- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 18 May 2020 22:44
- Hits: 2464
สวพส. เดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรบนพื้นที่สูง บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ‘เร่งแก้วิกฤติภัยแล้งบนดอยสูง’
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. เร่งแก้วิกฤติภัยแล้งบนพื้นที่สูงผ่าน “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำขนาดเล็ก เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง” มุ่งจัดทำฝายต้นน้ำ 5 แห่ง ถังเก็บน้ำและบ่อพวง 111 จุด และระบบส่งน้ำและกระจายน้ำ 124,980 เมตร โดยจากการสำรวจข้อมูลในพื้นที่ดำเนินงานพบว่า มีเกษตรกรที่จะได้รับผลกว่า 296 ชุมชน ในพื้นที่ 424,936 ไร่ ทำให้ผลผลิตที่ส่งเสริมได้รับผลกระทบมูลค่ากว่า 9.2 ล้านบาท นอกจากนี้ สวพส. ยังได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานเร่งบูรณาการ ส่งเสริมและพัฒนาชุมชนให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย และแผนการใช้ที่ดิน เพื่อชุมชนมีแหล่งน้ำใช้ในการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร มีโอกาสและทางเลือกในการเพาะปลูกพืชที่หลากหลาย
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (สวพส.) เปิดเผยว่า สถาบันฯ มุ่งพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงให้มีความเป็นอยู่ที่ดีมีความสุข โดยมีภารกิจหลักคือ การสนับสนุนและรักษาซึ่งพันธกิจของโครงการหลวงในการวิจัยและพัฒนา เผยแพร่และสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน สืบสาน รักษา และต่อยอดงานโครงการหลวง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อน จึงส่งผลให้เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ ซึ่งเกษตรบนพื้นที่สูงต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ทางสถาบันจึงได้รวบรวมข้อมูลเพื่อแก้วิกฤติภัยแล้งบนพื้นที่สูง โดย นายอานนท์ ยอดญาติไทย นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา และ นางสาวอาทิตยา สุตา นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ของสถาบันฯ ได้เรียบเรียงและจัดทำข้อมูล พบว่า
“ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรทั้งประเทศ มีจำนวน 65.1 ล้านคน เป็นประชากรภาคเกษตร 22.4 ล้านคน หรือ ร้อยละ 34.49 ที่ต้องพึ่งพาน้ำที่เป็นปัจจัยหลักในการทำเกษตร จำเป็นต้องมีระบบการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทยที่ดีในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับชุมชน ซึ่งในปี 2563 ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับวิกฤตภัยแล้งที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากเป็นอันดับสองในรอบ 40 ปี นับตั้งแต่ปี 2522 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าประเทศไทยต้องเผชิญฝนแล้งยาวนานจนถึงเดือนมิถุนายน อย่างที่ทราบกันดีกว่าพื้นที่ทำการเกษตรโดยส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ ซึ่งอยู่นอกเขตชลประทานกว่าร้อยละ 87”
สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มีพื้นที่ดำเนินงาน ครอบคลุมพื้นที่สูงกว่า 5 ล้านไร่ ประชากรกว่า 250,000 คน ส่วนใหญ่เกษตรกรมีฐานะค่อนข้างยากจน ขาดโอกาส และปัจจัยขั้นพื้นฐานที่จำเป็น ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค และเพื่อทำการเกษตร ไม่สามารถเพาะปลูกพืชสร้างรายได้ให้เป็นไปตามแผน และผลผลิตได้รับความเสียหาย จากการสำรวจข้อมูลในพื้นที่ดำเนินงานพบว่า มีเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว จำนวน 296 ชุมชน 28,725 ครัวเรือน 114,443 คน พื้นที่ 424,936 ไร่ ผลผลิตที่ส่งเสริมได้รับผลกระทบมูลค่ากว่า 9.2 ล้านบาท
สถาบันจึงจัดทำ “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำขนาดเล็ก เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง” ซึ่งคณะกรรมการบริหารสถาบันเห็นชอบงบประมาณสะสมวงเงิน 10 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ในระดับชุมชน โดยน้อมนำแนวพระราชดำริ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ใช้แผนที่ดินรายแปลงเป็นเครื่องมือในการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำให้ตรงกับความต้องการของชุมชน และถูกต้องเหมาะสมตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เกิดนวัตกรรมการบริหารจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ในเบื้องต้นได้ทำการสำรวจพื้นที่ร่วมกับชุมชน และจัดทำแผนปฏิบัติการรายพื้นที่ในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 37 แห่ง ครอบคลุม 84 ชุมชน จำนวนแหล่งน้ำ 138 แห่ง คาดว่าเกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์กว่า 5,473 คน ครอบคลุมพื้นที่ 12,709 ไร่ โดยแบ่งเป็นการจัดทำฝายต้นน้ำ จำนวน 5 แห่ง ถังเก็บน้ำและบ่อพวง จำนวน 111 จุด และระบบส่งน้ำและกระจายน้ำ 124,980 เมตร นอกจากนี้สถาบันยังให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำลำธาร เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความชุ่มชื้นให้กับระบบนิเวศน์ต้นน้ำ โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดำเนินงาน สนับสนุนการจ้างแรงงานชุมชนในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือด้านอาชีพและรายได้ เพื่อรองรับสถานการณ์ทั้งด้านภัยแล้งและโรคระบาดโควิด-19 เป็นการสร้างแรงจูงใจ สร้างความตระหนัก และจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนต้นน้ำ
นอกจากนี้ยังได้รับการบูรณาการของหน่วยงานตามแผนแม่บท อาทิเช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน และเกษตรกรในชุมชน ในการส่งเสริมและพัฒนาชุมชนให้เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมตามระเบียบกฎหมาย และแผนการใช้ที่ดิน ทำให้ชุมชนมีแหล่งน้ำใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร มีโอกาสและทางเลือกในการเพาะปลูกพืชที่หลากหลาย โดยการปรับระบบเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เกิดการพัฒนาเกษตรที่ยั่งยืน สามารถผลิตพืชได้เป็นไปตามแผน สร้างรายได้ที่พอเพียง โดยใช้พื้นที่น้อยลง ผลผลิตมีความปลอดภัย มีคุณภาพ และมีตลาดรองรับ ทำให้ชุมชนมีความมั่นคงทางด้านอาชีพและอาหาร ควบคู่กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธารของชุมชนและประเทศไทย ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่า และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานทุกภาคส่วน เกิดความยั่งยืนและสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางของโครงการหลวงต่อไป
AO5379
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ
Click Donate Support Web