WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รัฐบาลสั่งธ.ก.ส.ผุดมาตรการลดต้นทุนหลังเลิกจำนำ-คลังถกหาช่องล้างหนี้เก่า เท 4 หมื่นล.อุ้มข้าว-ยาง

     แนวหน้า : รัฐบาล สั่งธ.ก.ส.เตรียมเงิน 4 หมื่นล้านบาท ใช้ทำมาตรการลดต้นทุนการผลิต จ่ายชดเชย หลังเลิกโครงการรับจำนำข้าว และใช้สำหรับการบรรเทาผลกระทบราคายางพาราตกต่ำ ด้าน รมว.คลังมอบหมาย ธ.ก.ส.หารือ สบน.ปรับโครงสร้างหนี้โครงการรับจำนำข้าวอย่างเร่งด่วน ก่อนเสนอเข้าบอร์ดอีกครั้งปลายเดือนต.ค.นี้

   แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส. ) เมื่อวันที่ 29 ก.ย.57 ที่มีนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เป็นประธาน โดยมีวาระสำคัญ เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ในโครงการรับจำนำข้าวที่มีอยู่กว่า 6.8 แสนล้านบาท ซึ่งมอบหมายให้ ธ.ก.ส. เข้าหารือกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะ ( สบน.) เป็นการเร่งด่วน โดยให้สรุปสต็อคข้าว เพื่อตีเป็นมูลค่าที่คาดว่าจะขายได้ แล้วเอามาหักกับยอดหนี้ที่กู้มาแบบเทอมโลนทั้งหมด

     โดยส่วนเงินกู้ที่เหลือที่เป็นส่วนต่าง จะให้ สบน.ทำการออกพันธบัตร เพื่อมาแปลงหนี้เทอมโลนดังกล่าวให้เป็นหนี้ระยะยาว ส่วนหนึ่งเพื่อใช้หนี้คืน ธ.ก.ส. ในส่วนที่มีผลขาดทุนเกิดขึ้น และอีกส่วนเพื่อเป็นการลดภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น จากหนี้ที่กู้มาแบบเทอมโลน จะมีภาระดอกเบี้ยทั้งส่วนที่ต้องจ่ายให้สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ เฉลี่ยที่ 3 %  และค่าบริหารจัดการที่ต้องจ่ายให้ ธ.ก.ส. ในอัตรา FDR+1 หรืออยู่ที่ระดับ 4 % โดย รมว. คลัง ต้องการให้มีการสรุปเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว และเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. อีกครั้งปลาย ต.ค.นี้

     แหล่งข่าว กล่าวอีกว่ารัฐบาลได้สั่งการมายังธ.ก.ส.ให้เตรียมเงินไว้ 4 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินการโครงการลดต้นทุนการผลิตและจ่ายผลตอบแทนให้กับเกษตร หลังจากไม่มีโครงการรับจำนำข้าว รวมทั้งใช้ในการช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากราคาตกต่ำ เช่น กลุ่มชาวสวนยางพารา โดยครงการนี้จะถูกบรรจุรวมอยู่ในแพคเก็จมาตรการกระตุ้นเสรษกิจที่รัฐบาล ครม.จะพิจารณาในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

    แหล่งข่าว กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส.ได้อนุมัติโครงการสินเชื่อสีเขียว หรือ กรีนเครดิต วงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยปล่อยสินเชื่อกับเกษตรกรทำเกษตรกรรมปลอดสารพิษและชุมชนผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ด้านอาหารปลอดภัย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ปล่อยสินเชื่อให้กับบุคคลรายย่อยเพื่อการผลิต รายละไม่เกิน 100 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR เท่ากับ 7% และปล่อยสินเชื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ชุมชน รายละไม่เกิน 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MLR เท่ากับ 5% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.57- 31 มี.ค.60

   ทั้งนี้ หากบุคคลรายย่อยที่เป็นเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด และได้ใบรับรองด้านเกษตรอินทรีย์ ทางธ.ก.ส.จะพิจารณาคืนเงินในส่วนของดอกเบี้ยทั้ง 2 ประเภท ที่ 1% โดยระยะเวลาการชำระหนี้ขึ้นอยู่กับการผลิตของแต่ละราย เช่น ระยะสั้นจะออกให้เกษตรกรที่ทำการผลิตตามฤดูกาลผลิต ส่วนระยะยาวจะออกให้กับเกษตรกรที่สร้างขีดความสามารถการลงทุนที่ต้องคืนทุนมากกว่า 5 ปีขึ้นไป

   “หากโครงการกรีนเครดิตด้านอาหารปลอดภัยที่เป็นโครงการนำร่องนี้สำเร็จ ธ.ก.ส.ก็พร้อมขยายโครงการไปยังด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ด้านพลังงานทดแทน เพื่อเป็นการลดต้นทุน และให้เกษตรกร และชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” แหล่งข่าว กล่าว

    นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบให้ขยายกลุ่มเป้าหมายของโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้รวบรวมยางวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ต้องการช่วยเหลือในภาวะที่ราคายางตกต่ำ จากที่ปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์กองทุนชาวสวนยาง สหกรณ์การเกษตร และกลุ่มเกษตรกร เพิ่มไปยังวิสาหกิจชุมชนให้มีเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้

   ที่ผ่านมา มีสหกรณ์ทยอยขอสินเชื่อไปแล้วจนถึงสิ้นเดือนก.ย.กว่า 4,000 ล้านบาท จากที่ได้ตั้งเป้าในเดือนก.ย.จำนวน 6,880 ล้านบาท เดือน ต.ค.อีก 2,000 ล้านบาท และเดือนพ.ย.อีก 1,000 ล้านบาท มีระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตามโครงการจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.57 – 30 มิ.ย.58 กำหนดคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน อัตราดอกเบี้ย 4% โดยสหกรณ์จะรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้เพียง 1% ต่อปี และรัฐบาลอุดหนุนดอกเบี้ยเงินกู้ให้ 3 % ต่อปี

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!