- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 04 April 2019 20:10
- Hits: 2730
โครงการ 'เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน'สู่ปีที่ 4 คู่คิดเกษตรกรปลูกข้าวโพดยั่งยืน มีรายได้มั่นคง ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม
บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) หรือ BKP ผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เดินหน้าสานต่อ โครงการ 'เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน' สู่ปีที่ 4 ขึ้น เพื่อร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีรายได้เพิ่มขึ้น และผลิตถูกต้องไม่บุกรุกป่า และไม่เผาซังข้าวโพด ตอบรับนโยบายการรับซื้อข้าวโพดจากพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่เผาซัง ร่วมแก้ปัญหาปลูกข้าวโพดทำลายป่าและหมอกควัน
นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ตามที่ บริษัทฯ ได้ประกาศนโยบายการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีระบบตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งปลูกที่ถูกต้องมีเอกสารสิทธิ์ และไม่บุกรุกพื้นที่ป่า หรือเรียกว่า “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” ควบคู่ไปกับการดำเนินการโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” มาตั้งแต่ปี 2557 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานปฏิรูปที่ดินการเกษตร (สปก.) กรมส่งเสริมการเกษตร ผู้นำชุมชน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในการปลูกข้าวโพดให้เกษตรกรในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ สามารถทำการเพาะปลูกอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้ผลผลิตข้าวโพดเพิ่มขึ้น มีคุณภาพ ลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับสภาพดิน ตลอดจนใช้วิธีการปลูกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การไม่เผาซังข้าวโพด ไม่บุกรุกพื้นที่ป่า รองรับนโยบายการจัดหาวัตถุดิบยั่งยืนของซีพีเอฟ บนพื้นฐานตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปลูกมาจากพื้นที่ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ บริษัทฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานราชการในท้องถิ่น คู่ค้าธุรกิจ และเกษตรกรเครือข่าย จัดอบรมให้ความรู้เกษตรกรอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ระหว่างปี 2557-2561 รวมกว่า 8,700 ราย ครอบคลุมพื้นที่ปลูก 225,700 ไร่ในพื้นที่รวม 25 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ นครราชสีมา เลย สระบุรี พะเยา พิษณุโลก ลำปาง อุตรดิตถ์ เป็นต้น
“ในปีนี้ โครงการฯ มีแผนที่จะอบรมเกษตรกรในพื้นที่ใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้ดำเนินโครงการ เพื่อพัฒนาเกษตรกรเพิ่มขึ้นอย่างน้อยกว่า 1,000 ราย และส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต้องลดลง ตลอดจนส่งเสริมการจัดการแปลงเพาะปลูกแบบแปลงใหญ่”นายวรพจน์กล่าว
นายคง อำภา เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หมู่บ้านห้วยหมาก ต.ผานกเค้า อ.ภูกระดึง จ.เลย กล่าวว่า คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ยึดอาชีพปลูกพืชไร่ ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก่อนหน้านี้ มักถูกกดราคารับซื้อผลผลิต ทำให้มีรายได้น้อย ตั้งแต่มาร่วมโครงการฯ ในปี 2560 ได้เรียนรู้วิธีปลูกข้าวโพดให้ได้ผลผลิตสูง รู้จักวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน ทำให้รู้ว่าพื้นที่ของตัวเองขาดแร่ฟอสฟอรัส ช่วยประหยัดต้นทุนซื้อปุ๋ย แม้ว่าผลผลิตในปีที่แล้วเก็บเกี่ยวได้ไม่เต็มที่ตามที่คาดเพราะเจอฝนขาดช่วง แต่ได้เรียนรู้จากการเก็บข้อมูลฝนว่าจะต้องมีการปรับเลื่อนเวลาการปลูกให้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับเทศบาลตำบลบัลลังก์ และสำนักงานเกษตรอำเภอโนนไทย จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้ โครงการ 'บัลลังก์โมเดล'ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มปลูกข้าวโพดและบริหารจัดการแบบแปลงใหญ่ นำความรู้และเทคนิคการปลูกสมัยใหม่เข้ามาช่วยพัฒนาการปลูกข้าวโพด เพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพตรงตามที่ตลาดต้องการ และช่วย อำนวยความสะดวกให้เกษตรกรในการขายผลผลิตตรงสู่โรงงานอาหารสัตว์ จ่ายเงินรวดเร็วภายใน 1 วัน ซึ่งในปีที่ผ่านมา เกษตรกรสามารถส่งผลผลิตเข้าสู่โรงงานได้ถึง 20,429 ตัน
ปัจจุบัน เกษตรกรในเทศบาลตำบลบัลลังก์เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นเป็น 740 รายจาก 340 รายในปีแรก ครอบคลุมพื้นที่การปลูกรวม 30,000 ไร่ และความสำเร็จที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่อื่น อาทิ อำเภอด่านขุนทด อำเภอพระทองคำ อำเภอขามสะแกแสง นำรูปแบบของเทศบาลตำบลบัลลังก์ไปปรับใช้ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีรายได้ที่มั่นคง ได้กว้างขวางขึ้น
“เกษตรกรมีความรู้ในผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร และเป็นไปตามนโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ การรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของซีพีเอฟ ที่ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงพื้นที่ปลูกยืนยันว่าไม่ได้มาจากการบุกรุกป่าได้ 100% หรือ “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” ช่วยให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ทั้งตัวเกษตรกร สิ่งแวดล้อม ชุมชนและบริษัท” นายวรพจน์กล่าว
Click Donate Support Web