- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 12 April 2019 12:48
- Hits: 2016
สศก.ลงพื้นที่แหล่งเพาะเลี้ยงกุ้ง นำร่องศึกษาระบบประกันภัยด้านประมง
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปประกันภัยการเกษตร ซึ่งปัจจุบันมีโครงการภาครัฐที่ดำเนินการในสินค้าเกษตรเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ประกันภัยข้าวนาปี ประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ ยังมีประกันภัยที่ดำเนินการโดยบริษัทประกันภัยและเกษตรกรโดยตรง เช่น ทุเรียน รวมไปถึงหน่วยงานต่างๆ เช่นสำนักงานคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เริ่มมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการประกันภัยสินค้าชนิดอื่นๆ เช่น โคนม มันสำปะหลัง เป็นต้น
สศก. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านสินค้าประมง จึงได้ศึกษาถึงแนวทางการประกันภัยด้านสินค้าประมง โดยผลการประชุมหารือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า การประกันภัยบ่อกุ้ง เป็นที่น่าสนใจ มีความเป็นไปได้ในการดำเนินการด้านประกันภัยให้แก่เกษตรกร ซึ่งจากการลงพื้นที่ 6 จังหวัด (จันทบุรี สุราษฎร์ธานี ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร นครปฐม และสุพรรณบุรี) เพื่อศึกษาสถานการณ์การผลิตและการประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งความต้องการของเกษตรกรต่อการทำประกันภัยในการเพาะเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ซึ่งเป็นสินค้าประมงที่มีพื้นที่และเกษตรกรเพาะเลี้ยงมากที่สุด พบว่า
จังหวัดจันทบุรี และสุราษฎร์ธานี เกษตรกรเพาะเลี้ยงกุ้งขาวในพื้นที่น้ำเค็ม มีการเพาะเลี้ยงแบบเชิงเดี่ยว เลี้ยงแบบหนาแน่น ใช้ลูกพันธุ์กุ้งขาวระหว่าง 100,000-200,000 ตัวต่อไร่ และพัฒนาโดยใช้พลาสติกปูพื้นบ่อและคันบ่อ มีบ่อพักน้ำ บ่อทิ้งเลน อย่างเป็นระบบ โดยภัยพิบัติธรรมชาติที่มักเกิดขึ้นคือโรคกุ้ง โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น โรคไวรัสดวงขาว และโรคตายด่วน รวมถึงโรคและอาการของโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวเหลือง แคระแกรน และขี้ขาว ส่วนภัยแล้งและน้ำท่วม เกษตรกรเห็นว่า ไม่ใช่ปัญหาสำคัญ เนื่องจากมีน้ำเพียงพอและมีการป้องกันน้ำท่วม เช่น ยกคันบ่อให้สูง
จังหวัดฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร นครปฐม และสุพรรณบุรี เป็นการเพาะเลี้ยงกุ้งขาวในพื้นที่น้ำจืดหรือการเพาะเลี้ยงโดยใช้น้ำความเค็มต่ำ เกษตรกรนิยมเพาะเลี้ยงกุ้งแบบผสมผสาน โดยนิยมเลี้ยงผสมกับกุ้งก้ามกราม มีการเลี้ยงแบบเบาบาง ใช้ลูกพันธุ์ กุ้งขาวระหว่าง 30,000 - 80,000 ตัวต่อไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงส่วนใหญ่อยู่ในเขตชลประทานซึ่งมีน้ำเพียงพอ มีการตีน้ำเพื่อเติมอากาศน้อยกว่าการเลี้ยงแบบหนาแน่น อีกทั้งปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อยกว่า ในช่วงแล้งมีการปรับตัวโดยการหยุดเลี้ยงและพักบ่อเพื่อลดความเสี่ยง ด้านปัญหาน้ำท่วมจะพบในพื้นที่ลุ่มต่ำ ส่วนโรคกุ้งที่พบส่วนใหญ่เป็นโรคหัวเหลืองและขี้ขาว
ด้านความต้องการของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในการทำประกันภัยกุ้งขาว พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เห็นด้วยหากภาครัฐจะมีการดำเนินงานโครงการประกันภัยกุ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงแบบหนาแน่นในพื้นที่น้ำเค็ม ซึ่งประสบปัญหาโรคกุ้งเป็นประจำทุกปี โดยรูปแบบในการทำประกันภัย ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการประกันภัยในช่วงระยะเวลาการเลี้ยงในช่วง 1-45 วันแรก เนื่องจากหากกุ้งประสบปัญหาโรค ต้องกำจัดทิ้งทั้งบ่อ และเป็นช่วงเวลาที่กุ้งยังไม่สามารถจำหน่ายได้ โดยวงเงินประกัน เกษตรกรมีความเห็นว่า อย่างน้อยควรมีการชดเชยต้นทุนค่าลูกพันธุ์กุ้ง และภายหลังหลังจากการเพาะเลี้ยง 45 วัน วงเงินประกันควรแตกต่างกันไปตามระยะเวลาการเลี้ยง เนื่องจากต้นทุนที่มากขึ้น อีกทั้ง ต้องมีระบบการตรวจสอบความเสียหายที่ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วทันการณ์ในกรณีการเกิดโรค เพราะเกษตรกรต้องจับกุ้งจำหน่ายทันที ดังนั้น วงเงินเอาประกันควรชดเชยค่าเสียโอกาสที่จะต้องจับกุ้งจำหน่ายก่อนกำหนดด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเพาะเลี้ยงกุ้งมีความเสี่ยงสูง เพราะเป็นสินค้าที่อยู่ในน้ำไม่สามารถมองเห็นได้ง่ายเหมือนการเพาะปลูกพืช และเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง การดำเนินการด้านประกันภัยจึงต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วนและครอบคลุม
ทั้งนี้ การศึกษาแนวทางการพัฒนาการประกันภัยกุ้งขาวแวนนาไม สศก. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งขาว และการประชุมหารือระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยผลการศึกษาจะนำเสนอในการสัมมนาวิชาการ ประมาณเดือนสิงหาคม 2562 เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และนำเสนอผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณากำหนดนโยบายการประกันภัยกุ้งเพาะเลี้ยงต่อไป
Click Donate Support Web