย ในการช่วยเหลือร้านอาหารและผู้ประกอบการรายย่อย ด้วยการจัดอบรมเพื่อให้ความรู้แก่ร้านอาหารและผู้ประกอบการรายย่อย ถึงวิธีการขยายช่องทางการค้าผ่านการขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มแกร็บ และความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจแบบ Cloud Kitchen หรือครัวกลางที่จะช่วยขยายโอกาสการเติบโตทางธุรกิจให้ร้านอาหาร และช่วยขจัดช่องว่างและข้อจำกัดด้านสถานที่ตั้งของร้านอาหารในพื้นที่ต่างๆ ทั้งนี้ แพลตฟอร์มแกร็บ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหารายได้ การเพิ่มยอดขาย การขยายฐานลูกค้า และยังลดภาระด้านการจัดหาพนักงานส่งอาหาร โดยแกร็บ ได้มีการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในการเปิดรับสมัครผ่านช่องทางออนไลน์บนเว็บไซต์ https://www.grabmerchantth.com ซึ่งร้านค้าสามารถสมัครและเปิดร้านค้าให้ได้ภายใน 7-10 วัน” นายอลงกรณ์ กล่าว
ในส่วนของความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับพันธมิตรภาคเอกชนอย่างแกร็บ ประเทศไทย มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือร้านอาหารและผู้ประกอบการรายย่อย ผ่านการอบรมและช่วยเหลือให้สามารถขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างแกร็บได้ง่ายยิ่งขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางเสริมรายได้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานส่งอาหาร-สินค้าที่ถือเป็นต้นทุนทางธุรกิจ รวมไปถึงจัดการบริหารร้านผ่านแพลตฟอร์มได้ด้วยตนเอง โดยร้านค้าที่สนใจขยายช่องทางการค้าผ่านแกร็บฟู้ด สามารถสมัครผ่านทางเว็บไซต์ https://www.grabmerchantth.com
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web