- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 13 October 2014 11:23
- Hits: 2704
รัฐ เอกชน และเกษตรกร ผนึกกำลังยกระดับคุณภาพและราคายาง ช่วยชาวสวนยาง นำร่อง'โครงการ 4 ประสานว่า ด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาการผลิต และการตลาดยางก้อนถ้วยคุณภาพของเกษตรกรในจ.เลย อย่างยั่งยืน
สถานการณ์ราคายางพาราที่ตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนยางพาราในเกือบทุกพื้นที่ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้าธ.ก.ส. เลย จำกัด(สกต.) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์การเกษตรจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ภายใต้กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ได้เล็งเห็นปัญหาตรงกัน จึงได้จับมือเปิด 'โครงการ 4 ประสานว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาการผลิตและการตลาดยางก้อนถ้วยคุณภาพของเกษตรกรในจ.เลย อย่างยั่งยืน'(Loei Model) เพื่อยกระดับคุณภาพยาง ยกระดับราคายางให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนโดยได้มีการเซ็นสัญญาความร่วมมือไปเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างเสถียรภาพด้านราคาให้กับอุตสาหกรรมยางพาราไทย โดยสนับสนุนให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกในโครงการได้เรียนรู้เทคโนโลยี และความรู้ตามหลักวิชาการเกษตรดีที่เหมาะสมสำหรับยางพารา (Good Agricultural Practice : GAP) ทั้งในเรื่องการผลิตน้ำยางคุณภาพ และการผลิตยางก้อนถ้วยคุณภาพเพื่อการเพิ่มมูลค่ายางพาราจากเจ้าหน้าที่สกย. และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์การเกษตร จำกัด ขณะเดียวกันยังจะได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. และปัจจัยการผลิตที่ได้มาตรฐานในราคาที่เป็นธรรมจากสกต.ซึ่งจะทำให้สมาชิกสามารถพัฒนาและยกระดับการผลิตยางก้อนถ้วยที่ได้มาตรฐานในระดับสากล
นายเชาว์ ทรงอาวุธรองผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กล่าวว่า โครงการในครั้งนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาวงการยางพารา เป็นโครงการที่มีประโยชน์ซึ่งดำเนินการขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพและเพิ่มผลผลิตยางพารา โดยนำร่องที่จังหวัดเลย และเป็นความร่วมมือกันระหว่าง 4 หน่วยงานที่มีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องเรื่องยางพารา โดยเล็งเห็นว่าปัญหาสำคัญของเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยเฉพาะเรื่องการตลาด จากเดิมมีการรวมกลุ่มเพื่อรวบรวมผลผลิตยางพาราไปขายต่างจังหวัด เนื่องจากจังหวัดเลยไม่มีโรงงานแปรรูปยางพารา แต่เมื่อซี.พี.มาสร้างโรงงานฯจึงถือเป็นโรงงานแปรรูปแห่งแรกในพื้นที่จังหวัดเลย ทำให้นโยบายของสกย.ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเกษตรกรให้เพิ่มผลต่อไร่มากขึ้น และสามารถผลิตยางก้อนถ้วยที่มีคุณภาพเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และเมื่อยางมีคุณภาพที่ดี ราคาขายย่อมสูงขึ้น เพราะโรงงานสามารถลดต้นทุนในแรงงานที่ต้องมาทำความสะอาด ตัดยางที่เสียออก ก็สามารถคืนส่วนต่างตรงนี้ นอกจากนั้นเกษตรกรสามารถขายผลผลิตยางพาราตรงให้กับโรงงาน ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางไม่ต้องเสียค่าขนส่งไปขายในต่างจังหวัด ทั้งนี้สกย.จะติดตามประเมินผล ทก 3 - 6 เดือน หากประสบผลสำเร็จคาดว่าจะนำโมเดลนี้กระจายไปสู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
นายสุรวิช ทวีผลผู้อำนวยการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จังหวัดเลย (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า เป้าหมายของธ.ก.ส.คือการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดเลย ธ.ก.ส.จึงไม่ได้มีหน้าที่ให้เงินกู้เพียงอย่างเดียวแต่ยังมีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มต้น การผลิต การตลาด ตลอดจนถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่จะต้องดูแลเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ธ.ก.ส.มีความยินดีอย่างยิ่งในความร่วมมือในครั้งนี้ โรงงานแปรรูปยางพาราคาของซี.พี.จะเป็นจุดรองรับผลผลิตยางพาราของเกษตรกรในพื้นที่ โครงการนี้จึงถือว่าเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรจังหวัดเลย และคิดว่าการทำงานของทั้ง 4 ส่วนงานนี้คงจะทำให้โครงการประสบความสำเร็จไปได้และเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ ได้พัฒนาต่อไป
นายขุนศรี ทองย้อยรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์การเกษตร จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่นำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่ง โดยในแต่ละปีประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางพารามากกว่า 6 แสนล้านบาท และแนวโน้มความต้องการยางพาราในตลาดโลกยังเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ในระยะนี้ราคายางอาจจะต่ำกว่าในช่วงที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าต้นปีหน้าราคายางพาราจะขยับขึ้นตามราคาตลาดโลก
โครงการ 4 ประสาน ที่จังหวัดเลย ถือเป็นการเสริมจุดแข็งของแต่ละส่วนงานที่มาร่วมกันพัฒนาศักยภาพของชาวสวนยางให้สามารถผลิตยางได้มีคุณภาพที่ดี และขายได้ราคาที่สูงขึ้น ในเบื้องต้นซี.พี.ได้ตั้งโรงงานแปรรูปยางแท่งแห่งแรกขึ้นที่ ต.ปากปวน อ.วังสะพุง จ.เลย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรกรีดยางในระบบปิดและรับซื้อยางคุณภาพจากเกษตรกรในพื้นที่ 30 กิโลเมตรรอบโรงงาน
โรงงานแปรรูปยางแห่งนี้เป็นโรงงานที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำเทคโนโลยีมาช่วยให้การแปรรูปยาง มีกระบวนการผลิตและเครื่องจักรที่ทันสมัย ตลอดจนมีการควบคุมระบบการทดสอบให้เป็นไปตามข้อกำหนดของระบบคุณภาพ สามารถรองรับผลผลิตยางพาราของจังหวัดเลยและจังหวัดใกล้เคียงได้ถึง 150,000-200,000 ไร่ ที่สำคัญสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ได้รับ
นอกจากนี้ ภายในโรงงานยังได้จัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตยางพาราให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก และยังร่วมกับ สกย. กำหนดคุณภาพยางก้อนถ้วยมาตรฐานให้สอดคล้องกับราคารับซื้อที่เป็นธรรม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพการผลิตและการเก็บน้ำยาง
ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการดังกล่าว จะสามารถสร้างความยั่งยืน และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ตลอดจนสามารถยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของวัตถุดิบยางก้อนถ้วยและผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปของไทย ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกได้
นายอภิรัตน์ วงศ์สง่าประธานกลุ่มเกษตรกรยางพาราบ้านภูทับฟ้า อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้ใช้ถ้วยระบบปิด เมื่อ ซี.พี.เข้ามาตั้งโรงงาน ได้มีนโยบายส่งเสริมการผลิตยางให้สะอาด โดยใช้ถ้วยแบบมีฝาปิด เมื่อนำไปขายโรงงานก็จะรับซื้อในราคาที่สูงขึ้น
หนึ่งฤทัย นิวัตยะกุล (หนึ่ง) โทร.0-2625-7155 ,080-998-0116
สำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ อาคารซี.พี.ทาวเวอร์ ชั้น 12
313 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ10500
โทรศัพท์ 02-625-8127-30 โทรสาร 02-638-2741 Twitter : @pr_CP
Facebook : Pr-cpgroup Charoenpokphand