- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 28 September 2014 20:51
- Hits: 2776
สศก. เปิดโปรเจคใหญ่ ร่วม สกว. รุกศึกษาวิจัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 5 สินค้าเกษตรสำคัญ
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลุยโปรเจคใหญ่ ร่วม สกว. ศึกษาและวิจัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสินค้าเกษตรที่สำคัญ” ของสินค้าข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน และหน่อไม้ฝรั่ง แบบครอบคลุมทุกมิติ เผย ขณะนี้ลงนามร่วมกันแล้ว กำหนดระยะเวลาโครงการ 1 ปี เริ่ม 1 กันยายน 2557 – 31 สิงหาคม 2558
นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาการรวบรวมข้อมูลเรื่องการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานด้านการเกษตรทั้งระดับมหภาคและจุลภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังมีอยู่จำกัด ไม่ครอบคลุมกิจกรรมโลจิสติกส์ตลอดโซ่อุปทานการเกษตร ส่วนใหญ่ยังคงเน้นการจัดเก็บข้อมูลในมิติต้นทุนโลจิสติกส์เป็นสำคัญ ขณะที่การจัดทำข้อมูลโลจิสติกส์ในมิติอื่น โดยเฉพาะในมิติเวลา และมิติความน่าเชื่อถือยังมีน้อย จึงทำให้การจัดทำแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตรในช่วงที่ผ่านมา ยังคงเน้นการขับเคลื่อนเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ ขณะที่ในหน่วยธุรกิจเกษตรอื่นๆ โดยเฉพาะผู้รวบรวม ผู้ประกอบการ โรงงานรับซื้อผลผลิต โรงงานแปรรูปและผู้ส่งออก ให้ความสำคัญในการวางแผนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกิจกรรมโลจิสติกส์ครอบคลุมในมิติต่างๆ โดยเน้นการพัฒนาและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ตัวดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์สินค้าเกษตร และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม จึงมีผลทำให้หน่วยธุรกิจเหล่านี้ สามารถมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้เฉลี่ยร้อยละ 75 ของมูลค่าเพิ่มในโซ่คุณค่าทั้งหมด ขณะที่เหลือร้อยละ 25 เป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของเกษตรกร หรืออาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าเกษตรกรได้รับผลประโยชน์จากการผลิตสินค้าเกษตรน้อยมาก เนื่องจากเกษตรกรยังจำกัดบทบาทของตนเองในขั้นตอนการผลิต ดังนั้น การที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้และผลประโยชน์ทางการเกษตรในสัดส่วนที่มากขึ้นนั้น จะต้องให้เกษตรกรมีบทบาทในขบวนการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานด้านการเกษตรให้มากขึ้น
สำหรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยระยะที่ 1 พ.ศ. 2550-2554 และระยะที่ 2 พ.ศ.พ.ศ.2556-2560ได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ในภาคการผลิต การให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้ด้านการจัดการระบบโลจิสติกส์ในระดับฟาร์ม การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสินค้าเกษตรเพื่อลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในโซ่อุปทานของเกษตรกร และเพิ่มมูลค่าเพิ่มจากโซ่อุปทาน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ในภาคเกษตรกรรม เพื่อยกระดับความสามารถของการบริหารจัดการโลจิสติกส์ตลอดโซ่อุปทาน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรของประเทศ มีเป้าประสงค์เพื่อลดต้นทุนที่เกิดจากการบริหารจัดการในกระบวนการโลจิสติกส์การเกษตร และลดความสูญเสียจากการเน่าเสียของสินค้าจากกระบวนการเก็บรักษาและระบบขนส่งสินค้า
ดังนั้น เพื่อให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลระบบการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการต้นทุนโลจิสติกส์ของสินค้าเกษตร ตัวดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์สินค้าเกษตร (Logistics Performance Index : LPI) ที่สามารถสะท้อนพฤติกรรมที่แท้จริง และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศคำนวณได้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน สศก. จึงเห็นควรมีการศึกษาแนวทางการจัดทำฐานข้อมูลการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ตามกิจกรรมในโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและหน่วยธุรกิจการเกษตร ประกอบด้วยสินค้าเกษตรสำคัญคือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ผัก (หน่อไม้ฝรั่ง) และผลไม้ (ทุเรียน) ครอบคลุมในมิติที่สำคัญประกอบด้วย มิติด้านต้นทุน มิติด้านเวลา และมิติด้านความน่าเชื่อถือ เพื่อเป็นเกณฑ์วัดผลการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจการเกษตรตลอดโซ่อุปทานสินค้าเกษตรเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงปัจจัยที่มีความแตกต่างกันของพืชเศรษฐกิจแต่ประเภท ได้แก่ สายพันธุ์พืช พื้นที่ศึกษา และขนาดของกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำไปสู่การกำหนดนโยบาย แนวทาง และแผนงาน/โครงการ เพื่อยกระดับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตรของประเทศต่อไป
ทั้งนี้ สศก. ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อดำเนิน“โครงการศึกษาและวิจัยโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสินค้าเกษตรที่สำคัญ” ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน และหน่อไม้ฝรั่ง ระยะเวลาโครงการ 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2557 – 31 สิงหาคม 2558) ซึ่งขณะนี้ ได้มีการลงนามในสัญญารับทุนอุดหนุนการวิจัย เรียบร้อยแล้ว