- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 19 May 2014 17:13
- Hits: 3650
เกษตรฯ รุก 6 จังหวัดโดดเด่นนำร่อง ดันพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตร ก้าวสู่การเป็นกรีนซิตี้ ปี 57
เกษตรฯ นำร่อง 6 จังหวัดเป้าหมาย ผลักดันโครงการเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agriculture City) ปี 57 ด้าน สศก. รุกพื้นที่ เปิดเวทีสัมมนาขับเคลื่อนโครงการ เพื่อสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในแต่ละพื้นที่ ชู 3 หัวใจสำคัญสู่การเป็นเมืองเกษตรสีเขียว คือ พัฒนาพื้นที่ สินค้า และคน อย่างบูรณาการครบทุกภาคส่วน
นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การขับเคลื่อนโครงการเมืองเกษตรสีเขียว ในวันที่ 15 มกราคม 2557 ณ โรงแรมเชียงใหม่ออคิด จังหวัดเชียงใหม่ ว่า จากที่กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดให้โครงการเมืองเกษตรสีเขียว (Green Agriculture City) เป็นโครงการสำคัญ (Flagship Project) ของกระทรวงเกษตรฯ ที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) ของรัฐบาล ซึ่งเน้นให้ความสำคัญกับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่การผลิตและการบริโภค และมีการคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายจากจังหวัดที่มีศักยภาพและมีความโดดเด่นในการผลิตสินค้าเกษตรเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง รวม 6จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ หนองคาย ศรีสะเกษ จันทบุรี พัทลุง และราชบุรี เพื่อผลักดันให้เป็นเมืองเกษตรสีเขียว และพัฒนาเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดย สศก. ได้กำหนดจัดการสัมมนาดังกล่าวขึ้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนารับทราบถึงนโยบาย การขับเคลื่อนโครงการเมืองเกษตรสีเขียว และรับฟังการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานปีงบประมาณ 2557 จากเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ทั้งส่วนกลางและจังหวัด พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจังหวัด นักวิชาการ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งเกษตรกร และผู้ประกอบการในพื้นที่เข้าร่วม
สำหรับการจัดสัมมนานั้น ได้กำหนดจัดในพื้นที่ 6 จังหวัดเป้าหมายนำร่อง ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งจังหวัดจะต้องร่วมกันกำหนดพื้นที่ที่จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียว โดยอาจจะมีขอบเขตระดับอำเภอหรือระดับตำบลก็ได้ตามแต่ศักยภาพที่สามารถจะขับเคลื่อนให้เป็นพื้นที่สีเขียวอย่างเป็นรูปธรรมเต็มพื้นที่ และจะต้องประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้มีกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) ให้ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างในสินค้าเกษตรทั้งพื้นที่ การผลิตและแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตรในพื้นที่มีการใช้เทคโนโลยีสะอาดในการผลิตสู่เศรษฐกิจการเกษตรสีเขียว (Green and Cool Agricultural Economy) เช่น การนำของเหลือจากกระบวนการผลิตมาผลิตเป็นพลังงานชีวมวล หรือไบโอแมส (Biomass) และการลดของเสียในกระบวนการผลิตให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) รวมถึงกำกับดูแลโรงงานการผลิตและแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตร (GMP) โดยมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือกับจังหวัดและภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนคำนึงความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้ศักยภาพจากการเป็นสินค้าเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Agriculture Ecoproducts)
อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของการพัฒนาเมืองเกษตรสีเขียวมีอยู่ 3 ประการด้วยกัน ประการแรก คือ การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ปราศจากมลพิษรบกวน มีการจัดการของเสียอย่างเป็นระบบ ประการที่สอง คือการพัฒนาตัวสินค้าให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย ไม่มีสารพิษตกค้าง มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต และประการสุดท้าย คือการพัฒนาคน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายสินค้าที่มีคุณภาพ สามารถทำการผลิต และอาศัยอยู่ในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ จะเน้นผลิต ระดับต้นน้ำให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ส่วนระดับกลางน้ำ และปลายน้ำ ได้แก่ การแปรรูป การกำจัดของเสียโดยนำไปเป็นพลังงานทดแทน ดำเนินการให้เกิดร้าน Q Shop, Q restaurant รวมทั้งการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งต้องอาศัยการบูรณาการจากภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องร่วมกัน และที่สำคัญ คือ เกษตรกรจะต้องมีความเข้าใจ และร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งคาดว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความรู้ความเข้าใจกรอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานโครงการเมืองเกษตรสีเขียว ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาโครงการฯ โดยมุ่งหวังให้จังหวัดเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการในระดับพื้นที่ เพื่อผลักดันให้เกิดเมืองเกษตรสีเขียวนำร่องอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป เลขาธิการ กล่าวในที่สุด
ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ข้อมูล : สำนักนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร