- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 25 September 2014 17:30
- Hits: 2363
ผลกระทบของแรงงานต่างด้าวที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตรไทย
ดร.ภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.กัมปนาท เพ็ญสุภา รองคณบดีฝ่ายวิจัย ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยร่วมกันว่า จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรของไทย ที่แรงงานภาคเกษตรที่มีอยู่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) เพิ่มขึ้น ประกอบกับแรงงานภาคการเกษตรวัยหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งเกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช ค่าจ้างแรงงาน จึงเป็นเหตุผลนำมาซึ่งต้องมีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตและทดแทนแรงงานของไทย ทำให้ประสบปัญหาในการจัดการแรงงานภาคการเกษตร โดยเฉพาะการจัดการแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามฤดูกาลและมาเช้าเย็นกลับยังไม่สามารถกำหนดเป็นกฎกระทรวงได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้การใช้แรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรเป็นแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายหรือไม่ได้จดทะเบียนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้มีการลักลอบเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน การเดินทางเข้าออกสามารถทำได้ง่าย
ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) ได้ติดตามถึงสถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตรไทย พบว่า สถานการณ์แรงงานต่างด้าว ณ เดือนสิงหาคม 2557 คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงาน ทั่วราชอาณาจักร มีจำนวนทั้งสิ้น 1.56 ล้านคน จำแนกตามลักษณะการเข้าเมืองได้ 2 ประเภท ดังนี้
1) แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมาย 1.54 ล้านคน
2) แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย (แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฏหมาย หมายถึง ชนกลุ่มน้อยตามตะเข็บชายแดนที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานชั่วคราวมาเช้า-เย็นกลับ) 0.02 ล้านคน รายละเอียดดังตารางที่ 1 โดยจำนวนแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมายคิดเป็นร้อยละ 98 ของจำนวนแรงงานต่างด้าวทั้งหมด
ตารางที่ 1 จำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2557
ประเภท จำนวน(คน)
เข้าเมืองถูกกฎหมาย 1,541,343
เข้าเมืองผิดกฎหมาย 20,776
รวม 1,562,119
ที่มา : http://wp.doe.go.th/wp/images/statistic/sm/57/sm0857.pdf
: สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว, สิงหาคม 2557
อย่างไรก็ตาม เพื่อนำไปสู่การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในประเทศ และการสร้างมาตรฐานในการทำงานของแรงงานต่างด้าวที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและนายจ้างซึ่งประกอบกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นอย่างมาก และเพื่อขจัดการบังคับใช้แรงงานหรือการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานต่างด้าว เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 70/2557 เรื่องมาตรการชั่วคราวในการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ ได้มีประกาศตั้งศูนย์ขึ้นทะเบียนพร้อมออกใบอนุญาตเข้าเมืองและการทำงานให้แรงงานต่างด้าวสำหรับแรงงานของประเทศ กัมพูชา เมียนมาร์และลาว โดยปัจจุบันได้ขยายระยะเวลาทำการศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One Stop Service: OSS) ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2557
สรุปยอดรวมการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ณ ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียวทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน-22 กันยายน 2557 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.08 ล้านคน รายละเอียดดังตารางที่ 2 โดยประเภทกิจการที่จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กิจการก่อสร้าง เกษตรและปศุสัตว์ การให้บริการต่างๆ รายละเอียดดังตารางที่ 3 ที่มีการจดทะเบียนสาขากิจการก่อสร้างมากที่สุด รองลงมาคือ เกษตรและปศุสัตว์ และ การให้บริการต่างๆ ตามลำดับ
ตารางที่ 2 สรุปยอดรวมจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว พ.ศ. 2557
ประเทศ จำนวนแรงงานต่างด้าว(คน)
กัมพูชา 480,729
เมียนมาร์ 434,126
ลาว 171,894
รวม 1,086,749
ที่มา : สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว; อ้างอิงจากฐานข้อมูลสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
ตารางที่ 3 ประเภทกิจการที่จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวมากที่สุด 3 อันดับแรก พ.ศ. 2557
ลำดับที่ ประเภท จำนวนแรงงานต่างด้าว(คน)
1 กิจการก่อสร้าง 327,151
2 เกษตรและปศุสัตว์ 158,157
3 การให้บริการต่างๆ 91,931
4 งานประเภทอื่นๆ 509,510
รวม 1,086,749
ที่มา : สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว; อ้างอิงจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น คาดว่า ผู้ประกอบการและนายจ้างมีความต้องการแรงงานต่างด้าวอีกเป็นจำนวน 1.08 ล้านคน จากเดิมที่มีอยู่ 1.56ล้านคน ดังนั้น ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร จึงได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของแรงงานต่างด้าวที่ลงทะเบียนเพิ่มเติมซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักร โดยการคำนวณผลกระทบจากแรงงานต่างด้าวจำนวน 1.08 ล้านคนที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตรไทยอย่างไรและมากน้อย เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาหาแนวทางบริหารจัดการแรงงานภาคการเกษตรของไทยและต่างด้าวให้เพียงพอต่อความต้องการแรงงานภาคเกษตร เกิดประสิทธิภาพและความสมดุลทางด้านแรงงานตามมา
ผลกระทบจากแรงงานต่างด้าวที่มีต่อเศรษฐกิจไทย
ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ว่า หากมีแรงงานต่างด้าวเพิ่มเข้ามาในภาคการผลิตจะส่งผลกระทบทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิต มูลค่ารวม 252,810.21 ล้านบาท โดยภาคเกษตรกรรม มีมูลค่า 27,233.71 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.77 ของภาคการผลิตทั้งหมด ทั้งนี้ ภาคปศุสัตว์ได้รับผลกระทบมากที่สุด มูลค่า 3,448.67 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ผักและผลไม้ อ้อย และข้าว ตามลำดับ รายละเอียดดังตารางที่ 4
ตารางที่ 4 ผลกระทบจำนวนแรงงานต่างด้าวที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตรไทย รายสาขา
สาขาการผลิต มูลค่าเพิ่มการผลิต (ล้านบาท)
ข้าว 2,931.65
ข้าวโพด 2,335.42
มันสำปะหลัง 1,946.10
ถั่วและพืชตระกูลถั่ว 1,877.23
ผักและผลไม้ 3,350.19
อ้อย 2,955.96
ยางพารา 1,781.64
พืชอื่นๆ 2,458.07
ปศุสัตว์ 3,448.67
ป่าไม้ 1,361.67
ประมง 2,787.11
เกษตรกรรม (ร้อยละ 10.77)
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--