- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 06 October 2014 23:49
- Hits: 2802
ปรับโครงสร้างภาคเกษตร ทุ่มแสนล./ต่อปี เปลี่ยนชาวนา-สวนยาง หันปลูกพืชอื่นทดแทน
แนวหน้า : ปรับโครงสร้างภาคเกษตร ทุ่มแสนล./ต่อปี เปลี่ยนชาวนา-สวนยาง หันปลูกพืชอื่นทดแทน เน้น”อ้อย-มันสัมปหลัง” ปชป.ห่วงทุจริตชดเชย
นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้ายุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างภาคเกษตรว่า กระทรวงเกษตรฯจะเสนอแผนต่อครม.ภายในเดือนตุลาคมนี้ เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ส่งเสริมช่วยเหลือให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนอาชีพและการผลิตสินค้าเกษตรทั้งระบบ ไม่ใช่ปรับไปปลูกพืชอื่นเพียงชนิดเดียว ประเด็นหลักๆคือปรับพฤติกรรมเกษตรกรจูงใจให้ปรับเปลี่ยนจากการผลิตแบบเดิมเป็นแบบใหม่ ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ หรือโซนนิ่ง โดยจัดประเภทเป็นพื้นที่เหมาะสมกับปลูกข้าว ยางพารา ก่อนสินค้าอื่น
เป้าหมายแรกปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าว 11.2 ล้านไร่ โดยมีเป้าหมายเกษตรกรรายย่อยปลูกข้าว 1.89 ล้านครัว ช่วยเหลือ 5 ไร่ต่อครัวเรือน ส่วนเกษตรกรรายกลางปลูกข้าว 6.6 แสนครัวเรือน ช่วยเหลือไม่เกิน 20 ไร่ต่อครัวเรือน และเกษตรกรสวนยางปรับเปลี่ยนพืชอื่น 6 แสนครัวเรือน ที่เป็นเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนอาชีพในช่วงสามปี เบื้องต้นคาดว่าใช้งบประมาณ 1 แสนล้านบาทในปีแรก แบ่งมาตราการจูงใจให้เปลี่ยนอาชีพเป็นกลุ่มเกษตกรรายย่อย มีพื้นที่ต่ำกว่า 15 ไร่และรายกลางมีพื้นที่เพาะปลูกข้าว15 ไร่ ขึ้นไป ปลูกยาง 10 ไร่ ประเมินจากเส้นความยากจนมีรายได้เฉลี่ย เดือนละ 2,500 บาทต่อคนมีครัวเรือนละ 4 คน. จะให้เงินจูงใจประมาณ 1.2 แสนบาทต่อปี
ในส่วนเกษตรกรที่มีแนวคิดทำไร่นาสวนผสม ช่วยเหลือ 5 ไร่ต่อครอบครัว มาขึ้นทะเบียนเกษตรกร เพื่อเพื่อให้ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบลเข้ามาต่อยอดให้ความรู้ มีรูปแบบริหารจัดการชุมชน ลดความเสี่ยงไม่มุ่งเพื่อขาย
หลังจากแผนผ่าน ครม.แล้วกระทรวงพยายามเร่งรัดจัดวางพื้นที่เหมาะสมกับการผลิตสินค้าเกษตร โดยปัญญา ในปัจจุบันปลูกข้าวขยายถึง 40 -50 ล้านไร่ต่อรอบการเพาะปลูก มีผลผลิตมากถึง 35 ล้านตันมาปรับใหม่ในพื้นที่ปลูกข้าวเหมาะสมกับปลูกพืชอื่นถึง 20 เปอร์เซนต์ ตั้งเป้าพื้นที่สามารถปรับมาปลูกอ้อย 4.6 ล้านไร่ จากยอดที่โรงงานต้องการปริมาณอ้อยถึง 6 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 2 ล้านไร่ และปลูกข้าวโพด 5 แสนไร่
ขณะนี้ยางพาราล้นระบบอยู่ 5 แสนตันและราคาตกต่ำในตลาดโลก และข้าวถึงจุดหนึ่งไม่ว่าถูกแพงประเทศร่ำรวยต้องผลิต เพราะเป็นสินค้าการเมืองทุกประเทศต้องปลูกเองมีให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศของเขา ปริมาณข้าที่สมดุล 30 ล้านตันต่อปี
แผนดังกล่าวต้องวางแผนใช้เงินงบประมาณระยะยาวไม่ว่ารัฐบาลใดมาต้องเดินหน้าต่อ ซึ่งจะคิดเงินอุดหนุนภาคเกษตรจาก จีดีพีเกษตรบวกกับอุตสาหกรรมเกษตร และออกกฎหมายมาควบคุม อาจจะเรียกเป็น พรบ.อุดหนุนสินค้าเกษตร โดยใช้กฎหมายสนับสนุนภาคเกษตรของสหรัฐอเมริกา อียูและญึ่ปุ่นใหญ่ แต่ละประเทศอุดหนุนร้อยละ30-40 จากฐานการผลิตเกษตร
ตอนนี้คิดจากจีดีพี ของเกษตรไทยกว่า 1แสนล้านบาท ซึ่งแนวคิดของนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ รมว.เกษตรฯพยายามให้มีกฎหมายรองรับการพัฒนาภาคเกษตร โดยรัฐมนตรีเกษตรฯมองว่าให้ร่วมดูแลเรื่องภัยธรรมชาติ เรื่องความยากจน ดูแลคนชนบท นำมารวมในยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างเกษตร
"รมต.เกษตรฯมีไอเดียให้ตั้งงบระยะยาวคิดมาจากฐานจีดีพี มีปรับโครงสร้างเกษตร เพื่อให้โครงการมีความยั่งยืน และคาดว่ามีโอกาสผ่านกฎหมาย ในสนช.เหมือนกับกฏหมายบุหรี่เหล้าของสสส. เพื่อนำงบมาพัฒนาการผลิต พัฒนาเกษตรกร และตั้งเป็นกองทุนพัฒนาภาคเกษตร ในปีแรกใช้งบประมาณ 1แสนล้านบาท"นายอภิชาต กล่าว
ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา 1,000 บาทต่อไร่ แต่ไม่เกิน15 ไร่ต่อครอบครัวว่า ตนเข้าใจว่าเป็นการเยียวยาชาวนาและกระตุ้นเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง เพื่อให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ปัญหาที่รัฐบาลต้องตระหนักและรับฟัง โดยเฉพาะชาวนาในพื้นที่ภาคกลาง ที่ต้องเช่าที่นานั่นคือ เม็ดเงินดังกล่าวอาจจะไปตกแก่เจ้าของที่ดิน รวมถึงอาจมีการทุจริตเกิดขึ้นคือ การแจ้งที่นาไม่ตรงกับความจริง ดังนั้นเรื่องนั้จึงควรมีความรอบคอบและตรวจสอบได้
ส่วนนายไพรัช ศรีสว่าง อายุ 31 ปี อยู่บ้านที่ 21/2 หมู่ที่ 7 ตำบลพระแก้ว อำเภอภาชี ซึ่งทำนาเป็นปีแรก จำนวน 15ไร่และไม่เคยขึ้นทะเบียนชาวนามาก่อน ยืนยันจะไปขึ้นทะเบียนชาวนาในสัปดาห์หน้า เพื่อขอรับสิทธิ์เงินช่วยเหลือ และจะกู้เงินของ ธ.ส.ก.เพื่อเป็นลูกหนี้รายใหม่ด้วย เพื่อนำเงินมาลงทุนทำนา เพราะไม่อยากไปทำงานรับจ้างตามโรงงานอุตสาหกรรม
วันเดียวกันนายวิบูลย์ ไทยโอสถ อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 73 ม.11 ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาทกล่าวถึงกรณีที่ รมต.เกษตรฯ ที่ขอให้ชาวนางดทำนาปรัง ในการลงพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 4ต.ค.ที่ผ่านมาว่า ถ้าจะให้ชาวนางดทำนาคงเป็นไปไม่ ได้เพราะไม่มีอาชีพอื่นทำ ซึ่งถ้าหยุดทำนาก็ขาดรายได้เลี้ยงครอบครัวที่ต้องกินต้องใช้ทุกวัน ปัจจุบันตนเองมีนาอยู่ 50ไร่ แต่ในฤดูนาปรังก็พยายามลดลงมาทำเพียง 12 ไร่ ในพื้นที่นาลุ่มติดคลองชลประทาน เพราะในเวลานี้ ยังพอมีน้ำให้สูบเพื่อปลูกข้าวได้ แต่ในปลายฤดูหากน้ำแห้ง ถ้าจำเป็นจะต้องสูบน้ำบาดาลมาใช้ก็ต้องทำ แต่ถ้าทางรัฐบาลต้องการให้งดทำนาปรังจริงๆ ก็ต้องมีแนวทางช่วยเหลือชาวนา อย่างเป็นรูปธรรมให้ชาวนาและครอบครัวสามารถดำรงชีพได้โดยไม่เดือดร้อน
"ชาวนามีความรู้ความชำนาญในการทำนาปลูกข้าว จู่ๆจะให้ไปปลูกถั่ว ปลูกมันสำปะหลัง อ้อยหรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็ไม่มีภูมิความรู้ในเรื่องพืชดังกล่าว ทำไปก็มีแต่จะขาดทุน เพราะต้องลงทุนซื้อเครื่องมือการเกษตรที่เกี่ยวข้องใหม่”นายวิบูลย์ระบุ
และว่า อีกอย่างที่นาจะเป็นดินเหนียวไม่เหมาะที่จะไปปลูกพืชอย่างอื่น เพราะพืชแต่ละชนืดชอบดินไม่เหมือนกัน เคยมีคนทดลองนำอ้อยมาปลูกในที่นา อ้อยก็โตช้าไม่คุ้มค่าการลงทุน ถั่วเขียวเองก็เช่นกัน ที่ชอบดินร่วนปนทรายมาปลูกในดินเหนียวดินนาก็ให้ผลผลิตน้อย จนชาวนาหลายๆ รายเลิกคิดที่จะลงทุนกับการปลูกถั่วเขียว ด้วยเหตุผลประกอบเหล่านี้เองชาวนาส่วนใหญ่จึงไม่อยากที่จะหยุดทำนา เพื่อไปปลูกพืชที่ทางราชการส่งเสริม ดังนั้น นโยบายที่ รมต.เกษตรฯอยากให้ชาวนางดทำนาปรังนั้น จึงเกิดคำถามขึ้นในใจชาวนาคือ ครอบครัวเขาจะกินอะไร ถ้าไม่ให้ทำนา