WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaak3CRAB BANK

CRAB BANK เครื่องอนุบาลปูม้าแบบอัตโนมัติ ช่วยฟื้นฟูปูม้าไทย

    นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี อาสาร่วมแก้ปัญหาปริมาณปูม้าลดลงจนใกล้วิกฤติ เหตุจากการทำประมงเชิงพาณิชย์อย่างขาดจิตสำนึก โดยนำภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องการฟื้นฟูปริมาณปูม้า ผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้เป็น Crab Bank เครื่องอนุบาลปูม้า ที่เพิ่มอัตราการรอดของลูกปูได้สูงถึง 10 เท่าตัว

       Crab Bank เครื่องอนุบาลปูม้า คือผลงานของ นายสิทธิพร จันทานิตย์ และ นายภานุวัฒน์ อักษรคง นักศึกษา ปวส. 2 จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ซึ่งคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากโครงการประกวดสิ่งประดิษฐ์ 'Enjoy Science: Young Maker Contest' ปีที่ 4 โดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

      นายสิทธิพร จันทานิตย์ กล่าวว่า แรงบันดาลใจที่ทำโครงการนี้ มาจากปริมาณปูม้าในทะเลไทยกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาปริมาณการเกิดของปูม้าตามธรรมชาติน้อยกว่าปริมาณที่ตลาดต้องการถึงร้อยละ 10 สาเหตุสำคัญมาจากการเร่งจับปูเพื่อจำหน่ายทำกำไรในช่วงที่ปูม้ากำลังได้รับความนิยมในการบริโภคสูง แม้ปูที่จับมาได้จะเป็น ‘ปูไข่นอกกระดอง’ (แม่ปูระยะที่ขับไข่มาไว้ที่บริเวณจับปิ้ง ใกล้จะสลัดไข่ออกจากตัวเพื่อฟักเป็นลูกปู) ก็ยังถูกนำไปจำหน่ายเช่นกัน

        “จากปัญหาดังกล่าวจึงได้ศึกษาวิธีการฟื้นฟูปริมาณปูม้าจากธนาคารชุมชน บ้านแหลมโพธิ์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งชาวประมงท้องถิ่นที่นั่นมีการจัดการเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งการรณรงค์ให้ความรู้ และทำหน้าที่อาสาในการขยายพันธุ์ปูม้า โดยให้ชาวประมงนำปูไข่นอกกระดองที่จับได้มาอนุบาลที่ธนาคารแห่งนี้จนแม่ปูสลัดไข่ออกจากตัว เพื่อนำไข่ปูม้าไปปล่อยลงทะเล ส่วนแม่ปูที่สลัดไข่แล้วก็สามารถนำไปจำหน่ายต่อได้ดังเดิม ด้วยวิธีการนี้ชาวประมงจะไม่เสียรายได้ และยังไม่ตัดโอกาสที่ปูม้าจะได้ขยายพันธุ์ต่อตามธรรมชาติอีกด้วย ดังนั้นเพื่อช่วยสนับสนุนให้การทำงานของธนาคารชุมชน ‘สะดวก’ และ ‘มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น’ จึงได้นำองค์ความรู้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวประมงท้องถิ่น มาผสานเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนได้เป็น ‘Crab Bank’ เครื่องอนุบาลปูม้าแบบอัตโนมัติ ที่ลดการใช้แรงงานคนในการดูแล ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ลูกปูตาย และประหยัดพื้นที่ในการทำงาน”

         สิทธิพร อธิบายถึงลักษณะของเครื่องว่า Crab Bank เป็นเครื่องอนุบาลปูม้าแบบอัตโนมัติ โดยตัวเครื่องแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ลักษณะแบบคอนโดมิเนียม ส่วนบนสุดคือถังเก็บและกรองน้ำเค็มที่สูบมาไว้ใช้ในการเลี้ยงปู ชั้นที่ 2 ชั้นอนุบาลปูม้าไข่นอกกระดอง ชั้นนี้จะมีถังสำหรับอนุบาล 9 ถัง 1 ถังกลาง และ 8 ถังล้อมรอบ โดย 1 ถังจะสามารถอนุบาลปูม้าไข่นอกกระดองได้ 1 ตัว ส่วนชั้นที่ 3 คือ ชั้นอนุบาลลูกปู มีลักษณะเป็นถังขนาดใหญ่สำหรับรองรับการอนุบาลลูกปูปริมาณมาก

        “การทำงานของ Crab Bank เพียงนำปูไข่นอกกระดองมาใส่ถังชั้นที่ 2 แล้วกดปุ่มควบคุม ระบบจะคำนวณระยะเวลาการอนุบาลและเติมน้ำลงสู่ถังสำหรับเลี้ยงปูไข่นอกกระดองให้โดยอัตโนมัติ กระทั่งเมื่อปูสลัดไข่แล้ว ไข่ใน 8 ถังรอบนอก จะถูกนำลงไปปล่อยลงสู่ทะเล โดยอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว เพื่อให้ฟักต่อตามธรรมชาติ ส่วนไข่ในถังกลางจะถูกปล่อยลงสู่ชั้นที่ 3 ชั้นอนุบาลลูกปู เพื่ออนุบาลไข่จนฟักเป็นตัวและเลี้ยงดูต่อจนตัวมีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อเพิ่มโอกาสรอด ก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติผ่านท่อที่ต่อตรงจากเครื่องไปยังป่าชายเลน สำหรับขั้นตอนการปล่อยเครื่องจะมีระบบเซนเซอร์แบบ IoT (Internet of Things) ตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำบริเวณจุดที่จะปล่อย แล้วรายงานผลมายังเครื่องว่ามีสภาวะเหมาะสมแก่การปล่อยลูกปูแล้วหรือไม่ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อลูกปูให้มากที่สุด จึงทำให้ Crab Bank สามารถเพิ่มโอกาสการรอดของลูกปูได้มากกว่าการเติบโตตามธรรมชาติถึง 10 เท่าตัว หรือมีปริมาณลูกปูเกิดใหม่อย่างน้อยหลักหมื่นตัวต่อแม่ปูม้า 1 ตัว”

        ด้าน ภานุวัฒน์ อักษรคง กล่าวว่า อีกหนึ่งจุดเด่นของเครื่องนอกจากการทำงานแบบอัตโนมัติ คือ การ ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพื่อป้องกันไฟดับ เพราะหากไฟดับเครื่องเติมอากาศเข้าสู่ถังอนุบาลปูจะไม่ทำงาน ซึ่งอาจทำให้ปูขาดอากาศตาย การใช้โซลาร์เซลล์จะช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า 2,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ปี และลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

       “สำหรับ การนำไปขยายผลใช้งานจริง ตั้งใจที่จะถ่ายทอดนวัตกรรมนี้แก่กลุ่มธนาคารปูม้า เพื่อให้มีการขยายผลไปสู่เครือข่ายที่มีหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ หากมีทุนสนับสนุนก็ตั้งใจจะผลิต Crab Bank เพิ่ม เพื่อนำไปติดตั้งไว้ที่ชุมชนต่างๆ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการอนุบาลปูม้าไข่นอกกระดอง และยังนำไปใช้อนุบาลสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ เช่น ไข่หมึกทะเล และปูดำไข่นอกกระดองฯลฯ ได้ด้วย”

      นับเป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยสนับสนุนให้ชาวประมงอนุรักษ์ และฟื้นฟูปริมาณสัตว์น้ำเศรษฐกิจของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถประกอบอาชีพประมงได้อย่างยั่งยืน

******************************************

 

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 

 Click Donate Support Web

 

SAM720x100px bgGC 790x90

 

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!