- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 17 October 2014 12:15
- Hits: 2619
กนย.ไฟเขียว 4 มาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง ลดผลกระทบราคาตกต่ำ-ช่วยไร่ละพันบาท
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ นโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) เห็นชอบ 4 มาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางพารา โดยเชื่อว่า มาตรการดังกล่าว จะทำให้ราคายางสูงขึ้น คาดว่าจะไม่ต่ำกว่า 60 บาท/กิโลกรัม (กก.) ภายใน 1-2 เดือนนี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า หนึ่งในมาตรการช่วยเหลือครั้งนี้ จะช่วยเหลือชาวสวนยางที่มี พื้นที่ปลูกยางไม่เกิน 25 ไร่ ซึ่งรัฐจะจ่ายเงินให้ชาวสวนยางที่ 1 พันบาท/ไร่ ครัวเรือน ละไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ซึ่งจะเริ่มจ่ายได้ไม่เกินเดือนพ.ย.นี้ สำหรับชาวสวนยางที่จะได้รับความช่วยเหลือดังกล่าว มีประมาณ 8.5 แสนราย คาดใช้งบประมาณ ราว 8.9 พันล้านบาท
"กนย.มีมาตรการช่วยชาวสวนยางเป็น 4 มาตรการ เชื่อว่ามาตรการทั้งหมด จะทำให้ราคายางสูงขึ้น ทำให้ราคายางไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม ภายใน 1-2 เดือน นี้" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
กนย.ทุ่ม 5.85 หมื่นลบ.ผ่าน 5 มาตรการแก้ปัญหายาง ดันราคาแตะ 60 บาท/กก.
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) วันนี้มีมติอนุมัติ 4 มาตรการระยะสั้น และมาตรการระยะยาวอีก 1 มาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาราคายาง โดยกำหนดวงเงินในการช่วยเหลือครั้งนี้กว่า 5.85 หมื่นล้านบาท โดยจะเน้นเกษตรกรชาวสวนยางรายเล็กที่มีพื้นที่สวนยางไม่เกิน 15 ไร่ พร้อมตั้งเป้าหมายผลักดันราคายางขึ้นไปที่ 60 บาท/กก.ภายในระยะเวลา 1-2 เดือน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม กนย.ว่า รัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง เป็นมาตราการระยะสั้นไว้ 4 แนวทาง ในวงเงินรวม 4.8 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย การให้องค์การสวนยาง(อ.ส.ย.)รับซื้อยางจากเกษตรกรเก็บเข้าสต็อคแบบที่เรียกว่ามูลพันธ์กันชน โดยใช้วงเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ราว 2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงวันที่ 22-24 ต.ค.นี้
"ยืนยันว่า สต็อคที่รัฐบาลซื้อเข้ามาจะไม่เกิด Dead Stock เพราะขณะนี้รัฐบาลได้ติดต่อและมีออเดอร์เข้ามาทุกเดือน ถึงกล้าซื้อเข้ามาในสต็อค" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
สำหรับมาตรการที่ 2 ทาง ธ.ก.ส.จะกันวงเงินราว 1 หมื่นล้านบาทปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์การเกษตรไปใช้รับซื้อยางแผ่นจากชาวสวนยางมาอัดเป็นก้อนแล้วขายให้ อ.ส.ย.
มาตรการที่ 3 ธนาคารพาณิชย์ 6 แห่งจะให้สินเชื่อกับภาคธุรกิจผลิตน้ำยางข้นเพื่อรับซื้อน้ำยางสดจากชาวสวนยาง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต ในวงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยผ่อนปรน 5% ซึ่งรัฐบาลอุดหนุนให้ 3%
และมาตรการที่ 4 ให้ความช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตกับเกษตรกรรายย่อย โดยรัฐบาลจะให้เงิน 1 พันบาท/ไร่ แต่ไม่เกิน 15 ไร่ หรือไม่เกินรายละ 15,000 บาท โดยใช้วงเงินจาก ธ.ก.ส. ในวงเงิน 8.5 พันล้านบาท
"เชื่อว่ามาตรการทั้งหมดที่ออกมา จะช่วยดันราคาขึ้นไปที่ 60 บาทได้ภายใน 1-2 เดือนนี้" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
สำหรับ มาตรการระยะยาว จะมีการให้วงเงินกู้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยที่มีสวนยางไม่เกิน 15 ไร่ เพื่อสนับสนุนให้มีอาชีพเสริม ด้วยการให้สินเชื่อระยะยาว 5 ปีรายละไม่เกิน 1 แสนบาท หากมีการโค่นต้นยางแล้วปลูกพืชเศรษฐกิจประเภทอื่น เช่น ปาล์มน้ำมัน โดย ธ.ก.ส.ตั้งวงเงินทั้งหมดไว้ 1 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ มาตรการทั้งหมดจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้าและเริ่มดำเนินการได้ทันที
อินโฟเควสท์