- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 09 November 2019 18:58
- Hits: 8200
กรมประมง...เดินหน้าดันเครือข่ายต้านไอยูยูระดับภูมิภาค สานแนวคิด'ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน' หลังการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
จากการที่ประเทศไทยเป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 - 3 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้มีการกำหนดทิศทางในอนาคตของประชาคมอาเซียน ภายใต้แนวคิด ‘ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน’ (Advancing Partnership for Sustainability) เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับอาเซียนในทุกมิติ รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายอาเซียนในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายด้วย
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับประชากรในภูมิภาคพร้อมเดินหน้าสานต่อแนวคิดดังกล่าว โดยได้เสนอโครงการ
“ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการประมงที่ยั่งยืนในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน” (ASEAN Cooperation on Sustainable Fisheries) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดหลักของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในครั้งนี้ และพร้อมที่จะแสดงความจริงใจของประเทศไทยในการเป็นผู้นำการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในภูมิภาคอาเซียนให้เกิดประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติ โดยจะเร่งผลักดันการจัดทำนโยบายประมงอาเซียน (ASEAN General Fishery Policy) และขับเคลื่อนการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และการควบคุม
(ASEAN Network for Combating IUU Fishing : AN – IUU) ซึ่งถูกระบุอยู่ในแถลงการณ์ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ กรมประมงในฐานะผู้ริเริ่มโครงการดังกล่าวจะร่วมกับสำนักเลขาธิการอาเซียน และโครงการส่งเสริมความตกลงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน โครงการกลไกการหารือระดับภูมิภาคระหว่างสหภาพยุโรป-อาเซียน (Regional EU-ASEAN Dialogue Instrument : READI) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม The 2nd ASEAN Meeting for Combating IUU Fishing in Partnership with the EU ขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 14 ธันวาคม 2562 ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพมหานคร เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือของเครือข่ายในการบริหารจัดการด้านประมงของภูมิภาคที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยกรมประมงจะทำการเชิญประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมการประชุม ร่วมกับผู้แทนจากสหภาพยุโรป ผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน ผู้แทนจากศูนย์พัฒนาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ ได้แก่ กรมอาเซียน กรมยุโรป กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมเจ้าท่า ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กองทัพเรือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมศุลกากร และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งคาดว่าการประชุมครั้งนี้ จะทำให้การดำเนินงานของเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการประมงผิดกฎหมายมีความชัดเจนในกรอบการดำเนินงาน
มากขึ้น
อีกทั้ง ยังเป็นการสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกได้ตระหนักถึงบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบในการขับเคลื่อนเครือข่ายการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายเพื่อไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังต่อไป