- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 05 October 2014 22:39
- Hits: 3335
จ่ายไร่ละพันกระตุ้น ศก. 'หม่อมอุ๋ย' ลั่นโครงการเพิ่มรายได้ชาวนาไม่ใช่ประชานิยม
บ้านเมือง : ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการเป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการประจำปีของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ระบุว่าโครงการเงินช่วยเหลือชาวนาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 40,000 ล้านบาท ไม่ได้เป็นโครงการประชานิยม แต่มุ่งหวังกระตุ้นเศรษฐกิจขณะนี้ที่ประสบปัญหาชะลอตัว ขณะเดียวกันแนวทางกระตุ้นเศรษกิจที่พุ่งเป้าตรงไปที่ชาวนาซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถือว่ากระตุ้นตรงจุด เพื่อให้เกิดรายได้และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
ส่วนชาวนาบางรายระบุว่าเงินช่วยเหลือที่นาไม่เกิน 15 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท น้อยเกินไปนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า การให้เงินช่วยเหลือดังกล่าวคำนวณจากราคาข้าวปัจจุบันที่ชาวนาจะมีรายได้ประมาณตันละ 8,200 บาท ขณะที่รัฐบาลสมทบทุนช่วยอีกไร่ละ 1,000 บาท ชาวนาก็จะได้เพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะเงินช่วยเหลือดังกล่าวจะต้องมาจากภาษีของประชาชน หากนำมาใช้มากๆ จะไม่เหมาะสม
ขณะที่การพัฒนาความร่วมมือเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียนมาร์ ซึ่งเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดไปเยือนเมียนมาร์ เชื่อว่า จะมีการหารือแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวายด้วยนั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า สัปดาห์หน้าจะมีการนำข้อมูลการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ เพื่อเป็นข้อมูลใช้ในกรอบเจรจาต่อไป
สำหรับ สัมมนาวิชาการของ ก.พ.ร. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การพัฒนาระบบราชการกับการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน" พร้อมให้นโยบายข้าราชการขอให้ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่ใช้บริการหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ของประเทศได้รับประโยชน์ โดยในอนาคตรัฐบาลจะปรับปรุงระบบไอทีของประเทศ เพื่อสนับสนุนให้งานราชการสามารถนำระบบไอทีมาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งข้าราชการต้องเรียนรู้และนำระบบเหล่านี้มาปรับปรุงใช้กับงานของตัวเอง
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินตามมาตรการลดต้นทุนการผลิตให้ชาวนาที่มีที่ดิน 15 ไร่ขึ้นไป จะได้รับครอบครัวละ 1.5 หมื่นบาท ส่วนชาวนาที่มีที่ดินไม่เกิน 15 ไร่ จะได้รับเงิน 1 พันบาทต่อไร่ ว่า ธ.ก.ส.จะประสานกรมส่งเสริมการเกษตรที่มีรายชื่อชาวนาที่ขอขึ้นทะเบียนปลูกข้าวนาปีในปีนี้กว่า 2.87 ล้านครัวเรือนแล้ว คิดเป็น 88.3% จาก 3.47 ล้านครัวเรือน
โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะออกใบรับรองให้เกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้สิทธิขอรับเงินจาก ธ.ก.ส. คาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบข้อมูล 3 วัน จากนั้นจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากเกษตรกรได้เลย โดยเริ่มโอนเงินตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคมนี้ คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือนครึ่ง นายลักษณ์ กล่าวถึงมาตรการอื่นๆ ช่วยเหลือชาวนาว่า มี 3 โครงการ คือ 1.โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่ผู้ปลูกข้าวนาปี 3% ต่อปี รายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน วงเงินชดเชยดอกเบี้ย 2,292 ล้านบาท โดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้ คาดมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 3.57 ล้านราย
2.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีช่วงที่ผลผลิตออกมามาก โดยเกษตรกรนำข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวมาขอกู้กับ ธ.ก.ส.ในอัตรา 80% ของราคาตลาด วงเงินไม่เกินรายละ 300,000 บาท โดยไม่เสียดอกเบี้ย กำหนดชำระคืนภายใน 4 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 เป้าหมายข้าวเปลือก 1.5 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 17,280 ล้านบาท
3.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกรไปรวบรวมข้าวเปลือกวงเงินสินเชื่อ 18,000 ล้านบาท และเพื่อนำไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท รวม 20,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา MLR-1 (ปัจจุบัน MLR ร้อยละ 5 ต่อปี) โดยสถาบันเกษตรกรจ่าย 1% และรัฐบาลชดเชย 3% ทั้ง 3 โครงการเริ่มปล่อยสินเชื่อแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
นายลักษณ์ กล่าวถึงกรณีที่ชาวนาจังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์ เรียกร้องขอให้จ่ายเงินค่าจำนำข้าวให้เกษตรกร 121 ราย วงเงิน 20,646,007 บาท ว่า ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเกษตรกรใน จ.พิจิตร แต่ปลูกข้าวใน จ.นครสวรรค์ จากนั้นนำข้าวมาจำนำที่ จ.พิจิตร เป็นการจำนำข้ามเขต ผิดหลักเกณฑ์การรับจำนำข้าว แต่ ธ.ก.ส.จะรายงานให้คณะกรรมนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ทราบเพื่อผ่อนปรนและชำระเงินให้เกษตรกร
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย เปิดเผยว่า ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือชาวนา แต่มาตรการจ่ายเงินอุดหนุนให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 15 ไร่นั้น ได้เกิดปัญหากับชาวนาบางคนไม่ได้รับสิทธิ์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่ได้ลงทะเบียนและเจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องไม่ให้ความช่วยเหลือหรือชี้แจงข้อเท็จจริง อีกทั้งเจ้าของที่นาต้องการมีส่วนร่วมในเงินดังกล่าวด้วย