- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 10 March 2019 12:57
- Hits: 7359
กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้ารับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ปล่อยคาราวานเครื่องจักร เครื่องมือเตรียมช่วยเหลือในพื้นที่ พร้อมบูรณาการด้านข้อมูลน้ำอย่างเป็นระบบ
กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้ารับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ปล่อยคาราวานเครื่องจักร เครื่องมือเตรียมช่วยเหลือในพื้นที่ พร้อมบูรณาการด้านข้อมูลน้ำอย่างเป็นระบบ หวังบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรและประชาชน
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมการรับมือภัยแล้ง และพิธีปล่อยขบวนคาราวานเครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้ง ณ บริเวณสนามฟุตบอล (น้ำแก้จน) กรมชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ว่า ตามที่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ที่เกี่ยวข้องมีความตื่นตัว ตระหนัก และเตรียมพร้อมในการรับมือสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง โดยมอบหมายให้กรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำฐานข้อมูลปริมาณน้ำทั้งประเทศ ความต้องการใช้น้ำ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานอย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นรายพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง
และกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ ทั้งในการเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ เครื่องจักรในการช่วยเหลือหากประสบภาวะขาดแคลนน้ำ รวมทั้งการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการประชุมในวันนี้ได้มีการรายงานผลการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2561/62 (1 พ.ย. 61-7 มี.ค. 62) มีปริมาณน้ำเก็บกักทั้งประเทศ แบ่งเป็น 1) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 47,141 ล้าน ลบ.ม. นำมาใช้ได้ 23,599 ล้าน ลบ.ม. 2) อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บ 2,696 ล้าน ลบ.ม. นำมาใช้ได้ 2,310 ล้าน ลบ.ม. และ 3) ปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำอื่น ๆ นำมาใช้ได้ 1,138 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศ 27,047 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้
"วันนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ปล่อยคาราวานเครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ ลงไปในพื้นที่เสี่ยงที่จะประสบภัยแล้ง ตามนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ เข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของเกษตรกรและประชาชน อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เน้นย้ำและกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำให้ตลอดรอดฝั่งในช่วงแล้งนี้ ซึ่งได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 และจากการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจึงได้มีการเตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร ลงไปในพื้นที่เพื่อบรรเทาภัยแล้งในเบื้องต้น รวมทั้งมีแผนการติดตามสถานการณ์และรายงานผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รับทราบในทุกวันจันทร์อีกด้วย"ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าว
ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นการปล่อยขบวนคาราวานเครื่องมือ เครื่องจักร อาทิเช่น รถบรรทุกน้ำและเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกลอื่น ๆ จากสำนักเครื่องจักรกลส่วนกลาง เข้าสนับสนุนพื้นที่เพิ่มเติม โดยจัดส่งเครื่องสูบน้ำจำนวน 1,935 เครื่อง รถสูบน้ำจำนวน 258 คัน เครื่องผลักดันน้ำจำนวน 527 เครื่อง รถขุดจำนวน 499 คัน เรือขุดจำนวน 69 ลำ รถบรรทุกจำนวน 511 คัน รถบรรทุกน้ำจำนวน 106 คัน รถแทรกเตอร์จำนวน 565 คัน เครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ อีก 373 เครื่อง และสะพานเหล็กแบบถอดประกอบได้ยาว 44 เมตร จำนวน 7 อัน พร้อมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตามพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น.
รวมพลังทุกส่วน ไม่ซื้อไม่ขายสินค้าเกษตรด้อยคุณภาพภาคตะวันออก พร้อมกำชับทุกพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือฤดูกาลผลไม้
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU)รวมพลังไม่ซื้อไม่ขายสินค้าเกษตรด้อยคุณภาพภาคตะวันออก และงานประชาสัมพันธ์ผลไม้คุณภาพดีเอกลักษณ์ภาคตะวันออก ปี 2562 ณ จังหวัดจันทบุรี ว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 2562 เป็นแห่งการผลิตผลไม้คุณภาพ ใช้การตลาดนำการผลิต พร้อมประกาศคุมเข้มทุเรียนโดยมุ่งเน้นการวางแผนแบบครบวงจร จึงได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแผงค้าริมทางตลาดเนินสูง เพื่อพบปะเกษตรกรที่ได้นำผลผลิตมาจำหน่าย อีกทั้งยังได้เป็นสักขีพยานในการลงนามรวมพลังไม่ซื้อไม่ขายสินค้าเกษตรด้อยคุณภาพภาคตะวันออกที่ทาง จ.จันทบุรี จัดขึ้น จำนวน 3 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 1 เกษตรกร ผู้ประกอบการส่งออก ร้านค้าปลีก ผู้นำท้องถิ่น/ท้องที่ ชุดที่ 2 เกษตรกรแปลงใหญ่ กับ Modern Trade (Tops) และชุดที่ 3 ผู้แทนเครือข่ายสหกรณ์ในจันทบุรี กับ Modern Trade (Makro) นอกจากนี้ ยังได้เป็นสักขีพยานการลงนามของ จ.ตราด และ จ.ระยอง ด้วย
นากกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรฯ มุ่งดำเนินการตามแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 2562 ให้มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการผลผลิตให้มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐาน มีการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้มีอำนาจการต่อรองที่เพิ่มขึ้น และมีการปลูกพืชชนิดอื่นทดแทนหรือเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงในการทำเกษตร
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตผลไม้ในภาคตะวันออกปี 2562 จะมีผลผลิตรวม ทั้ง 4 ชนิด ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ประมาณ 911,434 ตัน โดยผลผลิตจะออกมากช่วงกลางเดือนเมษายน ต่อเนื่องถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งผลผลิตภาพรวมของทั้ง 4 ชนิดจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาทุกชนิด คือ ทุเรียน จำนวน 511,872 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 403,906 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.73 เงาะ จำนวน 194,513 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 173,224 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.29 มังคุด จำนวน 181,390 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 73,576 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 146.53 และลองกอง จำนวน 23,659 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 16,319 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.98 ส่วนผลไม้ภาคเหนือ คือ ลิ้นจี่ จำนวน 41,473 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 41,220 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.61 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนที่เกิดภาวะแล้ง ปีนี้สภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้ต้นไม้ผลมีเวลาพักสะสมอาหารนาน ผลผลิตจะออกมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงได้กำชับให้มีการคัดคุณภาพและบรรจุสินค้าผลไม้ 4 สินค้า ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลำไย ส่งให้กับผู้ประกอบการเอกชนในปริมาณรวมไม่น้อยกว่า 3,000 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 300 ล้านบาท และยังเชิญชวนให้บริโภคผลไม้ไทยมากยิ่งขึ้นด้วย
ด้าน นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้เห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง) และแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลิ้นจี่) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักในการบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ ปี 2562 ให้เป็นไปตามกลไกของตลาดปกติ เน้นการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ 3 ระยะ ตั้งแต่ระยะก่อนเก็บเกี่ยว โดยส่งเสริมการผลิตให้ได้คุณภาพตาม
มาตรฐาน GAP รวมกลุ่มแปลงใหญ่ และเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า ระยะเก็บเกี่ยว แนะนำเก็บเกี่ยวระยะเหมาะสม ป้องปรามผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ส่งเสริมการจำหน่ายผลไม้คุณภาพ และระยะหลังเก็บเกี่ยว ให้คำแนะนำการเตรียมความพร้อมของต้นสำหรับฤดูต่อไป ส่วนการจัดการเชิงปริมาณ ก่อนเก็บเกี่ยว ให้สำรวจและจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต ระยะเก็บเกี่ยว ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และบริโภคผลไม้ตามฤดูกาล และหลังเก็บเกี่ยว ส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลไม้ พร้อมติดตามสถานการณ์ ประเมินผล เพื่อปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ปีต่อไป โดยในช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) เกษตรกรต้องสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต และราคาเฉลี่ยของผลผลิตตลอดฤดูกาลมีราคาสูงกว่าต้นทุนการผลิตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30
สำหรับ ผลผลิตทุเรียนได้ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารผลไม้ เพื่อเตรียมการบริหารจัดการทุเรียน โดยกำหนดไว้ 2 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ภายในปี 2562 เน้นการควบคุมคุณภาพเป็นหลัก เนื่องจากขณะนี้ใกล้ถึงฤดูกาลผลิตทุเรียน จะต้องให้เกษตรกรผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน GAP นอกจากนี้ ยังคุมเข้มเรื่องทุเรียนอ่อนให้เข้มงวดมากขึ้น โดยกรมวิชาการเกษตรจะตั้งด่านสกัด เพื่อป้องกันทุเรียนอ่อนออกนอกแหล่งผลิต และในระยะยาว (ปี 2562 - 2566) ในด้านการผลิตจะเน้นการลดต้นทุน พัฒนาและขยายการผลิตนอกฤดู รวมทั้งการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรเข้มแข็งสอดคล้องกับเกษตรแปลงใหญ่ มีมาตรการบังคับให้ผลิตตามเขตพื้นที่ความเหมาะสมเป็นหลัก และควบคุมคุณภาพทั้งในและนอกฤดู
กลุ่มโฆษกและวิเคราะห์ข่าว กองเกษตรสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทร 02-2810859 แฟกซ์ 02-2822871 [email protected] www.moac.go.th www.facebook.com/kasetthai
Click Donate Support Web